พาราสาวะถี
ยังโวยวายไม่เลิกหรือเรียกว่าไม่เลิกตีโพยตีพาย สำหรับ สมชัย ศรีสุทธิยากร ต่อการที่กกต.ทั้ง 5 จะถูกรีเซตจากมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยกกต.ของสนช.มีมติในเรื่องดังกล่าว ล่าสุด ออกมาตั้ง 4 คำถาม เข้าใจว่าน่าจะล้อไปกับ 4 คำถามของท่านผู้นำ แต่สำหรับสมชัยถามไปยังผู้ที่มีหน้าที่ในการยกร่างกฎหมาย
อรชุน
ยังโวยวายไม่เลิกหรือเรียกว่าไม่เลิกตีโพยตีพาย สำหรับ สมชัย ศรีสุทธิยากร ต่อการที่กกต.ทั้ง 5 จะถูกรีเซตจากมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยกกต.ของสนช.มีมติในเรื่องดังกล่าว ล่าสุด ออกมาตั้ง 4 คำถาม เข้าใจว่าน่าจะล้อไปกับ 4 คำถามของท่านผู้นำ แต่สำหรับสมชัยถามไปยังผู้ที่มีหน้าที่ในการยกร่างกฎหมาย
ในแต่ละคำถามนั้น เชื่อว่าคงจะมีคนมาช่วยตอบสมชัยแทนผู้ยกร่างกฎหมายกันล้นหลามแน่นอน คำถามแรกที่ว่า การออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังในเชิงที่เป็นโทษ เป็นไปตามหลักนิติธรรม และเคยมีมาในอดีตหรือไม่ ทั้งจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับสังคมนิติรัฐหรือไม่ ตรงนี้ตอบไม่ต้องคิดอะไรมาก เคยมีแล้วไงเรื่องกฎหมายย้อนหลังในทางเป็นโทษกรณีการยุบพรรคไทยรักไทยหลังรัฐประหารของคมช.นั่นไง
ครั้งนั้นไม่ใช่เฉพาะนักกฎหมายในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นทั้งโลกต่างงุนงงสงสัยว่าเขาใช้หลักอะไร เรียกได้ว่านักกฎหมายหรือครูบาอาจารย์ที่สอนด้านกฎหมายแทบจะเผาตำราทิ้งกันเลยทีเดียว ความจริงไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายย้อนหลังในทางเป็นโทษเท่านั้นที่ทำลายหลักนิติรัฐของประเทศไทย ประเภทไม่มีในข้อกฎหมายแต่ไปใช้พจนานุกรมมาตัดสินโทษก็มีมาแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่าคือตัดสินเรื่องใหญ่อย่างการยุบพรรคโดยยึดกระแสสังคม ณ เวลานั้นเป็นหลักไม่ได้คำนึงถึงตัวบทกฎหมาย ต่อกรณีการยุบ 3 พรรคคือ พลังประชาชน ชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันจากปากคำของอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เอง ดังนั้น การที่จะมาร้องแร่แห่กระเซอว่ามาร่างกฎหมายอย่างนี้ขัดหลักนิติรัฐ มันควรจะเรียกร้องมาก่อนหน้านั้นแล้วหรือเปล่า
เหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า บรรดาคนดีทั้งหลายแหล่ หากไม่โดนกับตัวเองก็มักจะมองเรื่องที่ผิดหลักการและความถูกต้องต่างๆเป็นสิ่งที่มีข้อยกเว้นได้ สำหรับบางพวกบางรายที่ตัวเองเห็นว่าใช้วิธีการไหนก็ได้มาจัดการ เพื่อจะได้พ้นไปจากการขวางหูขวางตา การไม่ชอบขี้หน้าของชนชั้นสูง โดยไม่แยแสว่าการกระทำเหล่านั้นมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
พอสมชัยมาตั้งคำถามแบบนี้เชื่อแน่ว่า คนมีบางคนบางพวกที่คงจะหัวร่อเย้ยหยัน ไอ้ที่ต้องเอียงเพราะทำการใหญ่หนนั้นมันไม่ช่วยอะไรเลยใช่หรือไม่ คำถามประการต่อมาที่ว่า การกล่าวอ้างถึงตำแหน่งที่รับผิดชอบสูง จำเป็นต้องใช้คนที่มีคุณสมบัติสูง ต้องให้ออกทั้งคณะ และถ้าคนเดิม 4 ใน 5 คน มีคุณสมบัติสูงครบถ้วน และผ่านการสรรหามาอย่างถูกต้อง เหตุใดจึงต้องให้ออก
ประเด็นนี้ก็เหมือนกับที่บอกไปนั่นแหละ ในเมื่อฝ่ายที่เขาจะเอาให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม มันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาฟังเหตุและผลใดๆ จะเรียกว่า 5 เสือกกต.ตกเป็นเหยื่อของอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือเปล่า ตรงนี้คงเดากันไม่ยาก มากไปกว่านั้นในฐานะคนพวกเดียวกัน ก็น่าจะรู้เป้าประสงค์กันเป็นอย่างดีว่า เซตซีโร่เพื่ออะไร
ข้อกังขาต่อมาที่บอกว่า รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งของกกต.เป็นไปแบบวาระเฉพาะตัว เช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ ดังนั้น ตลอดเวลาการดำรงตำแหน่งหากมีกกต.ออก ด้วยเหตุต่างๆ เช่น ครบ 70 ปี ตาย ลาออก หรือถูกถอดถอน ซึ่งคนใหม่ที่เข้ามาก็อยู่ต่อ 7 ปี ไม่เท่าวาระของคนเดิม ดังนั้น สภาพปลาสองน้ำจึงเป็นสภาพที่เกิดขึ้นโดยข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว โดยการอ้างว่า ต้องรีเซ็ตยกชุด เพราะหลีกเลี่ยงสภาพปลาสองน้ำ ควรออกมาจากปากผู้ร่างกฎหมายเองหรือไม่
ความจริงประเด็นนี้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ได้บอกไปแล้วว่า กรธ.ก็กังวลเรื่องสภาพปลาสองน้ำนี้อยู่เหมือนกัน แต่ไม่กล้าตัดสินใจ เมื่อคณะกรรมาธิการมีความกล้าหาญนั่นก็หมายความว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ คำถามนี้ถือว่ามีคนตอบแล้วซึ่งก็เป็นถึงประธานกรธ. ทว่าที่อยากจะสะกิดเตือนสมชัยก็คือ อย่าไปอ้างเรื่องรัฐธรรมนูญเก่าอีก เพราะปัจจุบันมันไม่ได้มีผลผูกพันใดๆแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น หากติดตามสถานการณ์บ้านเมืองมาโดยตลอด ก็จะเห็นได้ชัดว่า มีคนหลายคนที่ถูกดำเนินการด้วยกฎหมายที่ครอบจักรวาล แม้กระทั่งการยกเอาข้อบังคับในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่คณะรัฐประหารยกร่างขึ้นเองมาต่อสู้ยังไม่เป็นผล เมื่อผู้มีอำนาจต้องการที่จะให้เป็นอย่างนั้นเสียแล้วใครก็ย่อมที่จะมาขัดขวางหรือหักล้างไม่ได้
สุดท้ายการรีเซ็ตกกต. ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานสำหรับองค์กรอิสระอื่นๆ ดังนั้น อาจออกกฎหมายให้กรรมการองค์กรอิสระอื่นและศาลรัฐธรรมนูญ สามารถอยู่ต่อไปจนครบวาระ โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติที่สูงขึ้น ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่ง แปลว่า องค์กรเหล่านี้มีความสำคัญในการปฏิรูปการเมืองน้อยกว่ากกต.ใช้หรือไม่
การออกกฎหมายใหม่ที่ขัดหลักนิติธรรม ขาดตรรกะในเชิงเหตุผล กล่าวอ้างแบบขาดภูมิปัญญา และไม่เป็นบรรทัดฐานที่ดีสำหรับสังคมที่ปกครองโดยนิติรัฐ ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย บทสรุปเช่นนี้อยากให้สมชัยลองย้อนกลับไปทบทวนบทบาทของกกต. ในช่วงของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา การตีความเรื่องการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ่งองค์กรอย่างกกต.ได้วางหลักเกณฑ์ไว้นั้น ยึดโยงตรรกะเชิงเหตุผล และบนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด
นี่อาจจะเป็นกงเกวียนกำเกวียน ต้องไม่ลืมว่า องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง แต่มีความพยายามที่จะไม่อยากจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่ตัวเองมีอำนาจเต็มเหนือกว่ารัฐบาลรักษาการในเวลานั้น มันสะท้อนภาพของความไม่เอาไหนของคนที่กุมบังเหียนองค์กรนี้อยู่แล้ว มิหนำซ้ำ เมื่อมาถึงกระบวนการประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นวาระสำคัญของประเทศ กับทำตัวหัวหดหงอให้กับอำนาจที่กดทับ เมื่อไม่ได้รับใช้ประชาชนตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงแล้ว กรรมที่ได้กระทำต่อประชาชนมันจึงย้อนมาเอาคืน
ส่วนที่สมชัยบอกว่าถ้าตกเก้าอี้กกต.แล้วจะกลับไปทำมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยหรือพีเน็ตเหมือนเดิม เพื่อตรวจสอบและทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น ก็ถือเป็นหนทางที่คุ้นเคย แต่คำถามก็คือ เมื่อกลับไปแล้วความเชื่อถือจะยังคงเหมือนเดิมหรือไม่กับองค์กรแห่งนี้ เพราะผู้บริหารได้แสดงจุดยืนไปแล้วว่าตัวเองไม่ได้เป็นกลาง แล้วมันจะทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นได้อย่างไร