เล่นเป็นรายตัว
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลงมาติดต่อกันแล้ว 6 วันทำการ
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลงมาติดต่อกันแล้ว 6 วันทำการ
หากใครดูเส้นกราฟจะเห็นว่าหัวทิ่มเลย
6 วันก่อนหน้า ดัชนียังอยู่ที่ 1,573 จุด แต่มาวันนี้ลงมาอยู่ที่ 1,737 จุด
นักลงทุนต่างพากันส่ายหน้าทั้งรายใหญ่ และรายย่อย
ส่วนตัวนั้น พยายามหาคำตอบมาเหมือนกัน เพราะสงสัยว่า ตลาดหุ้นเพื่อนบ้านเขาปรับขึ้น แต่ของเรากลับลง
นักวิเคราะห์หาส่วนใหญ่บอกว่า มาจากนักลงทุน “ขาดความเชื่อมั่น”
ยิ่งโดยเฉพาะโครงการภาครัฐยังคลานเป็นเต่าแบบนี้ ชักเข้าชักออก ทำให้ความเชื่อมั่นหายไปเยอะ
วานนี้สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขจีดีพีออกมา
ไตรมาส 1/60 ขยายตัวกว่า 3.3%
มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ว่าจะอยู่ที่ 3.00-3.10%
ทว่าก็ยังคงไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้
ปิดตลาดดัชนีรูดลงมาต่อเนื่อง และมาปิดที่ 1,537 จุด นั่นแหละ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่จุดต่ำสุดของปี 2560
ในปีนี้ ดัชนีต่ำสุดอยู่ที่ 1,535 จุด เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์จากโบรกฯ บางสำนักให้แนวรับสำคัญรอบนี้ไว้ที่ระดับ 1,530 จุด
หากหลุดจากนี้ก็ตัวใครตัวมัน
ว่ากันว่า การปรับลงของดัชนีหุ้นไทยอีกเหตุผลมาจาก MSCI จะมีการทบทวนเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยในรอบครึ่งปีหลังของปี 2560 (มิ.ย.-ธ.ค.60)
และเช้าวันนี้ (16 พ.ค.) ก็น่าจะรับทราบกันไปแล้วว่าผลเป็นอย่างไร
ในแง่ของหุ้นที่จะเข้าคำนวณดัชนี MSCI เต็งจ๋ามาแต่ไกล ก็คือ TCAP หรือ บมจ.ทุนธนชาต
ส่วนที่ออกไปคือ BEC ที่วานนี้เพิ่งประกาศงบไตรมาส 1/60 ออกมาไม่สวยเท่าไหร่ มีกำไรเพียง 249 ล้านบาท จากปีก่อนที่เคยทำได้ถึง 573 ล้านบาท
มีข่าวออกมาว่า โอกาสถูกปรับลดน้ำหนักการลงทุนเป็นไปได้สูง
แต่นักวิเคราะห์บางคนก็ยังมองในด้านบวกว่า “น่าจะเป็นข่าวดี”
หรืออย่างน้อยก็อาจมีการปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นในบางกลุ่มเช่น พลังงาน ปิโตรเคมี รวมถึงกลุ่มด้านค้าปลีก
ส่วนหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เดิมนั้น ก็มีข่าวเช่นกันว่า อาจมีการปรับเพิ่มน้ำหนักในหุ้นบางตัว
แต่หลังจากวานนี้ 4 แบงก์ใหญ่นำร่อง ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก
การลดดอกเบี้ยเงินกู้ และไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก
นั่นอาจทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแคบลง และส่งผลต่องบในไตรมาส 2/60 และถัดๆ ไปของปีนี้
เว้นแต่นายแบงก์จะมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากตามมาในภายหลัง
วันนี้หุ้นแบงก์จึงอาจไม่ดีนัก และน่าจะมีแรงขายออกมาไว้ก่อน
ยิ่งแบงก์แห่งไหนมี NIM ต่ำๆ อยู่แล้ว น่าจะยิ่งมีปัญหา และมีโอกาสถูกขายออกมาอย่างหนักได้
แต่ความชัดเจนก็ต้องรอนักวิเคราะห์เขาดีดลูกคิดกันอีกครั้ง
อีกเรื่องที่นักลงทุนจับตาดูอยู่คือ ผลประกอบการของ บจ.ในงวดไตรมาส 1
หุ้นในยกลุ่มขนาดใหญ่ หรือบิ๊กแคป หลายๆ ตัวออกมาดี
แต่หุ้นขนาดกลางและเล็กหลายๆ ตัวก็ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดไว้มาก
ผลสุดท้ายแล้วก็ต้องมาดูภาพรวมกันว่า กำไรของ บจ.จะเติบโตเท่าไหร่กันแน่
ในภาวะตลาดแบบนี้ มีคำแนะนำจากนักวิเคราะห์ว่า การเลือกเล่นหุ้นเป็น “รายตัว” หรือตัวที่เรามองว่า มันเจ๋งจริงๆ ไม่ใช่ลงทุนไปตามกระแส
น่าจะเป็นหนทางที่ดีสุด