ต้องถึงครูอังคณาจนได้
เรื่องในรอบรั้วตลาดทุนแท้ๆ แต่องค์กรสูงสุดของตลาดทุนคือ ก.ล.ต.กลับไม่มีอำนาจจัดการได้
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
เรื่องในรอบรั้วตลาดทุนแท้ๆ แต่องค์กรสูงสุดของตลาดทุนคือ ก.ล.ต.กลับไม่มีอำนาจจัดการได้
กรณีข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้น IFEC หรือ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เห็นทีจะต้องไปใช้บริการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (จนได้)
เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม มันเป็นทางออกทางสุดท้ายจริงๆ แล้วหรือไม่ และมันจะส่งผลเสียหายร้ายแรงทางหลักการในระยะยาวหรือไม่ ที่ชักพาเอาอำนาจการเมืองเข้ามาแทรกแซงตลาดทุน
ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการตลาดทุนรุ่นก่อนๆ ต่างหวงแหนและธำรงคงไว้ซึ่ง “หลักการอิสระแห่งตลาดทุน” นี้สืบต่อกันมาอย่างแน่นเหนียว
จารีตปฏิบัติที่ยอมให้ได้แก่อำนาจการเมือง เห็นจะมีเพียงข้อเดียวเท่านั้นแหละ คือการแต่งตั้งเลขาธิการ ก.ล.ต.และแต่งตั้งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ
ขนาดตามกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2535 ระบุให้ รมว.คลังดำรงตำแหน่งประธาน ก.ล.ต. โดยตำแหน่ง บรรพบุรุษตลาดทุนสมัยนั้นก็ยังมีโน้มน้าวไม่ให้เอาขุนคลังตัวจริงมานั่งเลย
ให้แต่งตั้งตัวแทนมานั่งจนกลายเป็นจารีตสืบทอดกันมาตราบถึงปัจจุบันนี้
กรณีของ IFEC คือกรณีของผู้ถือหุ้นข้างน้อย แต่ใช้อำนาจตั้งบอร์ดบริหารเหนือกว่าผู้ถือหุ้นข้างมาก โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
กฎมายเขียนไว้ชัดเจนมากในมาตรา 70 พ.ร.บ.บริษัทมหาชนว่า ถ้ามีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ไม่สามารถจะใช้การโหวตแบบสะสมคะแนนดังเช่นที่กลุ่มหมอวิชัย (ผู้ถือหุ้นข้างน้อย) ได้
ข้อกฎหมายนั้นจะแจ้งแล้ว แต่ ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจจัดการอะไรได้ เพราะอำนาจชี้ขาดเป็นของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
ก.ล.ต.ก็ได้แต่ยืนกอดอกดูความพินาศของส่วนรวมไปเรื่อยๆ
จนบัดนี้แล้ว งบการเงินปี 2559 ของบริษัทก็ยังไม่ออก ทั้งที่ล่วงเลยมาถึงการออกงบฯ ไตรมาส 1 กันแล้ว
ความเลวร้ายที่เห็นกันต่อหน้าต่อตาก็คือหนี้ตั๋วเงิน หนี้หุ้นกู้ หนี้สินเชื่อรวมๆ แล้วในราว 8,500 ล้านบาท ได้ทยอยผิดนัดมาเรื่อยๆ
กระทั่งผู้ถือหุ้นฝ่ายที่ครองอำนาจเอาหุ้นบริษัทเจ้าของโรงแรมดาราเทวีมูลค่าเป็น 4-5 พันล้านบาทไปค้ำประกันหนี้ที่มีมูลค่าวงเงินแค่ 100 ล้านบาทเอง อันนี้เบียดบังประโยชน์บริษัทโดยแน่ชัด
เป็นหุ้นที่มีรายย่อยถือครองตั้ง 2.9 หมื่นราย แมงเม่าทั้งหลายก็เดือดร้อนสิครับ เพราะหุ้นโดนเครื่องหมาย SP มาตั้งแต่ต้นปี
สุดท้ายเลยก็คือ อนาคตบริษัทส่อแนวโน้มอย่างมากว่าหมดหนทางเยียวยา มันก็ต้องพังกันไปทุกฝ่ายแหละครับ
ใครจะยอมงอมืองอเท้าให้ถึงวันนั้น นักลงทุนเมื่อมองหาที่พึ่งในตลาดทุนไม่ได้ ก็ต้องคิดหาความช่วยเหลือจากภายนอกตลาดทุน นักลงทุนกลุ่มหนึ่งจึงคิดจะบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรี
ช่วยไม่ได้จริงๆ ผมเองเคยเขียนท้วงติงท่าทีของ ก.ล.ต.ว่า ค่อนข้างจะเย็นชาเกินไปที่บอกแค่เพียงว่า ไม่มีอำนาจจัดการ เป็นเรื่องภายในของบริษัท แถมแนะนักลงทุนให้ติดตามการแต่งตั้งกรรมการบริษัทให้มีความเหมาะสม
มันจะเหมาะสมได้ยังไงล่ะครับท่านเลขาฯ รพีในเมื่อตัวประธานบริษัทเขาบิดเบือนข้อกฎหมายเอาดื้อๆ
ผมเองก็ยอมรับล่ะนะว่า กฎหมายไม่เปิดช่องให้ ก.ล.ต. อำนาจเป็นของกระทรวงพาณิชย์ แต่อย่างว่าล่ะ ในเมื่อเรื่องมันเกิดในบ้านตัวเอง เจ้าของบ้านจะยืนเฉยกอดอกดูไฟไหม้บ้านตัวเองได้อย่างไร
ช่องทางกดดันให้เรื่องคลีคลายไปตามครรลอง มีตั้งหลายช่องทาง อาทิ ก.ล.ต.เสนอปรึกษาข้อหารือกับกรมพัฒนาธุรกิจฯ หรืออาจจะขอให้ประธาน ก.ล.ต.ไปหารือ รมว.คลังเพื่อขอความร่วมมือไปยัง รมว.พาณิชย์เสียก็ยังได้
ถ้าจะแก้ปัญหาในระยะยาว ก.ล.ต.ก็อาจจะเสนอขอแก้ไขกฎหมายให้ ก.ล.ต.มีอำนาจจัดการตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน เฉพาะในขอบเขตของบริษัทจดทะเบียนเสียก็ยังได้ การแก้ไขกฎหมายในยุคนี้ ทำได้ง่ายจะตายไป
แต่นี่เล่นบทกระบี่แล้งน้ำใจ เรื่องเลยลามปาม และก็อาจจะไปถึงครูอังคณาเข้าจนได้