พาราสาวะถี
ไม่รู้ว่าคิดช้า คิดไม่ทันหรือความกดดันมันเยอะยังไงไม่ทราบ ครม.ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงตีตกวาระขอบรรจุตำแหน่งข้าราชการวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 10,992 อัตรา จนเกิดความเคลื่อนไหวเป็นกระแสต่อต้าน ถึงขั้นขู่จะลาออกกันเป็นแถว เพราะท้ายที่สุด ข้อเสนอใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบของครม.เมื่อวาน ก็ไม่ได้ต่างกัน
พาราสาวะถี : อรชุน
ไม่รู้ว่าคิดช้า คิดไม่ทันหรือความกดดันมันเยอะยังไงไม่ทราบ ครม.ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงตีตกวาระขอบรรจุตำแหน่งข้าราชการวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 10,992 อัตรา จนเกิดความเคลื่อนไหวเป็นกระแสต่อต้าน ถึงขั้นขู่จะลาออกกันเป็นแถว เพราะท้ายที่สุด ข้อเสนอใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบของครม.เมื่อวาน ก็ไม่ได้ต่างกัน
เดิมทีจำนวน 10,992 ตำแหน่งนั้น กระทรวงสาธารณสุขขอทยอยบรรจุภายในระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ของใหม่จะบรรจุในรอบแรกตามตำแหน่งที่ว่างของกระทรวงคุณหมอ 2,200 ตำแหน่ง ส่วนที่เหลือจะทยอยบรรจุภายในระยะเวลา 3 ปี อาจจะไม่เต็มจำนวนที่ขอมาแต่ก็หย่อนไปไม่มาก เชื่อว่าจะเป็นที่พอใจของพยาบาลทั้งประเทศ
ไม่ว่าจะเล่นแร่แปรธาตุ ดึงจังหวะกันอย่างไร แต่การปล่อยให้เกิดเป็นกระแสสร้างภาพลักษณ์ด้านลบของรัฐบาลไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน มิเช่นนั้น บิ๊กตู่คงไม่ปากคอสั่นชี้แจงก่อนการประชุมครม.ว่ายังไม่ได้ปฏิเสธ แค่ขอให้ทบทวนหรือหาวิธีการที่เหมาะสมในการจัดกำลังคนก็เท่านั้น พูดง่ายๆ แทนที่จะสั่งการภายในให้ตกผลึกก่อนเสนอ แต่กลับเลือกที่จะตีตกไปก่อนแล้วกลายเป็นกระเพื่อม เลยต้องตกอยู่ในภาวะเสียหน้า เสียฟอร์มกันยกใหญ่
ช่างพอเหมาะพอเจาะกันเสียเหลือเกิน จังหวะที่สปท.ด้านสื่อสารมวลชนที่มีประธานคือ พลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร ผู้ชงกฎหมายควบคุมสื่อที่ตกเป็นขี้ปากไปก่อนหน้า ได้เสนอรายงานผลการศึกษาและข้อสังเกตร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้ที่ประชุมสปท.รับทราบเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
เป็นช่วงจังหวะเวลาที่กำลังเกิดการระบาดของเจ้ามัลแวร์ที่ชื่อ Wanna Cry เป็นซอฟต์แวร์ทำลายล้างที่จะเข้าไปในระบบของผู้ใช้งานแล้วก็เกิดการเรียกค่าไถ่ เพื่อปลดล็อกการใช้งานของผู้ใช้รายนั้นๆ งานนี้เดือดร้อนกันไปทั่วโลก ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีคนรีบออกมาเตือนว่า ฝ่ายรัฐอย่ามาอ้างเหตุผลนี้เพื่อที่จะผลักดันกฎหมายดังว่าเป็นการปิดหูปิดตาประชาชน
ฟังจากหัวหน้าคสช.ย้ำหนักแน่นไม่มีการกระทำเช่นนั้นแน่ ไม่ต่างจากพลอากาศเอกคณิตที่ยืนยันว่า ข้อท้วงติงเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนนั้น ไม่ต้องห่วงประชาชนยังมีสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเช่นเดิม ในกรณีที่จะเกิดการสั่งปิดเว็บไซต์หรือระงับการเผยแพร่ข้อมูล ต้องได้รับการอนุญาตจากศาลก่อน
ทั้งนี้ การแสดงความเห็นทางโลกออนไลน์ยังทำได้เช่นเคย แต่ต้องไม่ใช่ข้อความเฮดสปีช สร้างความแตกแยก เกลียดชัง หรือกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงประเทศ หากไปโพสต์ข้อความเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หรือกปช.จะพิจารณาว่า เข้าข่ายการทำผิดตามกฎหมายฉบับดังกล่าวหรือไม่
พูดได้น่าฟังแต่เรื่องการตีความเฮดสปีชหรือสิ่งที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศนั้น ถามว่ามันมีบรรทัดฐานหรือหลักเกณฑ์ที่เป็นกลางใช้บังคับเหมือนกันทุกคนทุกพวกหรือไม่ หลายกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลรัฐประหารถูกดำเนินการอยู่ในเวลานี้ น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี ว่ามีการวินิจฉัยบนพื้นฐานของความถูกต้อง เป็นธรรมหรือไม่
การให้อำนาจกปช.สามารถเข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของเอกชนได้ด้วย นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐนั้น คำชี้แจงของประธานกรรมาธิการสื่อสารมวลชน สปท.ที่บอกว่า เนื่องจากการใช้กฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติ ต้องใช้บังคับกับทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน เพราะการโจมตีทางคอมพิวเตอร์ไม่เลือกว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือเอกชน มันมีเหตุผลหนักแน่นเพียงพอหรือเปล่า
ประเด็นการเตรียมรับมือการโจมตีทางไซเบอร์ ตามที่พลอากาศเอกคณิตบอกว่า มันมาแน่ ยังไงก็ต้องเจอ จึงจำเป็นต้องออกกติกาคอยควบคุมไว้นั้น ไม่มีใครเถียง เพียงแต่ว่ากติกาที่ออกมานั้นจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังที่ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีไอซีทีทักท้วง การที่กฎหมายให้กปช. มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลประชาชนได้ แม้จะระบุต้องได้รับการอนุญาตจากศาลก่อน
แต่ก็มีข้อยกเว้นในกรณีฉุกเฉินที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ก่อนแล้วค่อยรายงานต่อศาลในภายหลัง ซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถามในเรื่องนี้พอสมควร ทั้งที่รัฐธรรมนูญสูงสุดของไทยให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงออกภายใต้กฎหมายไว้อย่างชัดเจน กฎหมายฉบับนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกับบทบัญญัติสูงสุดของประเทศหรือไม่
อำนาจที่ให้กปช.ไว้จะทำให้รัฐสามารถเข้าไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ อยากให้รัฐทบทวนเรื่องดังกล่าวให้ละเอียดถี่ถ้วน และไม่อยากเห็นกฎหมายที่ออกมาแล้วขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ไม่อยากเห็นกฎหมายที่เข้ามาละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน กฎหมายฉบับนี้ควรเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชน ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่ออกมาควบคุมประชาชน
ส่วนประเด็นที่ว่ารัฐมุ่งที่จะใช้กฎหมายนี้จัดการฝ่ายตรงข้ามหรือไม่นั้น ความเห็นของนาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ยิ่งน่าสนใจ ในร่างกฎหมายคงไม่ได้ระบุว่าจะใช้กับคนใดคนหนึ่ง เพราะกฎหมายที่ออกมาจะบังคับใช้กับคนไทยทั้งประเทศ แต่การออกกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะฝ่ายที่มีอำนาจรัฐมีอำนาจเข้าไปควบคุมประชาชน ก็จะเป็นกฎหมายที่ถูกตั้งคำถามว่าการออกกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หรือเจตนาที่จะไปควบคุมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่
เช่นเดียวกับความเห็นของ บุญยอด สุขถิ่นไทย อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่หวังว่าคงไม่ใช่ทำลายฝ่ายตรงข้าม การขอข้อมูลทั้งจากหน่วยงานเอกชน หรือรัฐต้องผ่านคำอนุญาตของศาล ก็เห็นด้วยเพราะเป็นหลักสากล ส่วนจะถึงขั้นดักฟังหรืออื่นใดอยู่ที่ศาลวินิจฉัย แต่ไม่ใช่มีอำนาจเต็มจนใช้อำนาจไปกลั่นแกล้ง ล้ำสิทธิคนอื่นตามใจได้ จึงต้องมีมาตรการถ่วงดุลกำกับ ควบคุมหรือมีบทลงโทษ กรณีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใช้อำนาจในทางกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม ประเด็นใช้อำนาจตามอำเภอใจและตรวจสอบไม่ได้นี่ต่างหากที่น่าเป็นห่วง