พาราสาวะถี
ช่วงนี้งดให้สัมภาษณ์นักข่าว จากอาการงอนเพราะถูกต้อนถามเรื่อง 4 ปุจฉาว่าด้วยการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่อย่างน้อยก็ยังมีปฏิสัมพันธ์กับนักข่าวด้วยการเขียนตอบแทนการพูด ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประกาศปฏิรูปตัวเองมาหลายครั้งหลายหน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ คงเป็นเพราะใช้สรรพกำลังทั้งหมดทุ่มเทไปกับการปฏิรูปประเทศ
อรชุน
ช่วงนี้งดให้สัมภาษณ์นักข่าว จากอาการงอนเพราะถูกต้อนถามเรื่อง 4 ปุจฉาว่าด้วยการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่อย่างน้อยก็ยังมีปฏิสัมพันธ์กับนักข่าวด้วยการเขียนตอบแทนการพูด ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประกาศปฏิรูปตัวเองมาหลายครั้งหลายหน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ คงเป็นเพราะใช้สรรพกำลังทั้งหมดทุ่มเทไปกับการปฏิรูปประเทศ
อย่างไรก็ตาม งานที่เป็นวาระปกติของบิ๊กตู่คือการเดินสายไปพูดบนเวทีต่างๆ โดยสิ่งที่จะหยิบยกไปเป็นผลงานอันโดดเด่นของรัฐบาลคสช.คือ แนวคิดเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ไม่เว้นแม้กระทั่งเวทีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันพุธที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเวลานั้นเกิดคำถามว่า เครือข่ายภาคประชาชนในสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงจะสนใจมาฟังหรือไม่ หรือจะมาเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่
กระทั่งมีแถลงการณ์ของเครือข่ายภาคประชาชนในภาคใต้ตอนล่างที่ชี้แจงว่า การปาฐกถาเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ของนายกรัฐมนตรี ไม่มีอะไรน่าสนใจที่จะมาฟังอยู่แล้ว เพราะนโยบายอวดโม้ว่ายุค 4.0 แต่พฤติกรรมยังเป็นยุค 0.4 ยังหนุนถ่านหิน เน้นสร้างท่าเรือ ชอบอนุมัติเปิดเหมือง ผนวกกับทุนในนามประชารัฐยึดกุมประเทศ ควบคุมสื่อ จำกัดสิทธิประชาชน สารพัดวิธีคิดแบบเผด็จการอำนาจนิยม จึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปฟัง
ไม่มีประโยชน์ที่จะไปแสดงออก ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเรียกร้อง เพราะได้มีการยื่นหนังสือเป็นร้อยฉบับ แสดงออกในทั้งรูปแบบการประท้วง การรณรงค์ การจัดเวทีวิชาการ หรือกิจกรรมมากมายที่อุดมไปด้วยเหตุผลและจุดยืนในการขอมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเองมาตลอด ซึ่งเพียงพอแล้วสำหรับนายกรัฐมนตรีหากมีจิตใจที่พร้อมรับฟังภาคประชาชน
รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความชอบธรรมหรือความน่าเชื่อถือใดๆ แล้วสำหรับภาคประชาชน พลเอกประยุทธ์เองก็ไร้ซึ่งจุดยืนที่จะยืนข้างภาคประชาชน เป็นคนหูตึงเวลาฟังปัญหาและข้อเสนอของภาคประชาชน เป็นคนตามัวใกล้บอดไม่เห็นความทุกข์ยากของผู้คน การพูดทุกวันศุกร์นั้นยิ่งชัดเจนว่า มีโลกทัศน์ที่เอาตนเองหรือกลุ่มลิ่วล้อใกล้ชิดเป็นศูนย์กลาง คอยแต่เทศนาสั่งสอนประชาชน
แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุอีกว่า ท่านผู้นำละเลยการพัฒนาประชาธิปไตยฐานรากอันหมายถึงการฟังเสียงประชาชนและให้ประชาชนร่วมกำหนดอนาคตของตนเอง ก่อนจะประชดประชันด้วยว่า ลืมไปว่าจะไปคาดหวังอะไรกับเผด็จการให้มาพัฒนาประชาธิปไตย ในส่วนของอารมณ์ ความรู้สึกนั้นว่ากันไปตามข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่กล่าวถึงไทยแลนด์ 4.0 นั้นเป็นเรื่องที่น่าคิด
เพราะด้านที่เครือข่ายภาคประชาชนในภาคใต้ตอนล่างเอ่ยถึงนั้น อาจเป็นในแง่ของการปกป้องสิทธิ เสรีภาพหรือผลประโยชน์ภาคประชาชนในระดับฐานราก แต่ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการก้าวไปสู่ความเป็นไทยแลนด์ 4.0 โดยตรงคือการศึกษา ดังนั้น บทความของ แอนดรูว์ บิ๊กส์ พิธีกรโทรทัศน์ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์และครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดังชาวออสเตรเลีย ที่ชื่อ Dinosaurs must confront reality หรือ เหล่าไดโนเสาร์ต้องเผชิญหน้าความเป็นจริง จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย
โดยแอนดรูว์ ตั้งคำถามอย่างน่าสนใจว่า แผนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่มุ่งผลักดันไทยให้ก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 และความจำเป็นของไทยที่ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและโลก ล้วนต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งสิ้น แต่ไทยพร้อมรับสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมแล้วจริงหรือ
ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ โครงสร้างและปรัชญาการศึกษาเก่าๆ กำลังเดินต้วมเตี้ยม เหมือนไดโนเสาร์ที่กำลังเดินหน้าสู่อุกกาบาตที่กำลังจะสร้างความพินาศให้แก่โลก แต่กลับมีเสียงเรียกร้องให้เกิดนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยี โดยที่ปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษาไทยที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ นักการเมือง ผู้สอนและผู้เรียนมากที่สุดประเด็นหนึ่งคือ ระบบการศึกษาไม่สร้างความคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical thinking ให้ผู้เรียน
การคิดเชิงวิพากษ์คือการท้าทายกับจารีต คือการมองหา พังทลายและประกอบกับสร้างข้อเท็จจริงและตัดสินมันในเชิงคุณค่า การคิดเชิงวิพากษ์คือการถามคำถามว่าคุณคิดเห็นอย่างไร แล้วปล่อยให้มีการแสดงออกได้อย่างเสรี แต่สภาพแวดล้อมของห้องเรียนเมืองไทย ยังมุ่งเน้นให้ท่องจำ ล่าสุดก็เป็นการท่องจำค่านิยม 12 ประการให้ขึ้นใจ
นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้จากการที่เด็กไทยสามารถวิจารณ์ สังเคราะห์และประเมินคุณค่าได้ แต่เอาจริงๆ แล้วสังคมไทยต้องการให้เยาวชนไทยทำเช่นนั้นได้จริงหรือ ตนพยายามจินตนาการว่ามีนักเรียนยกมือถามในห้องเรียนที่กำลังท่องจำค่านิยม 12 ประการว่า ทำไมหนูต้องรักประเทศด้วยคะอาจารย์ ในเมื่อนักการเมืองและบุคลากรของรัฐบาลพากันทุจริต
หรือไม่ก็เพื่อนของเธอตั้งคำถามต่อว่า ทำไมการที่ผมไม่นับถือศาสนา ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริงทำให้ผมกลายเป็นคนไม่ดีไปได้ หรืออาจจะมีคำถามว่า เรื่องเคารพผู้อาวุโสเนี่ยมันรวมไปถึงนักการเมืองและคนในรัฐบาลที่โกงกินหรือเปล่า หนูต้องไหว้พวกเขาด้วยไหม แต่นักเรียนเหล่านั้นมีเพียงในจินตนาการของแอนดรูว์ และในสภาวการณ์เช่นนี้ก็เหมาะสมแล้ว ตนไม่กล้าจะคิดว่านักเรียนแบบนั้นจะต้องเจอความทุกข์เข็ญอะไรบ้างถ้าถามออกไปเช่นนั้นจริงๆ
ขณะที่บทสรุปของแอนดรูว์ ก็คงไม่เป็นที่ถูกใจของผู้มีอำนาจและพวกอนุรักษนิยมทั้งหลายแน่ เพราะได้ยกเอากรณีของ เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นแบบอย่าง บางคนตราหน้าเนติวิทย์ว่าเป็นตัวสร้างปัญหา แต่นั่นคือสิ่งที่ประเทศไทยกำลังต้องการ ที่นี่ต้องการตัวปัญหาจำนวนมากที่มุ่งมั่นจะก่อปัญหา สร้างความปั่นป่วนให้กับระบบการศึกษาไทย ที่กำลังถูกประเทศอื่นในภูมิภาคแซงหน้าไปเรื่อยๆ
อาจจะฟังแล้วเจ็บ แต่คนประเภทเนติวิทย์นี่แหละที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั่นคือมุมความเห็นของแอนดรูว์ แต่เอาเข้าจริงอย่าไปไกลถึงขั้นวงการการศึกษาที่จะพัฒนาหรือยกระดับความรู้ ความสามารถของเยาวชนกันเลย อีแค่คนที่พูดหรือพวกที่คิดสิ่งเหล่านี้ ได้ก้าวข้ามความคร่ำครึหรือการเปิดใจให้กว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่างได้หรือเปล่า คำตอบที่ได้จะเป็นคำเฉลยของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่ามันแค่วาทกรรมทำให้ดูเท่ดูดีหรือคิดจริงทำจริงและหวังผลเลิศกันแน่