SAWAD กำจัดจุดอ่อน
วันนี้ จะเป็นวันที่หุ้นเพิ่มทุนใหม่ที่เกิดจากการจ่ายปันผลในปี 2559 เป็นหุ้น...ชนิดเหนียวกันสุดๆ 25 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นปันผล (บวกเงินสดเพื่อเสียภาษี)... ของบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD จำนวน 41,818,902 หุ้น จะเข้าเทรดในตลาดวันแรก แต่นี่เป็นแค่เศษเสี้ยว เพราะมีเรื่องสำคัญกว่าสำหรับอนาคตรออยู่ข้างหน้า
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
วันนี้ จะเป็นวันที่หุ้นเพิ่มทุนใหม่ที่เกิดจากการจ่ายปันผลในปี 2559 เป็นหุ้น…ชนิดเหนียวกันสุดๆ 25 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นปันผล (บวกเงินสดเพื่อเสียภาษี)… ของบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD จำนวน 41,818,902 หุ้น จะเข้าเทรดในตลาดวันแรก แต่นี่เป็นแค่เศษเสี้ยว เพราะมีเรื่องสำคัญกว่าสำหรับอนาคตรออยู่ข้างหน้า
แผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่ออนาคต ของ SAWAD ที่แถลงโดย นางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการของ SAWAD น่าสนใจกว่าหลายเท่า
วันอังคารที่ผ่านมา นางสาวธิดา ออกมาตอกย้ำแผนธุรกิจภายใต้โครงสร้างใหม่ของกลุ่มที่จะเปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้ …เพื่อกันคนลืมว่า เป็นมากกว่าแผนธุรกิจ “แบบบ้านๆ” แต่เป็นแผนลึกล้ำโดยมีสาระใหญ่ใจความย่นย่อคือ
- เปลี่ยนชื่อบริษัท เงินทุนกรุงเทพธนาธร จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT เป็น บริษัท เงินทุนศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน)
- วางแผนว่า ภายใน 3-5 ปีจะขยายฐานลูกค้ารวมทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเป็น 2-3 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 4 แสนราย
- วางแผนบุกหนักตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV รวมถึงอินโดนีเซีย เพื่อผลักดันให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 15% ภายในปี 2564 จากขณะนี้อยู่ที่ราว 1%
เป้าหมายสูงสุดในแผนนี้กำหนดจะสร้างกลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ให้เป็น “สถาบันการเงินทางเลือกใหม่ มั่นคง โปร่งใส ให้บริการที่สะดวกเป็นกันเอง ภายใต้กรอบกฎหมายและการกำกับของ ธนาคารแห่งประเทศไทย”
พูดกว้างๆ แบบนี้ เท่ากับสร้างไฟท์บังคับ ให้ต้องย้อนความเดิมเพื่อหารากเหง้าของแผน เพื่อความสมเหตุสมผล
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559 SAWAD ได้ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้น หรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ หุ้นของ BFIT พร้อมกับเรียกประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญเพื่อปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่
เหตุผลที่อธิบายคือ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับยุทธศาสตร์แห่งอนาคตเป็นอาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งจากเงินสดของบริษัท และจากเงินในกระเป๋าของผู้มีเงินออม…แตกต่างไปจากการระดมทุนจากเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน หรือออกตราสารหนี้ประเภทแบบเดิมๆ
แผนดังกล่าว คือปรับให้ SAWAD เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ที่ไม่มีการประกอบกิจการของตนเอง (non-operating holding company) โดยชื่อ จะเปลี่ยนจากบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์ กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ Srisawad Group Holding Plc. แต่ยังคงจะใช้ชื่อรหัสย่อ SAWAD ในการซื้อขายในตลาดหุ้นต่อไป แล้วสร้างบริษัทย่อยใต้โครงสร้าง 3 ราย (ทั้งสร้างใหม่และดัดแปลงของเดิม) คือ
- บริษัทศรีสวัสดิ์ 2014 จำกัด รับโอนสินทรัพย์ไมโครไฟแนนซ์ทั้งหมด จาก SAWAD ไปดำเนินการ (ไม่มีการโอนพอร์ตสินเชื่อระหว่างกัน) ในรูปสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน (personal loan)
- BFIT ในชื่อใหม่ ขยายบริการสินเชื่อแบบมีหลักประกันในประเภทที่ไม่ทับซ้อนกัน
- บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน และนาโนไฟแนนซ์
เหตุผลที่อ้างเพื่อปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ประกอบด้วย 1) เพิ่มความหลากหลายของประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล 2) มีต้นทุนการเงินที่ต่ำลง และมีแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้นจากฐานเงินฝากใหม่และเดิมของ BFIT ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนของ SAWAD 3) ลดความเสี่ยงทางการเงินของ SAWAD เนื่องจาก BFIT อยู่ใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย
ครั้งนั้น นักวิเคราะห์ “ขาเชียร์” พากัน คาดว่าจะเพิ่มกำไรให้ SAWAD ได้ประมาณ 5% ประเมินราคาเป้าหมาย SAWAD ปลายปีนี้ ที่ระดับ 50.00 บาท …แต่ราคาหุ้นปัจจุบันของ SAWAD ก็ทะลุ 53 บาทเข้าไปแล้ว โดยไม่ทันปรับ
ยุทธศาสตร์ของ SAWAD ที่ย้ำอีกครั้ง ได้ถูกออกแบบให้มีเครื่องมือเร่งโตอย่างแนบเนียน และ “เขี้ยวลากดิน”…นั่นคือ สร้างให้โฮลดิ้งที่แบกรับความเสี่ยงจากบริษัทลูกใต้ร่มธงต่ำสุด เป็นการ “กำจัดจุดอ่อน” ในการระดมทุน
เกมนี้ บริษัท เงินทุนศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT เดิม จะกลายเป็นแกนหลักในการระดมทุน ด้วยการออกตั๋ว PN (promissory notes) เพื่อระดมทุน…ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกันกับการรับฝากเงินของธนาคาร โดยมีอัตราดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนนั่นเอง… แล้วก็เอามาปล่อยก็ให้กับ 2 บริษัทย่อยในเครือ SAWAD ให้ไปหากำไรอีกต่อ
ตราบใดที่เครื่องจักรทำกำไรในอนาคต อย่างบริษัท ศรีสวัสดิ์ 2014 จำกัด และบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งขัน และมีฐานระดมทุนขนาดใหญ่กว่าเดิม…ประเด็นเรื่องต้นทุนและกำไรขาดทุนของบริษัท เงินทุนศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) ก็ไม่มีนัยสำคัญอีกต่อไป…ชิล ชิล
SAWAD ที่จะเป็นโฮลดิ้ง ก็ไม่ต้องแบกภาระของบริษัทย่อย ปล่อยให้ดูแลตัวเอง …รอรับรู้แต่ผลตอบแทนของเงินลงทุน และเงินปันผล…เท่านั้น
แนวโน้มกำไรในอนาคตของ SAWAD จะมีแต่กำไรเพิ่ม เพิ่ม และ….เพิ่ม
ถึงตรงนี้ หลายคนคงถึงบางอ้อ …ถึงความสำคัญของการที่SAWAD ย้ำแล้วย้ำอีกว่า เป็นการ “ให้บริการที่สะดวกเป็นกันเอง ภายใต้กรอบกฎหมายและการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย” ในยุทธศาสตร์นี้ มากแค่ไหน….
“อิ อิ อิ”