จีน กับ รอยร้าวข้ามแอตแลนติก
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติผู้ก่อมลพิษอันดับ 2 ของโลก จะถอนตัวออกจาก ความตกลงปารีส 2015 (ชื่อเต็มคือ ความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์) และให้เหตุผลว่า ข้อตกลงดังกล่าวโอนอ่อนให้จีน อินเดีย และยุโรปมากเกินไป โดยจะปล่อยให้นานาชาติต่อสู้กับปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยไม่มีอเมริกาเป็นผู้นำ ปฏิกิริยาของชาติผู้นำของโลกก็ออกมาต่างกันไป
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติผู้ก่อมลพิษอันดับ 2 ของโลก จะถอนตัวออกจาก ความตกลงปารีส 2015 (ชื่อเต็มคือ ความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์) และให้เหตุผลว่า ข้อตกลงดังกล่าวโอนอ่อนให้จีน อินเดีย และยุโรปมากเกินไป โดยจะปล่อยให้นานาชาติต่อสู้กับปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยไม่มีอเมริกาเป็นผู้นำ ปฏิกิริยาของชาติผู้นำของโลกก็ออกมาต่างกันไป
เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตที่สุดในยุโรป ได้ออกแถลงการณ์ร่วมวิจารณ์การตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯ พร้อมปัดข้อเสนอของ ทรัมป์ ที่ว่าอเมริกาอาจจะยอมเข้าร่วมข้อตกลงปารีสหากได้เงื่อนไขใหม่ๆ ที่ยุติธรรมมากกว่านี้
ประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาประณามทรัมป์ ว่า “คิดผิด” และยืนยันว่าปารีสจะปกป้องข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของโลก
สื่อเยอรมนีอย่าง เดอ สปีเกล เขียนบทบรรณาธิการว่า นี่คือ ชัยชนะของความโง่เขลา
ที่น่าสนใจคือจีน ซึ่งเป็นชาติที่ก่อมลพิษอันดับ 1 ของโลก ได้ให้ โฆษกหญิงกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาประกาศว่าจะยึดมั่นข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศหลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว และระบุว่า มันเป็นความรับผิดชอบที่จีนแบกรับในฐานะประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ และให้สำเร็จอย่างจริงจัง
นอกจากนั้น จีนยังระบุว่า ต้องการเสริมสร้างความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อผลักดันการเจรจาเกี่ยวกับมาตราต่างๆ ในข้อตกลงนี้และส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวแบบคาร์บอนต่ำ และยังกำลังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาดด้วย ในขณะที่ผู้นำประเทศกำลังพยายามกำจัดภาวะมลพิษสูงที่ปกคลุมเมืองใหญ่ๆ ในประเทศ
ที่แรงกว่านั้นคือ สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนระบุว่า การถอนตัวของวอชิงตันเป็นความถดถอยทั่วโลก
ปรากฏการณ์ดังกล่าว คือการโดดเดี่ยวตัวเองของสหรัฐฯ ก่อนที่จะถูกโดดเดี่ยวในเวลาต่อมา เป็นปฏิกิริยาปกติ ซึ่งทำให้คนทั่วโลกคิดถึงคำขวัญหาเสียงของทรัมป์เองที่ว่า “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ที่กลายเป็นเรื่องตลกไปเสียแล้ว
ที่ร้ายกว่านั้น พันธมิตรข้ามแอตแลนติก (Trans-Atlantic Atlantic) ที่สร้างกันยาวนานหลายทศวรรษระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรปตะวันตก ก็พลอยสั่นคลอนไปด้วย โดยความตกลงปารีสเป็น “ฟางเส้นแรก”
ความตกลงปารีส เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ความตกลงดังกล่าวเจรจากันในช่วงการประชุมภาคีสมาชิกครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้รับความเห็นชอบในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ที่ถือกันว่าเป็น “จุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์”
เป้าหมายของความตกลงปารีส มีสาระสำคัญคือ 1) ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 2) เพิ่มพูนความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยแนวทางที่ไม่เป็นภัยคุกคามต่อการผลิตอาหาร 3) ก่อให้เกิดการไหลเวียนของกระแสเงินทุนซึ่งสอดคล้องกับแนวทางไปสู่การพัฒนาที่ก่อก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำและคงทนต่อสภาพอากาศ
สาระสำคัญของความตกลงปารีส ไม่ได้เกิดขึ้นแบบอุดมคติทั้งหมด แต่มีรูปธรรมและแผนปฏิบัติการควบคู่ไปด้วย ซึ่งสมาชิกของภาคีตระหนักว่า การลดโลกร้อนไม่เพียงแก้ปัญหาในปันจุบันและอนาคตอันใกล้ แต่จะเร่งให้เกิดการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งใหม่ที่แตกต่างจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในอดีต หรือแม้กระทั่งการปฏิวัติโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศใน 30 ปีที่ผ่านมา
มุมมองของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี มองเห็นจีนเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในด้านการปฏิวัติเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ เพราะงบประมาณที่ทั้งจีนและเอกชนที่ทุ่มไปให้กับเทคโนโลยีด้านลดมลพิษโลก รวมทั้งพลังงานสะอาด (ทั้งซื้อและพัฒนาหรือดัดแปลง) ได้ก้าวหน้าไปรวดเร็วมาก ถึงขั้นไล่เลี่ยกับชาติตะวันตกแล้ว หากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเพิกเฉยหรือดูเบาในการเข้าสู่เทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ไป ก็เท่าเปิดกว้างให้จีนแซงหน้าเพื่อยึดครองความเหนือกว่าในอนาคต หรือเท่ากับปล่อยให้จีนกำอนาคตของโลกใต้อุ้งมือ
มุมมองดังกล่าว แม้จะแทรกไว้ด้วยเหตุผลสารพัด ว่ายุโรปตะวันตกต้องการความร่วมมือจากสหรัฐฯ อย่างมาก เพราะไม่สามารถทำโดยลำพังได้ เพราะการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอนาคตนี้ เป็นเป้าหมายที่ใหญ่ยิ่งกว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเสียอีก
เพียงแต่ทรัมป์กลับปฏิเสธที่จะมองในมุมดังกล่าว กลับเห็นว่า การทำความตกลงปารีส คือความเสียหายที่สหรัฐฯ ต้องแบกรับมากกว่าชาติอื่นๆ แม้กระทั่งการลงทุนก็ไม่ถือว่าคุ้มค่า
คำยืนยันท่าทีแบบตัดเยื่อใยของทรัมป์เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่ว่า “ผมได้รับเลือกมาจากพลเมืองในพิตต์สเบิร์ก ไม่ใช่ปารีส” บอกชัดเจน ก่อนที่สัปดาห์ต่อมา ทรัมป์จะประกาศถึงการถอนตัวออกจากความตกลงปารีสอย่างเป็นทางการ
การยอมรับของประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศสที่ว่า จากนี้ไป คงต้องยอมรับสภาพว่าจีนจะกลายเป็นผู้นำของเทคโนโลยีในการลดโลกร้อนอนาคตอย่างที่ขัดขวางได้ยาก ผลลัพธ์จากนี้ไป คือ ยุโรปไม่มีทางเลือกอื่น นั่นคือหันไปร่วมมือกับจีนเพื่อหา “สูตรแห่งชัยชนะร่วม” กัน
เป็นไปตามหลักการเก่าแก่ เมื่อเอาชนะไม่ได้ก็ยอมเป็นพวกเสียเลยจะดีกว่า
ยุทธศาสตร์โดดเดี่ยวสหรัฐฯ ของสหภาพยุโรป และจีน ดูเหมือนจะเริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างไม่เป็นทางการ จากการกลัดกระดุมผิดเม็ดของทรัมป์ เรื่องการถอนตัวจากความตกลงปารีส
คำปรารภของนางอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีที่ว่า ต่อไปนี้ ยุโรปจะต้องตัดสินชะตากรรมด้วยมือตัวเอง จึงมีความหายมากกว่าธรรมดา และเป็นมากว่าเรื่องโลกร้อน