พาราสาวะถี
ต้องตั้งการ์ดกันให้ดี ประเด็นว่าด้วยการเซตซีโร่กกต. 3 เสียงประสานไปในทิศทางเดียวกันว่าแก้ปัญหาปลาสองน้ำ ทั้ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีมือกฎหมายฝ่ายรัฐบาล มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ในฐานะคนยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และ ตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.
อรชุน
ต้องตั้งการ์ดกันให้ดี ประเด็นว่าด้วยการเซตซีโร่กกต. 3 เสียงประสานไปในทิศทางเดียวกันว่าแก้ปัญหาปลาสองน้ำ ทั้ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีมือกฎหมายฝ่ายรัฐบาล มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ในฐานะคนยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และ ตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.
เพราะเสียงที่สอดแทรกมาจากกรรมาธิการชุดเดียวกัน บวกกับคำยืนยันของ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ว่าข้อเสนอให้มีการเซตซีโร่กกต. มาจากกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนกรธ. ถ้าเป็นเช่นนั้นมันหมายความว่ามติที่ออกมามันน่าจะมีลับลบคมใน ขณะเดียวกันการออกมาสรรเสริญเยินยอคณะกรรมาธิการของมีชัยก็เป็นการแสดงบทบาทที่ไม่เนียนเอาเสียเลย
เหตุที่บอกว่าประธานกรธ.ตีบทไม่แตก เนื่องจากเมื่อไปพิจารณารายงานสรุปผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยกกต.ของสนช. ที่มี นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นประธาน ในเนื้อหาส่วนที่ 3 มีข้อมูลประกอบการพิจารณา ได้แก่ รายงานการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยกกต.ที่กรธ.ส่งให้สนช.เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา
พบว่า ในมาตรา 70 ของกฎหมายว่าด้วยกกต. มีประชาชนทั่วไปเสนอความเห็นต่อกรธ.ให้เซตซีโร่กกต.ทั้งชุด เพื่อเป็นการเริ่มต้นทำหน้าที่ใหม่พร้อมกัน แต่ผลการพิจารณาของกรธ.เห็นว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามมาตรา 70 ของร่างกฎหมายว่าด้วยกกต.เกี่ยวกับกับคุณสมบัติกกต. ขณะที่ความเห็นในมาตราเดียวกัน จากคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมืองของสปท. ที่มี เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ระบุว่า
เมื่อกฎหมายนี้ใช้บังคับแล้ว ให้กกต.ที่ยังอยู่ในตำแหน่งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และดำรงตำแหน่งต่อไป โดยมีวาระ 7 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ โดยผลการพิจารณาของกรธ.ระบุว่า สอดคล้องตามบทบัญญัติในมาตรา 70 แล้ว พิจารณาจากรายงานดังกล่าวแล้ว หมายความว่า กรธ.ออกลูกพลิกลิ้นโดยยืมมือคณะกรรมาธิการของสนช.มารับหน้าแทน
ด้วยเหตุนี้กระมัง คำตอบจากประธานสนช.ต่อคำถามที่ว่า สิ่งเหล่านี้จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัย แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นเมื่อเกมพลิกมาเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ว่า สุดท้ายอาจต้องเลือกวิธีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาหาทางออก มากกว่าที่จะไปใช้ช่องทางให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของฟากฝั่งกกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร คนเดิม ยังคงออกมาตั้งข้อสังเกตต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ตั้งปุจฉาเรื่องแก้ปัญหาปลาสองน้ำว่า ทุกที่ล้วนมีปลาสองน้ำ หากถามว่า ภาวะปลาสองน้ำ คือภาวะที่เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระ เช่น กกต.เพียงองค์กรเดียวหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะครบวาระ 5 คน ใน 9 คน ซึ่ง 5 คนใหม่ที่จะมา ก็มาภายใต้คุณสมบัติใหม่ นี่คือ ปลาสองน้ำ
ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช. หากยึดตามคุณสมบัติใหม่ จะมี ป.ป.ช.ปัจจุบันพ้นเก้าอี้ 8 ใน 9 คน จึงต้องสรรหามาใหม่ 8 คน เหลือคนเดิมเพียง 1 คน นี่คือปลาสองน้ำ ทุกองค์กรอิสระ วาระการดำรงตำแหน่งเป็นวาระเฉพาะตัว การเข้าและออกจึงไม่จำเป็นต้องพร้อมกัน นี่คือปลาสองน้ำ
ดังนั้น การทำงานให้ประสบความสำเร็จ จึงมิใช่เรื่องของมาด้วยคุณสมบัติ หรือ วาระการดำรงตำแหน่ง แต่อยู่ที่ความสามารถในการทำงานเป็นทีม กล้าตัดสินใจ และดำรงความเป็นอิสระ มิได้อยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายการเมือง การออกกฎหมายต้องคำนึงถึงหลักการ มิใช่คำนึงถึงตัวบุคคล ดังนั้นควรพูดให้ตรงว่า เป็นปลาสองน้ำ หรือ ออกกฎหมายสองมาตรฐาน
หากเป็นฝ่ายการเมืองวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ เชื่อแน่ว่าคนเขียนกฎหมายอย่างมีชัยจะต้องออกมาตอบโต้ด้วยท่วงทำนองที่ดุเดือด แต่นี่เป็นคนที่ได้ชื่อว่าพวกเดียวกัน เพียงแค่ความเห็นไม่ตรงกันในหลายเรื่องเท่านั้น ดูว่า ประธานกรธ.จะตอกกลับอย่างไร แต่หากย้อนไปดูบทสัมภาษณ์หลายครั้งหลายหนก็จะพบว่าเนติบริกรชั้นครูเกิดอาการขบเหลี่ยมไม่พอใจกกต.ชายเดี่ยวรายนี้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
ไม่ว่าเสียงวิจารณ์จะออกมาอย่างไร แต่มีเสียงหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งวิเคราะห์จากปมเซตซีโร่กกต.ไปจนถึงภาพรวมของการสืบทอดอำนาจ นั่นก็คือ “เสี่ยตือ”สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่บอกว่า การเซตซีโร่กกต.ไม่มีเหตุผลเลย นอกจากต้องการเอาคนของตัวเองมาดูแลการเลือกตั้ง ค่อนข้างชัดเจนเกินไป ทำให้มองเห็นได้ว่า อนาคตหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร
เห็นชัดๆกันอยู่แล้ว ทุกอย่างที่ปูทางมาถึงวันนี้ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นเจตนาชัดเจนว่าต้องการสืบทอดอำนาจ โดยอาศัยกลไกระบอบประชาธิปไตยเข้ามา การจับมือระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับกปปส. และการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งคำถาม 4 ข้อถึงการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้สะท้อนการอยากอยู่ต่อของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน อยากให้คนของตัวเองมาสานงานต่อเท่านั้นเอง
ส่วนประชาชนเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนี้ จะทำอะไรได้ เมื่อถูกล็อกด้วยรัฐธรรมนูญและกำลังจะถูกล็อกด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมือง กกต.และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ต่อให้ประชาชนแข็งขืนอย่างไร เลือกตั้งอย่างไร ท้ายที่สุด 250 เสียงวุฒิสภาก็เป็นต้นทุนอยู่แล้วและมีพรรคการเมืองที่ได้ประกาศเจตนารมณ์มาแล้วบางพรรคว่าเป็นอย่างไร ก็แทบจะพออยู่แล้ว เท่ากับเป็นการสนับสนุนอำนาจนอกระบบ ซึ่งในแง่นี้อารยประเทศเองก็มองออกว่า เป็นอย่างไร
บทสรุปของกรณีนี้จึงอยู่ที่จิตสำนึกของนักการเมืองกับพรรคการเมืองว่า เจตนารมณ์ทำการเมืองเพื่ออะไร ถ้าทำการเมืองเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าทำการเมืองเพื่อพรรคกูจะมาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง มันอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละพรรค ที่บางพวกอ้างและโหยหาการปฏิรูปการเมือง การเปลี่ยนแปลงการเมืองไปสู่ระบอบใหม่ ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้ก็เท่ากับว่าไม่ได้พัฒนาระบอบประชาธิปไตยใดๆแม้แต่น้อย