RICH เจตนาล้มบนฟูก?
อดีตขวัญใจแมงเม่าในตลาดหุ้น อย่าง บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH ทำธุรกิจเหล็ก และขาดทุนมาตลอด 5 ปีหลังสุด จนต้องขอมอบตัวต่อศาลล้มละลายกลางไปแล้วตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ ไม่เคยหมดเรื่องอื้อฉาว แม้จะมีสภาพเป็น “ซากแพะตาย” ไปแล้ว หลังจากถูกขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายในตลาดไปตั้งแต่ วันพุธที่ 1 มีนาคม 2560
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
อดีตขวัญใจแมงเม่าในตลาดหุ้น อย่าง บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH ทำธุรกิจเหล็ก และขาดทุนมาตลอด 5 ปีหลังสุด จนต้องขอมอบตัวต่อศาลล้มละลายกลางไปแล้วตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ ไม่เคยหมดเรื่องอื้อฉาว แม้จะมีสภาพเป็น “ซากแพะตาย” ไปแล้ว หลังจากถูกขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายในตลาดไปตั้งแต่ วันพุธที่ 1 มีนาคม 2560
เรื่องอื้อฉาวล่าสุดที่เกิดขึ้น เมื่อ RICH ถูกกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงิน และผู้ถือตราสารหนี้สารพัดรูป ตั้งข้อกล่าวหาว่า..ผู้บริหารเจตนาทำให้บริษัทล้มละลาย…เพื่อล้มบนฟูก
ข้อกล่าวหาดังกล่าว ปรากฏขึ้นในวันที่ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งนัดไต่สวนสืบพยานแผนฟื้นฟูกิจการของ RICH เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะบริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา และร้องขอให้ศาลอนุมัติให้บริษัทเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเอง โดยให้อำนาจ หน้าที่และความรับผิดในฐานะผู้ทำแผนตกเป็นของคณะกรรมการบริษัท ที่มีชื่อตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 6 มีนาคม 2560
กลุ่มเจ้าหนี้จำนวน 20 ราย (ไม่ระบุชื่อ) มูลหนี้รวมประมาณ 2,000 ล้านบาท จากมูลหนี้ทั้งหมด 2,560 ล้านบาท ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ด้วยเหตุผลรวมกัน 6 ข้อ คือ
1) ฐานะการเงินของ RICH ซึ่งผ่านการรับรองโดยผู้สอบบัญชีแล้ว ไม่ถือว่าเข้าข่าย “ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว” เมื่ออ้างอิงจากงบการเงินปี 2559 (รับรองโดยผู้สอบบัญชีแล้ว) มีสินทรัพย์รวม 2,620 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 2,560 ล้านบาท
2) RICH อ้างอิงถึงงบการเงินสิ้นสุด 31 มกราคม 2560 ที่ระบุว่ามีสินทรัพย์รวม 2,470 ล้านบาท น้อยกว่าหนี้สินรวม 2,560 ล้านบาท เพื่ออ้างว่าอยู่ในฐานะล้มละลาย ถือว่าเป็นการนำเสนองบการเงินดังกล่าวต่อศาลฯที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้รับรองโดยผู้สอบบัญชีที่ถูกต้อง
3) มีข้อพิรุธว่า RICH มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระหว่างไตรมาส 4/2559 (อันเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าการจัดทำงบการเงิน เพื่อยื่นขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ) โดยมีรายงานตัวเลขการบันทึกดังกล่าวสูงถึง 699 ล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้การค้าทั้งหมดประมาณ 1,840 ล้านบาท ขณะที่ระหว่างไตรมาส 1/2559 ไม่พบการบันทึกใดๆ เกิดขึ้น ส่วนไตรมาส 2/59 และไตรมาส 3/59 มีการบันทึกเท่ากันเพียง 5.96 ล้านบาทเท่านั้น พฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นการจงใจให้บริษัทเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน
4) แผนดำเนินการฟื้นฟูธุรกิจระยะยาวของ RICH ฝ่ายลูกหนี้ที่ขอเป็นผู้บริหารแผนเอง ทั้งในกลุ่มธุรกิจเดิม และธุรกิจใหม่ คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล ตลอดถึง ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำประปา มิได้ตระหนักหรือว่าเน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและไม่เคยมีการเสนอแผนให้แก่เจ้าหนี้ชัดเจนแต่อย่างใด
5) มีประเด็นปลีกย่อย ที่เจ้าหนี้ระบุว่า นอกจากการบันทึก “ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลูกหนี้การค้า” จำนวน 699 ล้านบาท ยังพบว่า RICH มีการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า อีกราว 364 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 64% ของเงินที่บริษัทได้มีการชำระล่วงหน้าให้แก่คู่ค้าจำนวน 571 ล้านบาทแล้ว ทำให้บริษัทต้องนำจำนวนค่าเผื่อไปหักออกจากจำนวนเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์รวมลดลง
6) เจ้าหนี้ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ของคู่ค้า ซึ่งเป็นลูกหนี้การค้าและผู้รับชำระค่าสินค้าล่วงหน้า สำหรับเงินที่มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือไม่ และจะมีวิธีทวงถามหนี้หรือสินค้าได้อย่างไร
คำถามดังกล่าว เป็นปริศนาที่ต้องหาคำตอบกันว่า การล่มสลายของบริษัทที่ขาดทุนเรื้อรังจนเข้ารับความช่วยเหลือจากศาลล้มละลายกลางเป็นการทำให้ใครบางคน “ล้มบนฟูก” …เหตุผลเพราะความผิดปกติของ RICH นั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เรื้อรังมายาวนาน
หนึ่งในความผิดปกติ นอกเหนือจากการขาดทุนยาวนาน จนเพิ่มทุนครั้งแล้วครั้งเล่าซ้ำซาก ก่อนประกาศเจ๊งอย่างเป็นทางการ …อยู่ที่ทิศทางของราคาหุ้น RICH ซึ่งไม่เคยเคลื่อนตามผลประกอบการ แต่เกิดตามจินตนาการและเจตนาของการทำราคา โดยก๊วนสร้างราคาล่อแมงเม่า มาตลอดเป็นระยะๆ
ตัวอย่างจากกรณีผู้บริหาร RICH บางราย มีการสมคบกับบุคคลภายนอก เพื่อร่วมกันปั่นหุ้น RICH จากการสมคบคิด รู้เห็นหรือตกลงร่วมกับตัวการรายอื่นๆ ซื้อขายหุ้นในลักษณะสอดคล้องและแบ่งหน้าที่กันผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลที่มีความสัมพันธ์โยงใยด้านต่างๆ จนเกิดผลกระทบทั้งด้านราคาและปริมาณในสัดส่วนที่สูง รวมทั้งมีการจับคู่ซื้อขายกันภายในกลุ่มจำนวนมาก เพื่อชักจูงให้ “แมงเม่า” กระโดดเข้ามาติดกับ…จนถูกลงโทษโดย ก.ล.ต. ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ…ชัดเจนเหนือคำบรรยาย
แม้ความผิดปกติที่กลุ่มเจ้าหนี้ของ RICH แจ้งต่อศาลล้มละลายกลางในการคัดค้าน ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ชัดเจนถึงที่สุดว่าเกิดการ “ล้มบนฟูก” แค่ไหน แต่ก็มีน้ำหนักมากพอ ทำให้ศาลออกคำสั่งไม่ให้ผ่านแผนฟื้นฟูไปได้ง่ายๆ…ความหวังที่จะ “ปอกกล้วยเข้าปาก” จึงไม่เกิดขึ้น
คนที่วาดหวังว่าจะตามรอยของบริษัทเหล็กใหญ่อย่าง สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ไม่ผิดเพี้ยน….ก็หงายเงิบไป
คำสั่งศาลล้มละลายกลาง กำหนดวันนัดสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านใหม่ เริ่มต้นจากสืบพยานผู้ร้อง คือ บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH รวม 2 นัดคือวันที่ 15 กันยายน 2560 (เวลา 9.00-16.30 น.) และวันที่ 18 ตุลาคม 2560 (เวลา 9.00-16.30 น.) พร้อมนัดสืบพยานเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน รวม 6 นัด คือ วันที่ 19 ตุลาคม 2560 (เวลา 9.00-16.30 น.) วันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2560 (เวลา 9.00-16.30 น.) วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 (เวลา 9.00-12.00 น.) วันที่ 12-13 ธันวาคม 2560 (เวลา 9.00-16.30 น.)…จะทำให้แผนล้มบนฟูก เกิดขึ้นช้าลง หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลย…จึงเป็นด้วยประการฉะนี้
“อิ อิ อิ”