เส้นทางนักลงทุน : รพ.เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเฮสนั่น!!
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 60 บอร์ดประกันสังคมมีมติปรับค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมรับผู้ป่วยกลุ่มประกันสังคม (โดยมีผลเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2560) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ปรับเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวจากเดิมปีละ 1,460 บาทต่อคน เป็น 1,500 บาทต่อคน
- ปรับค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคมีภาระเสี่ยงทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในจากเดิมปีละ 432 บาทต่อคน เป็น 447 บาทต่อคน
- ปรับค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW ≥ 2) จากเดิม 560 บาท เป็น 640 บาท
- กรณีรักษาผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกิน 1 ล้านบาท ได้เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ให้สถานพยาบาลในอัตราร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายที่เกิน 1 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด
นับเป็นข่าวดีต่อโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเป็นอย่างมาก ได้แก่ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH, บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG, บริษัท โรงพยาบาลราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ RJH, บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH และ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) หรือ VIBHA
ขณะที่สำนักงานประกันสังคมปรับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 5.5% ทั้งนี้ทำให้นักวิเคราะห์ บล.ธนชาตคำนวณผลประโยชน์หระทบต่อกำไรสุทธิของโรงพยาบาล โดยรายละเอียดอยู่ในตารางด้านล่าง
สำหรับผลประโยชน์ของสัดส่วนรายได้จากโครงการประกันสังคมที่โรงพยาบาลเกี่ยวข้องได้รับ โดยอันดับสูงสุดเป็นใครไม่ได้ LPH มีสัดส่วนรายได้จากโครงการประกันสังคมถึง 48% ต่อมาเป็น RJH มีสัดส่วนรายได้จากโครงการประกันสังคม 46.0% ขณะที่ CHG มีสัดส่วนรายได้จากโครงการประกันสังคม 36.0% ส่วน BCH มีสัดส่วนรายได้จากโครงการประกันสังคม 35.0% และ VIBHA มีสัดส่วนรายได้จากโครงการประกันสังคม 22.5%
ผลลัพธ์ที่ออกมาโดยโรงพยาบาลสองแห่งที่มีสัดส่วนรายได้จากโครงการประกันสังคมสูงสุด คือ LPH และ RJH นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีบทวิเคราะห์ มองการปรับค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมรับผู้ป่วยกลุ่มประกันสังคมจะเป็นผลบวกอย่างชัดเจน และจะช่วยสนับสนุนให้ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปทดสอบราคาเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ได้คำนวณไว้