พาราสาวะถี

กลายเป็นกระแสร้อนขึ้นมาทันทีทันใด เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. โยนเผือกร้อน เอ้ย!โยนคำถาม 4 ข้อผ่านรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา สะท้อนภาวะความอยาก (อยู่ต่อ) ที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือเรียกว่าสงบราบคาบ จะได้ไม่เสียของ เสียหน้าเหมือนคณะรัฐประหารก่อนหน้าในนามคมช.


พาราสาวะถี : อรชุน

กลายเป็นกระแสร้อนขึ้นมาทันทีทันใด เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. โยนเผือกร้อน เอ้ย!โยนคำถาม 4 ข้อผ่านรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา สะท้อนภาวะความอยาก (อยู่ต่อ) ที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือเรียกว่าสงบราบคาบ จะได้ไม่เสียของ เสียหน้าเหมือนคณะรัฐประหารก่อนหน้าในนามคมช.

นี่คือคำถามทั้งหมด ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ หากไม่ได้จะทำอย่างไร การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง และท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีกแล้วจะให้ใครแก้ไขและแก้ไขด้วยวิธีอะไร

ก่อนที่จะโยนภาระไปให้กระทรวงมหาดไทยในการรวบรวมคำตอบมาให้ตัวเอง พิจารณาแบบเร็วๆ ตัดประเด็นเรื่องการสืบทอดอำนาจทิ้งไป หากใช้ตรรกะแบบที่บิ๊กตู่ตั้งเป็นปุจฉา นี่คือการหลงตัวเองหรือเปล่า เพราะท่านผู้นำเข้าขั้นที่ว่า บ้านเมืองนี้ไม่มีใครดีกว่าตัวเองอีกแล้ว ดังนั้น จึงอดเป็นห่วงเป็นใยในอนาคตข้างหน้าไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีตัวเองแล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร

อาการเช่นนี้คงเป็นพันธุกรรมที่สืบเชื้อสายกันมาจากพวกคนดีที่พากันเป่านักหวีด ชัตดาวน์กรุงเทพฯแล้วก็โบกมือดักกวักมือเรียกให้พลเอกประยุทธ์มาทำการรัฐประหาร หากเป็นกังวลหนักข้อถึงขนาดนี้ ทางที่ดี แทนที่ท่านผู้นำจะตั้งคำถาม ช่วยประกาศไปชัดๆ เสียเลยดีไหม เนื่องจากประเทศไทยหาคนดีไม่ได้ และจัดเลือกตั้งไปก็เกรงว่าจะเสียของ ข้าพเจ้าเลยจะขออยู่ต่อบริหารประเทศไปอีกสัก 5 ปี 10 ปี

ถ้าจะมีการแก้ตัวว่าพูดไปตามสคริปต์ก็ไม่น่าจะใช่ ต้องไม่ลืมว่าก่อนจะมี 4 คำถามนี้ หัวหน้าคสช.เคยโยนคำถามเรื่องเลือกคนไม่ดีหรือคนแบบเดิมกลับมาแล้วประเทศจะเดินหน้าต่ออย่างไรมาแล้ว นั่นหมายความว่า นี่ไม่ใช่กลอนพาไปแต่เป็นความจงใจแบบไม่อ้อมค้อม ปัญหาก็คือว่า หากจะอยู่ต่อก็ช่วยบอกกันเสียแต่เนิ่นๆ เผื่อใครที่คิดจะลงทุนอะไรเขาจะได้คาดเดาอนาคตกันได้

ความจริงน่าจะมีคนไปถามบิ๊กตู่เหมือนกันว่า แล้วนักการเมืองที่เป็นคนดีของท่านนั้นต้องมีคุณสมบัติอย่างไร อย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ และเหล่าบรรดาแกนนำกปปส.ถูกจัดเป็นพวกคนดีที่น่ายกย่องและต้องเป็นแบบอย่างของนักการเมืองคุณภาพที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและวางยุทธศาสตร์ชาติตามที่ท่านต้องการใช่หรือไม่

หากท่านผู้นำช่วยการันตี คนก็จะได้มีบรรทัดฐานในการเลือกว่าคนดีในความหมายของคนโคตรดีอย่างหัวหน้าคสช.นั้นเป็นอย่างไร แต่ก่อนจะไปไกลถึงขนาดนั้น เอาเป็นว่าย้อนกลับไปพิจารณาคำถามที่คิดว่าแหลมคมดังกล่าวเสียก่อน สองข้อแรกเลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่และถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร

คำถามสองข้อนี้ จาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยโดยเคร่งครัดช่วยให้คำตอบว่า ความจริงแล้วเป็นคำถามต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่พลเอกประยุทธ์ให้ร่างขึ้นมาเองและประกาศสนับสนุนก่อนวันลงประชามติด้วยตนเอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้พึงมีระบบกลไกที่กลั่นกรองผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลและจัดการกับรัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาลอยู่แล้ว การตั้งคำถามอย่างนี้ แสดงว่าท่านผู้นำไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้จะดีจริง

ส่วนที่ว่าเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงยุทธศาสตร์และการปฏิรูปถูกต้องหรือไม่ คำตอบคือย่อมไม่ถูกต้อง เพราะยุทธศาสตร์และการปฏิรูปเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนสามารถดูได้ว่าพรรคการเมืองใดให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่เพียงใด นอกจากนี้ ยังมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่คอยกำกับให้รัฐบาลต้องทำตามแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว

ขณะที่คำถามที่บอกว่า กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณีควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วเกิดปัญหาอีก จะให้ใครแก้ไขและแก้ด้วยวิธีอะไร คำตอบคือที่ว่าไม่เหมาะสมในทุกกรณีใครเป็นคนตัดสิน ถ้าประชาชนเลือกมาเพราะเห็นว่าเหมาะสม แต่พลเอกประยุทธ์ว่าไม่เหมาะสมอยู่คนเดียว ปัญหาน่าจะอยู่ที่พลเอกประยุทธ์เองมากกว่า

แต่ถ้าเป็นเรื่องของการทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมมีระบบกลไกตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายจัดการอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้พลเอกประยุทธ์กับพวกทำรัฐประหารอีก คำถามนี้ของพลเอกประยุทธ์นอกจากถามนำและชี้นำแล้วยังเป็นการตั้งข้อสงสัยต่อรัฐธรรมนูญของตนเองและแสดงความฝักใฝ่เสพติดการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ  โดยหวังว่าประชาชนจะเรียกร้องให้ตนเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จต่อเนื่องไปอีกนาน

ด้านคนเดือนตุลาอีกราย ภูมิธรรม เวชยชัย ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าวของหัวหน้าคสช. แต่ตั้งปุจฉาไปยังประชาชนโดยไม่ต้องให้ส่งคำตอบไปที่ไหนว่า สภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบันมีธรรมาภิบาลดีพอหรือไม่ หากยังไม่ดีพอ จะแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้น ที่ระบบธรรมาภิบาลของไทยมีปัญหา เพราะระบบถ่วงดุลและตรวจสอบไม่เข้มแข็งใช่หรือไม่ และถ้ายังไม่ดีพอจะแก้ไขอย่างไร

ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ได้รับโอกาสในการตัดสินใจเลือกนโยบายดีๆ มาแก้ไขปัญหาและดูแลชีวิต จะเป็นระบบที่พึงประสงค์หรือไม่ สุดท้ายใครสร้างเงื่อนไขให้ระบอบประชาธิปไตยล้มเหลวและมีปัญหา ใครที่ปล่อยปละละเลยจนทำให้ประเทศวุ่นวาย บานปลาย กลุ่มบุคคลที่เป็นปรปักษ์ต่อประชาธิปไตย และไม่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชน ควรได้รับโอกาสให้มาดูแลชีวิตของประชาชนหรือไม่

แรงกระเพื่อมจากเรื่องนี้ไม่รู้จะดำเนินต่อไปอย่างไร แต่ที่แน่ๆ หากไม่มีการแก้ต่างแก้ตัวใดๆ จากท่านผู้นำ สิ่งที่จะตามมาก็คือ เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อรัฐบาล ต้องไม่ลืมว่ามือข้างหนึ่งของรัฐบาลกำลังทำเรื่องปรองดอง แสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่อีกมือกลับถือมีดไว้ข้างหลังคอยทิ่มแทงพวกที่ชวนมาจับมือเจรจา นี่ไงที่ได้ย้ำมาโดยตลอดการเดินเกมเช่นนี้ของผู้มีอำนาจเป็นเรื่องยากที่คนไทยจะได้อยู่กันอย่างสงบสุขอย่างที่ฝัน

Back to top button