ปัญหาส่งออกพลวัต2015

การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจเข้ามา ไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับสื่อมวลชน เพราะอาจจะถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อความรักชาติ แต่เมื่อรัฐมนตรีพาณิชย์ที่เป็นนายทหารเก่า ออกมาพูดถึงตัวเลขการส่งออก ก็ย่อมมีความน่าสนใจที่ต้องใคร่ครวญเพื่อช่วยเหลือกัน


การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจเข้ามา ไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับสื่อมวลชน เพราะอาจจะถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อความรักชาติ แต่เมื่อรัฐมนตรีพาณิชย์ที่เป็นนายทหารเก่า ออกมาพูดถึงตัวเลขการส่งออก ก็ย่อมมีความน่าสนใจที่ต้องใคร่ครวญเพื่อช่วยเหลือกัน

ชาติที่พึ่งตัวเลขส่งออกเป็นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า ย่อมมีปัญหาหนักหากการส่งออกย่ำแย่ ไม่สามารถเพิกเฉยได้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะประกาศปรับลดเป้าหมายการส่งออกสำหรับปี 2558 ใหม่ จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4% นั้น อาจจะปรับลดลงมาเหลือขยายตัวได้มากกว่า 1% เพราะยังเชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ แม้คาดว่าในเดือนมี.ค.นี้มีแนวโน้มอาจติดลบ และทำให้การส่งออกไตรมาสแรกติดลบเช่นกัน

อย่างไรก็ดี มองว่าการส่งออกของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ยังไม่ถือว่าแย่มาก เพราะจากการตรวจสอบประเทศที่ส่งออกสูงสุด 30 อันดับแรกทั่วโลก พบว่าส่วนใหญ่ติดลบทั้งหมด โดยมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่การส่งออกเป็นบวก ได้แก่ จีน สวิตเซอร์แลนด์ และชิลี ส่วนฮ่องกงเสมอตัว สำหรับปัญหาที่ภาคเอกชนได้เสนอแนะมา กระทรวงฯ จะรวบรวมและประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปแก้ไขต่อไป

                คำพูดของรมว.พาณิชย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาเกริ่นไว้ก่อนแล้วว่า การส่งออกเดือนแรกของปีนี้ติดลบ 3.7% เดือนก.พ. ติดลบ 6.1% และเดือนมี.ค. ก็น่าจะออกมาติดลบ ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ จะติดลบราว 4% ถือว่าเป็นการหดตัวที่สูงมาก นับตั้งแต่ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  โดยให้เหตุผลว่าเพราะเศรษฐกิจโลกโดยรวมขณะนี้ยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว ทั้งยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ ทำให้ส่งผลกระทบไปยังทั่วโลก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะรัฐบาลจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้สูงขึ้น 9.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และการใช้จ่ายภาครัฐในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 51% เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้ไป ไม่น่าจะลดลงไปมากกว่านี้ หรือพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว

คนดีและเก่ง 2 คนในรัฐบาลชุดนี้ออกมาพูด จะไม่ให้เชื่อเสียเลย ก็อาจจะถูกเรียกไปปรับทัศนคติ จึงต้องเชื่อไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

รมว.พาณิชย์ระบุเพิ่มเติมว่า แม้การส่งออกจะย่ำแย่ แต่กระทรวงพาณิชย์ก็มีแผนรับมือเอาไว้แล้ว  โดยร่วมกับภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้

วิธีการแก้ปัญหาผลักดันการส่งออก รมว.พาณิชย์ระบุว่า จะมีการแบ่งกลุ่มสินค้าทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ รวมกว่า 10 กลุ่ม เพื่อทำแผนผลักดันการส่งออกเป็นรายสินค้าและรายตลาด โดยให้ดูว่าจะขยายตลาดเก่าและเจาะตลาดใหม่ๆ ได้อย่างไร ทั้งนี้ ให้จัดทำแผนให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จากนั้นจะเดินหน้าดำเนินงานตามแผนทันทีเพื่อเพิ่มยอดการส่งออก

ถือเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของรัฐบาลชุดนี้อย่างแท้จริง อย่างน้อยก็รู้ว่ากำลังทำงานอยู่ ส่วนจะได้ผลหรือไม่ ไม่ควรตั้งคำถาม

ทางด้านภาคเอกชน  นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ได้โอกาสเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ทำหลายอย่าง แต่ที่น่าสนใจคือ ขอให้ผลักดันโครงการ “โปรดักต์ ออฟ ไทยแลนด์” โดยสนับสนุนให้ติดโลโก้ที่ระบุว่าเป็นสินค้าจากประเทศไทยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเร่งจัดงานแสดงสินค้าระดับอาเซียน โดยจัดงานร่วมกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในปีหน้า เพื่อดึงดูดคนทั่วโลกมาชมและเลือกซื้อสินค้า พร้อมกับเร่งแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า ที่ขณะนี้แข็งค่าขึ้น 1% ขณะที่คู่แข่งอย่างมาเลเซียอ่อนค่าลง 10% สิงคโปร์อ่อนค่า 5-6% อินโดนีเซียอ่อนค่าลง 5-6% และเวียดนามอ่อนค่า 2% ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้การส่งออกมีปัญหา และยังถือว่าเงินบาทไทยแข็งค่ามากที่สุดในโลก โดยติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศที่เงินแข็งค่า

ข้อเสนอสุดท้ายนี้ พุ่งเป้าไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจรัฐบาล เพราะกฎหมายพิเศษให้อำนาจเพื่อรักษา ”ความเป็นอิสระของนายธนาคารกลาง” อย่างเคร่งครัด

บทสรุปสำหรับเรื่องนี้คือ ในสายตารัฐบาลแล้ว เรื่องการส่งออกที่ย่ำแย่ ไม่ใช่ปัญหาหนักหนาสาหัส สามารถแก้ได้

มุมมองของรัฐบาล อาจจะต่างไปจากนักวิชาการ เพราะล่าสุด  ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ แห่ง ม.รังสิต ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีอยู่ที่ 3-3.9% (เทียบกับ 4% เมื่อเดือนพ.ย. 2557) โดยไม่มีแรงกดดันทั้งเงินเฟ้อ และเงินฝืด เพียงแต่ความเป็นไปได้ของเงินฝืดจะสูงขึ้น หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบช่วงครึ่งปีหลังจากวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ โดยมีโอกาสชะลอตัวและติดลบได้

ท่ามกลางความพยายามในการแก้ปัญหาส่งออก ก็มีข่าวแทรกเข้ามาล่าสุดว่า สหภาพยุโรป (อียู) ให้เวลาประเทศไทย 6 เดือนปราบปรามการทำประมงที่ผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ หากทำไม่สำเร็จ จะระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศไทย และจะจัดให้ไทยอยู่ในรายชื่อบัญชีดำเช่นเดียวกับประเทศกัมพูชา

คำขู่ดังกล่าว แม้จะน่ากลัว แต่ก็ยังดีที่อย่างน้อยไทย ก็มีกัมพูชาเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรม ไม่ถึงกับโดดเดี่ยวเกินไป

 

Back to top button