กับดักมาร์จิ้น

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า พันธมิตรร่วมสร้างกิจการของบริษัทจำหน่ายถ่านหินรายกลางของไทย บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ที่ 6 ปีมานี้ ก่อร้างสร้างจากที่มียอดขายเพียงแค่ระดับ 750 ล้านบาท เมื่อแรกเข้ามาซื้อขาย จนกลายเป็นธุรกิจมียอดขายเกือบ 2 หมื่นล้านบาท จะถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องขายหุ้นที่ถือมาอย่างชนิดเทกระจาดรวมแล้วมากถึง 9.59% ของหุ้นที่มีทั้งหมด จนสัดส่วนการถือครองที่เคยมี 45% จนสัดส่วนถือครองล่าสุดเหลือเพียงแค่ 31% ล่อตาล่อใจให้คนวงนอกเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการอย่างมาก


พลวัต 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า พันธมิตรร่วมสร้างกิจการของบริษัทจำหน่ายถ่านหินรายกลางของไทย บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ที่ 6 ปีมานี้ ก่อร้างสร้างจากที่มียอดขายเพียงแค่ระดับ 750 ล้านบาท เมื่อแรกเข้ามาซื้อขาย  จนกลายเป็นธุรกิจมียอดขายเกือบ 2 หมื่นล้านบาท จะถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องขายหุ้นที่ถือมาอย่างชนิดเทกระจาดรวมแล้วมากถึง 9.59% ของหุ้นที่มีทั้งหมด จนสัดส่วนการถือครองที่เคยมี 45% จนสัดส่วนถือครองล่าสุดเหลือเพียงแค่ 31% ล่อตาล่อใจให้คนวงนอกเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการอย่างมาก

ดังที่ทราบกันดีว่า พันธมิตรตระกูลคำดี และพิหเคนทร์ ได้ร่วมลงขันกับเข้าทำธุรกิจถ่านหิน แล้วเข้าซื้อกิจการที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการแบบ “ประตูหลัง” เข้ามาเปลี่ยนชื่อใหม่ และเติมสินทรัพย์ กลายเป็น EARTH เมื่อ 6 ปีก่อน พร้อมกับลาจากกันด้วยดี ไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขาจะทิ้งหุ้นที่ถืออยู่อย่างล่าสุดที่เกิดขึ้น

จากข้อมูลที่มีอยู่ โดย ก.ล.ต.  เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ายขจรพงศ์ คำดี, นายพิรุฬห์ พิหเคนทร์, นายพิพรรธ พิหเคนทร์, นายพิบูล พิหเคนทร์, นายพิสุทธิ์ พิหเคนทร์ ได้จำหน่ายหลักทรัพย์ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH จำนวน 9.59% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลมีจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่ายคิดเป็น 31.03% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ

ก่อนหน้านี้ นายขจรพงศ์ คำดี ได้เปิดเผยถึงกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างหนักจนติดฟลอร์ในช่วงวันที่ 11-12 พ.ค. 60 ที่ผ่านมา ว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงนั้นเนื่องจากถูกฟอร์ซเซล (บังคับขายหุ้น) ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยมีสาเหตุมาจากบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่ระบุว่า ในช่วงนี้ธุรกิจถ่านหินเข้าสู่ช่วงขาลง และราคาถ่านหินมีแนวโน้มลดลง จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมา และส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยเกิดความวิตกกังวลเช่นกัน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างหนัก

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้นักลงทุนที่ซื้อขายแบบมาร์จิ้นได้รับผลกระทบในการถูกฟอร์ซเซลครั้งนี้ และส่งผลกระทบไปถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่บางส่วน ที่ใช้บัญชีมาร์จิ้นในการซื้อขายหุ้นบริษัท ได้รับผลกระทบจนถูกฟอร์ซเซลตามไปด้วย

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เปิดบัญชีมาร์จิ้น เพื่อซื้อหุ้นของบริษัทไว้บางส่วน ในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงและมีนักลงทุนเทขายออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเป็นการซื้อเก็บเป็นระยะๆ และไม่ได้ทำการซื้อขายกันเองแต่อย่างใด

คำถามคือ ทำไมต้องซื้อขายหุ้นด้วยบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งทุกคนในตลาดรู้ดีว่าเป็นกับดักชนิดหนึ่งที่แสนจะอันตรายเข้าข่าย “เสียงโหยร้องของนางอสุรีไซเรนซ์” ซึ่งมีทั้งต้นทุนที่แพง และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกจับขายหากราคาหุ้นร่วงลงมาแรง

โดยทฤษฎี บัญชีมาร์จิ้น หรือบัญชีเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ คือบันไดสู่สวรรค์ที่เปิดช่องให้นักลงทุนสามารถซื้อขายเก็งกำไรในหุ้นด้วยวงเงินที่มากกว่าหน้าตักของตนเอง แต่ในทางปฏิบัติมันอาจจะเป็นเส้นทางสู่ขุมนรกทางลัด

บัญชีมาร์จิ้น เป็นบัญชีที่ผู้ลงทุนจ่ายชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ส่วนหนึ่ง และกู้ยืมเงินจากโบรกเกอร์อีกส่วนหนึ่ง โดยมีหลักทรัพย์ที่ซื้อวางเป็นหลักประกัน และมีข้อตกลงว่านักลงทุนจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินในส่วนที่กู้ยืมด้วย การลงทุนด้วยระบบมาร์จิ้นมีความซับซ้อนที่ต้องระวังอยู่ในวงเงินกู้ที่คุณใช้ลงทุนอยู่นั้น สามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงตลอดเวลา และอาจรวดเร็วรุนแรงตามสภาพการณ์ของตลาดหลักทรัพย์และของตัวหุ้นที่คุณถือลงทุนด้วยระบบมาร์จิ้นอยู่

การลงทุนด้วยระบบมาร์จิ้นนี้ นักลงทุนที่ชาญฉลาดจะต้องศึกษาอย่างละเอียดถึงกฎระเบียบที่มีมากมาย โดยเฉพาะในกรณีเมื่อราคาตลาดลดต่ำลงมาจะมีการเรียกเงินสดหรือทรัพย์สินอื่นมาวางประกันเพิ่ม ตลอดจนการบังคับขายหุ้นในบัญชีลูกค้า ซึ่งความเสียหายในการลงทุนด้วยระบบนี้ค่อนข้างรุนแรง

ในกรณีที่มูลค่าหุ้นที่ลงทุนด้วยระบบบัญชีมาร์จิ้นตกลงต่ำจากวงเงินกู้ครั้งแรก (Initial Margin) จนถึงเกณฑ์ที่กำหนด นักลงทุนคนนั้นจะถูกเรียกเงินสดมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติม (Margin Call) เพิ่มให้มูลค่าหลักประกันวงเงินกู้อยู่ในอัตราส่วนในเกณฑ์กำหนด หรือที่เรียกว่า maintenance Margin Rate

หากนักลงทุนหมดหน้าตักแล้วไม่สามารถนำเงินสดมาวางเป็นหลักประกันเพิ่ม โดยที่ราคาหุ้นที่คุณลงทุนอยู่นั้นตกลงไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่ตลาดหลักทรัพย์ตั้งเกณฑ์ไว้ บริษัทโบรกเกอร์จะต้องนำหุ้นของคุณออกขาย (Forced Sell) เพื่อนำเงินสดที่ได้มาเป็นหลักประกัน เพื่อให้ Maintenance Margin ของนักลงทุนนั้นๆ อยู่ในเกณฑ์

โดยทั่วไป เมื่อราคาหุ้นของนักลงทุนคนนั้น ยังตกลงเรื่อยๆ จนเหลือมูลค่าต่ำกว่า 25% เป็นระดับที่จะถูก Forced Sell โบรกเกอร์จะนำหุ้นของคุณบางส่วนออกขาย เพื่อให้ได้เงินมาเพิ่มมูลค่าหลักประกันเงินกู้ของคุณ โดยเทียบกับยอดมูลค่าหลักทรัพย์แล้วเกินกว่า 25%

ที่เลวร้ายสุดคือ ในกรณีที่ถูก Forced Sell หลายครั้ง จนกระทั่งหุ้นของนักลงทุนหมดหน้าตักแล้ว แต่ยังไม่พอชำระหนี้ที่ขาดทุนไป นักลงทุนนั้นยังต้องรับผิดชอบภาระหนี้ส่วนที่เหลือกับแหล่งเงินกู้พร้อมภาระดอกเบี้ยทั้งหมดด้วย

มีบทเรียนมากมายในเรื่องบัญชีมาร์จิ้น แต่ก็ไม่เคยมีวงเงินมาร์จิ้นลดลงเลย โดยเฉพาะในยามตลาดขาขึ้น ที่มีคนโหยหาโอกาสในการซื้อมากเป็นพิเศษ มองเห็นหนี้เป็นทางลัดไปสวรรค์จากบัญชีมาร์จิ้นต่อเนื่อง

หารู้หรือตระหนักว่า การติดกับดักมาร์จิ้นคือการเดินหลงทางของนักลงทุนที่มีนัยสำคัญ จากฝันฝันหวานยามเที่ยงว่าตนเองเก่งฉกาจ โดยลืมไปว่า ทุกแห่งที่มีโอกาส มีความเสี่ยงว่อนอยู่ด้วยเป็น “แฝดสยาม อิน-จันเสมอ”

บทเรียนที่เกิดขึ้นกับกรณีผู้ถือหุ้นใหญ่ EARTH จึงเป็นด้านมือที่มีความหมายสำหรับนักลงทุนอย่างมากอีกครั้ง

Back to top button