ขายฝันลวงอำนาจทายท้าวิชามาร

ไม่ผิดคาดแม้แต่น้อย สปช.เกือบทั้งหมดหนุนร่างรัฐธรรมนูญ “ตัดทอนอำนาจนักการเมือง” จากเลือกตั้ง ยักย้ายอำนาจให้รัฐราชการและองค์กรสรรหา


ไม่ผิดคาดแม้แต่น้อย สปช.เกือบทั้งหมดหนุนร่างรัฐธรรมนูญ “ตัดทอนอำนาจนักการเมือง” จากเลือกตั้ง ยักย้ายอำนาจให้รัฐราชการและองค์กรสรรหา

โถก็ สปช. 250 คน คสช.แต่งตั้งจากสรรหา สปช. 250 คนประชาชนไม่ได้เลือกมา แต่อ้างว่าเป็นคนดีจึงมีความชอบธรรม จะให้ สปช.ยอมรับอำนาจเลือกตั้งของประชาชนว่า “ชอบธรรม” อย่างไร พูดไปก็ทุบทำลายชามข้าวตัวเอง มีแต่ต้อง defend ด้วยการโทษประชาชนเลือกนักการเมืองเลว

ลดอำนาจนักการเมือง “พลเมืองเป็นใหญ่” พูดกันไป ไม่สังเกตหรือรัฐธรรมนูญใหม่พลิกหมวด “หน้าที่” ขึ้นมาก่อนสิทธิ มาตรา 26 “พลเมืองต้องเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย…มีค่านิยมที่ดี มีวินัย ตระหนักในหน้าที่…รู้รักสามัคคี มีความเพียร และพึ่งตัวเอง”

มาตรานี้ตบหน้าประชาชนทั้งประเทศ ว่าที่บ้านเมืองวิกฤต 10 ปีเป็นเพราะ “พวกมึง” ไม่รู้จักหน้าที่ ไม่ทำตัวเป็นพลเมืองดี ไม่รู้รักสามัคคี ไม่มีวินัย ก่อม็อบจนประเทศฉิบหาย ฯลฯ “พวกมึง” นั่นแหละผิด ผู้หลักผู้ใหญ่ ทหาร ตุลาการ องค์กรสำคัญทั้งหลายท่านไม่ผิดซักหน่อย

ฉะนั้นเมื่อ “พวกมึง” ผิด ก็ต้องถูกลดอำนาจที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญจะเอาอำนาจไปให้ “คนดี” ที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง มายังไงก็ไม่รู้นะ เช่น จะสรรหาวุฒิสมาชิกยังไงก็ไม่บอก แต่ในเมื่อเลือกตั้งได้แต่คนเลวแหงๆ จะสรรหาอย่างไรก็ย่อมได้คนดีกว่า

อย่างไรก็ดี เดี๋ยวจะว่าไม่ให้สิทธิเสรีภาพ ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม มาตรา 28-72 ก็เลยเขียนยาวเหยียด “พลเมือง” มีสิทธิอย่างนั้นอย่างนี้ จะเข้าชื่อจะเรียกร้องจะใช้สิทธิปกป้องอะไรได้หมด เป็นยาครอบจักรวาล เว่อร์กว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งพยายามเขียนให้ “ดีกว่า” รัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อล่อใจ “ภาคประชาชน” NGO ผู้ชอบมีส่วนร่วมทั้งหลาย

สิทธิมีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีอำนาจ ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เสนอให้ตายรัฐสภาไม่เอาด้วยสิทธินั้นก็ไม่มีความหมาย ที่ผ่านมาคุณอ้างว่านักการเมืองชนะเลือกตั้งแล้วไม่แยแสประชาชน แต่รัฐราชการหรือคนไม่มาจากเลือกตั้ง มีความจำเป็นอะไรต้องฟังประชาชน เขาก็ฟังคนที่ให้ชามข้าว

เขียนสิทธิซะฟุ้งเฟ้อ แต่รัฐบาลรัฐสภาจากเลือกตั้งไม่มีอำนาจ วุฒิสภาจากสรรหา องค์กรอิสระจากสรรหา องค์กรตุลาการ องค์กรราชการ มีอำนาจเหนือกว่า ประชาชนก็เป็นได้แค่ “พลเมืองดี” ของทางราชการ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขายฝันยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เพราะเขียนหมวด “การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม” ที่อ่านตั้งแต่มาตรา 281 ถึง 296 (10 หน้า A4) วรรณกรรมยูโทเปียชิดซ้าย มีตั้งแต่ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุข ไปถึงกระจายอำนาจ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการและหน่วยงานอีกเป็นสิบชุด ประเทศไทยคงเจริญวัฒนาสถาพรเป็นมหาอำนาจของโลกกระมังถ้าทำได้ทั้งหมด

แต่เอ๊ะ ทำไมไม่ทำซะในตอนที่ คสช.มีอำนาจละครับ แต่กลับไปเขียนให้ทำในอนาคต 5 ปีโดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือต้องมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป 120 คน ที่มาจาก สปช. 60 คน สนช. 30 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 30 คน มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์อีก 15 คน ซึ่งมีอำนาจเสนอกฎหมายผ่านวุฒิสภา ในหลักกลับหัวกลับหางอำนาจเลือกตั้ง คือถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่เอาด้วย แต่วุฒิสภายืนยัน 2 ใน 3 ให้ถือว่ากฎหมายผ่าน

ชอบใจ สปช.ท่านหนึ่งที่ไม่เหนียม บอกทำไมต้องกระมิดกระเมี้ยนตั้งสภาขับเคลื่อน ก็ให้ สปช.ชุดนี้ทำหน้าที่ไปอีก 5 ปีซะดีกว่า

 

Back to top button