พาราสาวะถี

ความพยายามในการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันหมายถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือโครงการบัตรทอง อันเป็นที่ยอมรับและชื่นชมขององค์การสหประชาชาติและหลายประเทศทั่วโลกนั้น คงเป็นภาพสะท้อนของอคติหรือความเกลียดชังของกลุ่มคนดีที่มีต่อระบอบทักษิณ เพราะชัดเจนว่านี่คือโครงการอันเกิดมาจากความคิด นโยบายและการขับเคลื่อนโดย ทักษิณ ชินวัตร นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2544


อรชุน

ความพยายามในการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันหมายถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือโครงการบัตรทอง อันเป็นที่ยอมรับและชื่นชมขององค์การสหประชาชาติและหลายประเทศทั่วโลกนั้น คงเป็นภาพสะท้อนของอคติหรือความเกลียดชังของกลุ่มคนดีที่มีต่อระบอบทักษิณ เพราะชัดเจนว่านี่คือโครงการอันเกิดมาจากความคิด นโยบายและการขับเคลื่อนโดย ทักษิณ ชินวัตร นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี  2544

แม้ท่านผู้นำยืนยันว่าไม่ล้มไม่ยกเลิกโครงการนี้ก็ตาม แต่ความพยายามในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ก็ถูกตั้งคำถามว่า กำลังผลักดันให้อำนาจไปอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้เสนอร่างแก้ไข โดยภาคประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมและตรวจสอบ ส่วนที่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็เป็นไปในวงจำกัด ไม่ต่างจากการเปิดเวทีหลายๆ หนที่ผ่านมาของภาครัฐ ที่เป็นไปแบบรวบรัดตัดตอน สรุปเพื่อให้เป็นไปตามธงที่ตั้งไว้

ปุจฉาที่เกิดกับกรณีนี้ หากเป็นฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็ย่อมถูกตีตราให้เป็นเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง แต่เสียงจากคนกันเองนี่แหละที่ผู้มีอำนาจต้องตระหนัก เพราะคนเหล่านี้ต่างเคยเป็นผู้ร่วมเป่านกหวีด เป็นผู้ที่โบกมือให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อ้างความขัดแย้งทำการรัฐประหารได้อย่างชอบธรรม และบางคนก็ยังมีตำแหน่งแห่งหนจากการแต่งตั้งของคสช.เสียด้วย

ไม่ว่าจะเป็น นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คนที่ออกมายอมรับว่าคิดผิดที่ไปร่วมหัวจมท้ายกับม็อบมีเส้นไล่รัฐบาลที่ผ่านมา โดยหมอมงคลบอกว่า ต้องรีบเสนอเรื่องนี้ต่อไปเพื่อขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงการที่มีความพยายามจากผู้ให้บริการ พยายามเสนอแก้กฎหมายเพื่อให้อำนาจการตัดสินใจการบริหารจัดการสปสช.และงบประมาณไปอยู่ในอำนาจของตน

ถ้าพลเอกประยุทธ์ปล่อยไปจะเป็นการทำลายหลักการแยกผู้ซื้อบริการ คือสปสช.ที่ทำหน้าที่แทนประชาชน ออกจากผู้ให้บริการ เพราะหากเงินเอาไปใส่มือให้ผู้ให้บริการแล้วจะไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ผู้บริการจะควักกระเป๋าเอาเงินมาจ่ายค่าบริการให้ประชาชนอย่างเหมาะสม โดยหมอมงคลยืนยันว่า เรื่องนี้มีที่มาที่ไป

เมื่อครั้งวางหลักเกณฑ์โครงการ 30 บาท ปี 2540 ตัวเองเป็นผู้นำปฏิบัติตกลงกันว่า ถ้ากระทรวงสาธรณสุขกระจายอำนาจให้หน่วยบริการออกไป กระทรวงจะทำหน้าที่ซื้อบริการ สปสช.ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งขึ้นมา แต่สุดท้ายกระทรวงไม่ยอมปล่อยหน่วยบริการออกไป และต่างก็เห็นพ้องด้วยกันว่าต้องตั้งสปสช.ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนประชาชน

ดังนั้นกฎหมายที่แก้ไขหลายประเด็น เป็นการทำลายหลักการที่กล่าวมาแล้ว เช่น ตัดเงินเดือนไปให้กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มสัดส่วนกรรมการผู้ให้บริการ และให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน ลดกรรมการภาคประชาชนลง ดึงงบจัดซื้อยาราคาแพงและจำเป็นไปทำเอง ทั้งที่ประจักษ์ชัดว่า สปสช.บริหารงบก้อนนี้ประหยัดไปได้เป็นแสนล้านบาทในระยะไม่กี่ปี

ด้วยเหตุนี้ หมอมงคลจึงชี้นิ้วไปว่ากฎหมายที่กรรมการแก้ไขและกำลังจะเสนอให้พลเอกประยุทธ์นั้น พิจารณาเห็นว่ามีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนและใช้งบประมาณแผ่นดินที่ไม่เป็นธรรม ด้าน นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ สมาชิกสปท. ได้โพสต์บทความของ ด็อกเตอร์ปกป้อง จันวิทย์ ในเฟซบุ๊คติดตามการปฏิรูปประเทศกับหมอชูชัยด้วยข้อความที่น่าสนใจว่า

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งคนทั่วไปอาจจะคุ้นกับชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรคมากกว่า ไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เป็นการสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ช่วยเหลือทุกคนอย่างถ้วนทั่ว เพราะมันเปลี่ยนสถานะของบริการสาธารณสุขจากสินค้าในระบบตลาดที่คนมีเงินเท่านั้นที่เข้าถึงได้ หรือส่วนบุญในระบบสังคมสงเคราะห์ที่ต้องพกบัตร ต้องจน ต้องถูกแบ่งแยกกดต่ำ ต้องแสดงให้เห็นว่าตนด้อยกว่า จึงจะได้รับความช่วยเหลือ ให้เป็นสิทธิของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

เป็นสิทธิที่ไม่ต้องร้องขอ และไม่ต้องรอให้ใครอนุมัติก่อน ประเด็นนี้มีความสำคัญมากและถือเป็นจิตวิญญาณของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ว่าได้ เพราะมันเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวดิ่งที่หมอหรือโรงพยาบาลถือครองอำนาจเหนือกว่าผู้ป่วย มาเป็นความสัมพันธ์เชิงพันธสัญญาที่หมอหรือโรงพยาบาลต้องกลายมาเป็นผู้ให้บริการผู้ป่วยไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน มีการศึกษาสูงต่ำเพียงใด มันทำให้พลังอำนาจของหมอกับคนไข้เข้าใกล้กันมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็มีคำถามตัวโต มาจาก นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรักษาการเลขาธิการสปสช.คือ หลังแก้ไขแล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์มากขึ้นจริงหรือไม่ หน่วยบริการขนาดเล็กทั้งของรัฐและเอกชนในระบบนับหมื่นแห่งจะได้รับการแก้ไขปัญหาทางการเงินและกำลังคนที่ขาดแคลนจริงหรือไม่ รัฐบาลสามารถควบคุมงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้พอเหมาะผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพไม่ให้บานปลายเหมือนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการได้หรือไม่

แต่คำถามที่น่าสนใจ และน่าจะตรงกับความต้องการของฝ่ายรุกไล่เพื่อแก้ไขกฎหมายดังว่า นั่นก็คือ ยิ่งแก้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ยิ่งเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความขัดแย้งของคนในสังคม และสร้างปัญหาทางการเมืองมากขึ้นหรือเปล่า หากถามคนที่ถืออำนาจเบ็ดเสร็จก็จะมีคำตอบไปอีกแบบ แต่ถามคนที่เปิดใจกว้างและยอมรับในความแตกต่างและเห็นคุณค่าของความเท่าเทียมก็จะเป็นวิสัชนาที่คนบางคนบางพวกไม่อยากฟัง

วันวานได้ยินบิ๊กตู่บอกเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ว่ามีความสุข ที่เห็นราคาผลไม้ดี จึงฝากให้คนเหล่านั้นไปบอกคนที่ไม่มีความสุขด้วย ไม่รู้ว่าปากไวไปหรือเปล่า เห็นแค่คนไม่มีคนมีความสุขตรงหน้าก็ตีความได้ว่าคนไทยหรือเกษตรกรทั้งประเทศมีความสุขแล้วอย่างนั้นหรือ น่าจะลองให้คนใกล้ชิดไปสะกิดถามชาวสวนยางดูว่าเวลานี้มีความสุขหรือเปล่า เช่นเดียวกับชาวนาทั้งประเทศ นี่แหละปัญหาของคนเป็นผู้นำ ถ้าใจไม่กว้างมากพอก็จะพูดแต่สิ่งที่ทำให้ตัวเองสบายใจ แล้วมองคนที่ไม่สรรเสริญเยินยอเป็นพวกคนไม่ดีไปเสียหมด

Back to top button