2 ด้านของเครดิต

ทันทีที่มีข่าวร้ายเกิดขึ้นกับบริษัท เอ็นเนอร์ยี เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ขึ้นมาในกรณีผิดนัดชำระตั๋วสัญญาแลกเงินระยะสั้น หนึ่งในปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือ บริษัทจัดอันดับเครดิตอย่าง ทริส เรทติ้ง ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิตลง จากเดิม BBB- เป็น D โดยระบุว่าจะประเมินอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทดังกล่าวใหม่อีกครั้ง เมื่อบริษัทสามารถจ่ายคืนหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระอยู่ได้ครบเต็มจำนวนแล้ว


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ทันทีที่มีข่าวร้ายเกิดขึ้นกับบริษัท เอ็นเนอร์ยี เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ขึ้นมาในกรณีผิดนัดชำระตั๋วสัญญาแลกเงินระยะสั้น หนึ่งในปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือ บริษัทจัดอันดับเครดิตอย่าง ทริส เรทติ้ง ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิตลง จากเดิม BBB- เป็น D โดยระบุว่าจะประเมินอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทดังกล่าวใหม่อีกครั้ง เมื่อบริษัทสามารถจ่ายคืนหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระอยู่ได้ครบเต็มจำนวนแล้ว

ปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้ต้นทุนการเงินของ EARTH เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว  3.95% ต่อปี เพิ่มเป็น 7.5% ในทันที ชี้ให้เห็นว่า ความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่ “กินได้” และประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้

โดยเฉพาะในธุรกิจทางการเงินโลกปัจจุบันและอนาคต ความหมายของคำว่า เครดิต (ที่มีองค์ประกอบสำคัญคือ ความน่าเชื่อถือ และ ความเสี่ยง) นับวันจะมีความหมายที่แปลออกมาเป็นมูลค่าที่จับต้องได้มากขึ้นอย่างโดดเด่น

นิยามของเครดิตที่ “กินได้” นั้น มาจากรากเหง้าภาษาละติน ที่ดัดแปลงเป็นภาษาฝรั่งเศส และ อิตาเลียนในยุคก่อรากของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเท่านั้น ก่อนหน้าทุนนิยม คำว่าเครดิต มีความหมายในเชิงนามธรรมเสียมากกว่า

ในทุนนิยมยุโรปยุคแรก ตลาดเงินหรือตลาดสินเชื่อเงินกู้และตราสารหนี้ในคาบสมุทรอิตาลี เริ่มต้นยืมคำว่า creditium ที่ถูกดัดแปลงความหมายเป็นฝรั่งเศส crédit (ความไว้วางใจ) มาเป็นภาษาของนักการเงินว่า credito หมายถึงทุน (ในรูปของเงิน) ที่เจ้าของหรือบุคคลที่หนึ่งผู้มีเงินออม อนุญาตให้บุคคลที่สองนำไปปล่อยให้บุคคลที่สามที่ไม่มีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกับบุคคลที่หนึ่งยืมไปสร้างอนาคต โดยมีสิ่งตอบแทนกลับคืนในรูปของอัตราดอกเบี้ย

ยุโรปในยุคแรกของทุนนิยมนั้น การปล่อยเงินกู้โดยมีดอกเบี้ยตอบแทน จะทำให้บุคคลที่หนึ่ง และที่สองมีบาปหนักตามหลักศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก ดังนั้น บุคคลที่สองที่จะทำอาชีพนี้ จึงมักจะเป็นชาวยิวที่ถือเป็นคนนอกศาสนาคริสต์ และอาชีพปล่อยเงินกู้ หรือ สถาบันการเงินจึงกลายเป็น “อาชีพน่ารังเกียจ” โดยปริยาย

จากจุดเริ่มต้นของคำนิยาม คำว่าเครดิต จึงมีธรรมชาติที่มีลักษณะสองด้านมาจนถึงทุกวันนี้คือ ด้านหนึ่ง เป็นการสร้างโอกาสจากความไว้วางใจ หรือความน่าเชื่อถือจากการให้ผู้คนอื่นเอาเงินไปใช้ประโยชน์ เพราะคนที่จะได้รับเครดิตนั้น จะต้องน่าเชื่อถือด้วย ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ ความเสี่ยง เพราะคนที่ไว้วางใจผู้อื่นก่อหนี้อย่างไม่ระแวดระวัง อาจจะถูกย้อนรอยจากการถูกเบี้ยว ไม่ชำระคืนในภายหน้าได้

พัฒนาการของทุนนิยมที่ผ่านการลองผิดลองถูก ผ่านความรุ่งเรือง และวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่านานหลายศตวรรษ ทำให้ความไว้วางใจและความเสี่ยงมีการยกระดับให้เป็นความรู้ “เชิงวิทยาศาสตร์” มากขึ้น ด้วยการสร้างกติกาในการประเมินความน่าเชื่อถือ (โดยนัยคือการประเมินความเสี่ยงนั่นเอง) ในตัวผู้ที่จะขอสินเชื่อหรือขอใช้เงินที่ตนเองไม่ได้มีอยู่จากผู้มีเงินออม หรือสถาบันการเงินตัวแทน ผลลัพธ์คือ ความเสี่ยงและผลตอบแทน เปรียบเสมือนคู่แฝดอมตะที่ไม่สามารถแยกพิจาณาจากกันได้ในธุรกรรมทางการเงินทุกครั้ง

คำเตือนที่ปรากฏให้เห็นและได้ยินอยู่เสมอคือ การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว การไม่ลงทุน คือความเสี่ยงที่เลวร้ายสุด

การเรียนรู้เครื่องมือประเมินความเสี่ยง จึงเป็นหน้าที่หลักของผู้ที่ต้องการลงทุน ไม่เช่นนั้นก็เปรียบได้กับนักรบที่เข้าสู่สมรภูมิมือเปล่า หรือ พวก “จับเสือมือเปล่า” ซึ่งมีโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จผล

ในตลาดเงิน หรือตลาดสินเชื่อ อันดับเครดิตหรืออันดับความน่าเชื่อถือ หมายถึงความเห็นและมุมมองที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบของสถาบันจัดอันดับเครดิต (CRA) ต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่แค่กับความสามารถในการชำระหนี้ (ซึ่งทำโดยสถาบันจัดอันดับเครดิตที่เป็น national scale และ international scale ซึ่งไม่ยากต่อความเข้าใจ) อย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความเต็มใจในการชำระหนี้ (ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการประเมิน ต้องใช้ความเห็นและมุมมองของผู้ที่มีประสบการณ์ประกอบ) ด้วย

อันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทซึ่งวัดค่าจากความเสี่ยงสารพัด ถูกเชื่อมโยงเข้ากับต้นทุนทางการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยเป็นตัวแทน ซึ่งแปรผันตามอันดับเครดิต เพราะโดยหลักการทางการเงินแล้ว ความเสี่ยงเป็นสัดส่วนตรงกับผลตอบแทนเสมอ ตามสูตร “เสี่ยงสูง ดอกเบี้ยสูง เสี่ยงต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ

การป้องกันความเสี่ยง ก็เลยกลายเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องเรียนรู้กันต่อเนื่อง

ในระดับมหภาค ความเสี่ยงขอองประเทศ จะใช้วัดจากองค์ประกอบ 3 เสาหลักคือ ความเสี่ยงทางการเมือง ความเสี่ยงทางการเงิน และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ แต่ในระดับบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น เพียงแค่พิจารณาปัจจัยเสี่ยงจากการจัดอันดับเครดิตทางการเงิน ก็เพียงพอแล้ว

เพียงแต่ว่าบางครั้ง ราคาหุ้นของบางบริษัท ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวสัมพันธ์กับอันดับเครดิตแต่อย่างใด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะอันดับเครดิตที่จะสัมพันธ์กับราคาหุ้นแนบแน่นนั้น มักจะเกิดข้นกับบริษัทขนาดใหญ่ระดับบลูชิพเป็นสำคัญ บริษัทขนาดกลางหรือเล็ก ไม่จำเป็นเสมอไปต้องอยู่ภายใต้กติกาแบบเดียวกัน

เหตุผลที่ใช้อธิบายคือ พฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดเก็งกำไรอย่างตลาดหุ้น ไม่ได้มีความสมเหตุสมผลเสมอไป

Back to top button