พาราสาวะถี
หากไม่เห็นว่าเป็นแรงกระเพื่อม มีผลกระทบต่อรัฐบาล วิษณุ เครืองาม คงไม่เรียกประชุมตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือก.พ. สำนักงานกรรมการพัฒนาระบบราชการหรือก.พ.ร.และตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาปมพยาบาลวิชาชีพขู่จะพร้อมใจกันลาออกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ จากความไม่พอใจที่ครม.ตีตกข้อเสนอขอบรรจุให้เป็นข้าราชการจำนวน 10,992 อัตรา
อรชุน
หากไม่เห็นว่าเป็นแรงกระเพื่อม มีผลกระทบต่อรัฐบาล วิษณุ เครืองาม คงไม่เรียกประชุมตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือก.พ. สำนักงานกรรมการพัฒนาระบบราชการหรือก.พ.ร.และตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาปมพยาบาลวิชาชีพขู่จะพร้อมใจกันลาออกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ จากความไม่พอใจที่ครม.ตีตกข้อเสนอขอบรรจุให้เป็นข้าราชการจำนวน 10,992 อัตรา
แม้ว่าวิษณุจะอธิบายเหตุผลของการปฏิเสธของครม.เป็นเพราะกระทรวงสาธารณสุขมีอัตราว่างกว่า 1 หมื่นอัตรา ซึ่งอาจจะไม่ใช่อัตราพยาบาลทั้งหมด แต่ตรงนั้นสามารถแปลงมาใช้ก่อนได้ โดยให้บรรจุตำแหน่งให้หมดก่อนแล้วมาขออนุมัติใหม่ แต่ปรากฏว่าว่างหมื่นกว่าตำแหน่ง กระทรวงสาธารณสุขจะเก็บเอาไว้บรรจุให้คนอื่นแล้วมาขอเพิ่มอีก 1 หมื่นอัตรา ซึ่งในระบบราชการถือว่าไม่ถูกต้อง ฟังดูมีเหตุผล
แต่จะเป็นที่พอใจของฝ่ายที่เรียกร้องหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่อง เนื่องจากพยาบาลเหล่านั้นตั้งตารอมานานก่อนที่จะมีการรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่เพิ่งมาก่อหวอดในช่วงรัฐบาลรัฐประหารแต่อย่างใด ความไม่พอใจที่ยังคุกรุ่น สะท้อนผ่านความเคลื่อนไหวที่ปรากฏชัดในโลกออนไลน์และการให้สัมภาษณ์ของคนที่เป็นแกนนำ
โดยพบว่า ขณะนี้เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว อยู่ระหว่างการเตรียมรวบรวมรายชื่อยื่นต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอความเห็นใจให้เปลี่ยนแปลงมติครม. เพราะตำแหน่งที่ขอเป็นอัตราที่ไม่ได้มาก เมื่อเทียบกับจำนวนพยาบาลและประชาชนที่เข้ารับบริการ เนื่องจากภาระงานของพยาบาลทุกวันนี้ถือว่ามากมายขึ้นจริงๆ
ส่วนกรณีที่ก.พ.ระบุว่า ไทยมีสัดส่วนพยาบาลสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 1.4 คน ตัวเลขดังกล่าวเป็นการรวมทั้งประเทศ กล่าวคือ เป็นพยาบาลภาครัฐและเอกชน คิดสัดส่วนที่พยาบาล 1 คนต่อคนไข้ 400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน แต่จริงๆ ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งปัจจุบันดูแลคนไข้จำนวนมาก สัดส่วนพยาบาล 1 คนต่อคนไข้ 600 คน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้มีการอธิบายในรายละเอียดของงานที่ต้องทำแต่ละวัน ซึ่งมีการตัดพ้อว่า หลายคนไม่เข้าใจในวิชาชีพพยาบาล ที่พบว่าทำงานหนักมากใน 1 วัน พยาบาลทำงานกันถึง 16 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ โดยแต่ละเดือนทำงานวันละ 16 ชั่วโมง เป็นเวลา 20-25 วัน นอกจากนั้นก็ทำงานตามปกติ จะมีวันหยุดได้เดือนละ 2 วัน
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่เป็นความน้อยใจซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านออกมาก็คือ คนเหล่านี้ทราบดีว่าการทำงานในโรงพยาบาลของรัฐจะได้รับค่าตอบแทนหรือรายได้ไม่มากเท่าเอกชน แต่ก็มีความหวัง อย่างนักเรียนทุนเมื่อมาทำงานต้องใช้ทุน 4 ปี ก็มีความหวังว่าจะบรรจุเป็นข้าราชการ แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายคนดูแล้วไม่มีความหวัง
เมื่อไร้ความหวังและมองไม่เห็นโอกาสที่จะได้รับความมั่นคงในอาชีพ พยาบาลจำนวนไม่น้อยจึงยอมที่จะควักเงินจ่ายคืนทุนก่อนจะใช้ทุนครบ 4 ปี แม้ว่าการใช้ทุนคืนก่อนกำหนดจะต้องจ่ายเป็นคูณสองตามสัญญาที่ผูกมัดไว้ แต่หลายคนก็ยอมที่จะเลือกเป็นหนี้เพิ่ม เพราะการจบมาใหม่ไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนแค่ 1-2 ปีก็ได้เงินคืนแล้ว
ส่วนที่มีความพยายามจะยัดเยียดว่ากลุ่มพยาบาลที่ออกมาเคลื่อนไหวใช้ประชาชนหรือคนไข้เป็นตัวประกันนั้น ได้ฟังคำชี้แจงของเหล่าพยาบาลแล้วก็น่าเห็นใจ เป็นเรื่องขวัญกำลังใจของคนเหล่านั้น ที่แต่ละคนต้องการความมั่นคงในวิชาชีพ ต้องการเป็นข้าราชการ ซึ่งการลาออกก็เป็นสิทธิของแต่ละคนที่ทำได้ อย่าลืมว่าอยู่โรงพยาบาลรัฐเงินก็น้อยอยู่แล้ว แค่ต้องการขวัญและกำลังใจในความก้าวหน้าของวิชาชีพเท่านั้น ทำไมฝ่ายบริหารถึงให้ไม่ได้
ไม่เพียงเท่านั้น นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องแล้ว ยังมีการประชดประชันและดูเหมือนว่าจะเป็นการทิ่มหมัดกระแทกเข้ากล่องดวงใจของรัฐบาลคสช.แบบตรงๆ เมื่อคลิปของพยาบาลหนุ่มเล่นกีตาร์ร้องเพลงเสียดสีที่รัฐที่ไม่อนุมัติเพิ่มตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ โดยแปลงมาจากเพลงดังเวลานี้อย่างคำแพง ในทำนองว่า รัฐไม่เห็นความสำคัญฟังเสียงลูกจ้างชั่วคราว
แทนที่จะสนใจเรื่องสาธารณสุขและความเป็นอยู่ของบรรดาลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานหนัก แต่กลับคิดได้แต่เรื่องซื้อเรือดำน้ำมาดักปลาวาฬ ซึ่งมันไม่ใช่ อีกทั้งมีคนป่วยเป็นจำนวนมาก จึงขอให้รัฐรีบตัดสินใจอนุมัติเพิ่มตำแหน่ง หากไม่รีบอนุมัติจะลาออก จุดนี้ไม่เพียงแต่สร้างกระแสในกลุ่มคนวิชาชีพเดียวกันเท่านั้น หากแต่ยังจะไปกระตุกกระตุ้นคนกลุ่มอาชีพอื่นที่เดือดร้อนทำให้เกิดความรู้สึกที่รัฐบาลคสช.ถูกตั้งคำถามก่อนหน้านี้ เรือดำน้ำมันกระตุ้นเศรษฐกิจตรงไหนและทำไมต้องซื้อให้ได้ในภาวะเช่นนี้
ปุจฉาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เชื่อแน่ว่าบิ๊กตู่และคณะน่าจะเชื่อมั่นและคิดไว้ว่าจะใช้เวทีแถลงผลงานครบรอบ 3 ปีของรัฐบาลอธิบายเรื่องราวทั้งหมด แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นกลับเกิดคำถามที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด ผลโพลของสวนดุสิต ประชาชนส่วนใหญ่อยากฟังรัฐบาลพูดถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน พร้อมกับอยากให้รัฐบาลเน้นแก้ปัญหาปากท้อง ความเดือดร้อนของประชาชนในการก้าวสู่ปีที่ 4 ของการทำงานมากที่สุด
นี่อาจเป็นตัวชี้วัดอีกประการหนึ่งว่าเศรษฐกิจมีปัญหาขนาดไหน เหมือนที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ช่วยสะท้อนวันก่อน ทิศทางการเงินของโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินสกุลหลักของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นกระจกส่องที่ดีว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่รอบบ้านเราโดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ได้แก่ เขมร ลาว เมียนมาและเวียดนาม มีอัตราการขยายตัวดีกว่าไทยที่อัตราการขยายตัวต่ำ
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นั่นก็คือ ความไม่มั่นใจที่กำลังเป็นอยู่ เราจึงยังต้องระวังตัวเองต่อไป และต้องประคับประคองในช่วงเวลานี้จนกว่าทิศทางการเมืองจะชัดเจนจนสร้างความพอใจให้กับนักธุรกิจโดยเฉพาะนักธุรกิจต่างประเทศ นี่แหละปัจจัยหลักที่รัฐบาลรัฐประหารไม่อาจสลัดหลุดได้ เที่ยวบอกใครต่อใครว่าต่างชาติอ้าแขนต้อนรับ แต่ของจริงสัมผัสและรับรู้กันได้ว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่