พาราสาวะถี
เรียบร้อยโรงเรียนสนช.+กรธ. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติยกมือโหวตท่วมท้นให้เซตซีโร่กกต. พร้อมให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายลูกว่าด้วยกกต.ในวาระ 3 เป็นอันว่า ที่มีการวิจารณ์ว่าสนช.และกรธ.เกิดอาการขัดคอกันในปมดังว่าก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่โจทย์ใหญ่ยังอยู่ที่กกต.จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่
พาราสาวะถี:อรชุน
เรียบร้อยโรงเรียนสนช.+กรธ. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติยกมือโหวตท่วมท้นให้เซตซีโร่กกต. พร้อมให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายลูกว่าด้วยกกต.ในวาระ 3 เป็นอันว่า ที่มีการวิจารณ์ว่าสนช.และกรธ.เกิดอาการขัดคอกันในปมดังว่าก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่โจทย์ใหญ่ยังอยู่ที่กกต.จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่
แต่เท่าที่ฟัง ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.ก็ดูเหมือนจะปลงตก และมองเห็นอนาคตว่ายื่นร้องไปโดยเฉพาะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะมีประโยชน์ ดังนั้น จึงเกิดวลีทอง เขาไม่ให้ทำก็กลับบ้าน เมื่อเขาไม่ให้ทำหน้าที่ก็ต้องไป เขามีเหตุผลในการไม่เอาเรา เขาอยากได้คนใหม่ทั้งหมด ก่อนที่จะสรุปว่า ช่วงนี้คงทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ติดยึดกับหัวโขน ไม่ไปวันนี้ก็ต้องไปวันหน้า ถือว่าได้พักผ่อนและไปทำอะไรที่อยากจะทำ
ทว่าท่วงทำนองของประธานกกต. แตกต่างจากกกต.ชายเดี่ยว สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่หลังจากทราบมติของที่ประชุมสนช. ยังคงแสดงออกด้วยท่วงทำนองสุขุมคัมภีรภาพ ด้วยการประกาศยอมรับผลที่เป็นไป ส่วนจะโต้แย้งหรือไม่ขอเวลาหารือกับฝ่ายกฎหมายของกกต.ก่อน หลายคนก็นึกว่าสถานการณ์น่าจะเป็นไปอย่างสงบ
คล้อยหลังการให้สัมภาษณ์ไม่ถึง 24 ชั่วโมง สมชัยคนเดิมโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวระบุ ด้านมืดของการปฏิรูปการเลือกตั้ง เราอาจเคลิบเคลิ้มกับด้านสว่างเจิดจรัสของการปฏิรูปการเลือกตั้งด้วยการกำหนดคุณสมบัติที่เข้มขึ้นของผู้มาทำหน้าที่เป็นกกต. สร้างทีมกกต.ใหม่ที่เป็นปลาน้ำเดียว ภายใต้ข้ออ้างการมีโครงสร้างใหม่ และวลี “หากต้องการปฏิรูปต้องมีคนเจ็บบ้าง”
โดยหวังว่ากกต.ใหม่ที่มา จะเป็นกลาง มีความกล้าหาญ จริงจังกับหน้าที่ และทำให้การเลือกตั้งมีผลเป็นที่ยอมรับ ลดความขัดแย้งในสังคมและเป็นทางออกของประเทศ อีกด้านหนึ่งที่อาจต้องเตรียมใจและเตรียมสู้ของฝ่ายประชาชนคือ กลไกการสรรหากกต.ใหม่ มิใช่การสรรหาภายใต้ภาวะปกติของการมีส.ว.ที่มาจากประชาชน แต่เป็นสนช.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะผู้มีอำนาจ ซึ่งไม่ว่ากรรมการสรรหาจะเสนอชื่อใครมา สนช.ที่ปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภา อาจส่งคืนให้ไปสรรหามาใหม่จนกว่าจะเป็นที่พอใจ
ที่น่าสนใจมากกว่าคือบทส่งท้าย ที่เจ้าตัวบอกว่า หากคสช.คือคณะบุคคลที่เข้ามากอบกู้บ้านเมืองในยามวิกฤติ และพร้อมวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้ง คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากมีจุดหมายทางการเมืองในอนาคต และมีส่วนได้ส่วนเสียหากพรรคใดแพ้พรรคใดชนะ ปณิธานอันเจิดจรัสของกรธ. คณะกรรมาธิการและการลงมติของสนช.ในการเซตซีโร่กกต. จะเป็นตราบาปสำคัญกับการเมืองไทย ที่ไม่ต่างอะไรกับการลงมตินิรโทษกรรมสุดซอย ที่อาศัยอำนาจและเสียงข้างมากที่ฝ่ายตนมีกระทำการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
ทุกสิ่งที่พรั่งพรูออกมาจากสำบัดสำนวนของกกต.ชายเดี่ยว เหมือนเป็นการฉายภาพกลับไปถึงกระบวนการจัดการเลือกตั้งช่วงม็อบผู้ยิ่งใหญ่ชัตดาวน์กรุงเทพฯ หากครั้งนั้นกกต.ไม่ทำตัวเป็นคณะกรรมการไม่อยากจัดการเลือกตั้ง หากยึดโยงกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น จุดจบของตัวเองก็คงไม่เป็นเช่นนี้ แต่เมื่อมีการเลือกปฏิบัติและมีวาระซ่อนเร้นเสียแล้ว พฤติกรรมครั้งนั้นก็ถือเป็นการนำมาซึ่งการฮาราคีรีตัวเองในวันนี้
นั่นคือมุมของผู้ได้รับผลกระทบหรือเสียประโยชน์ แต่สำหรับฝ่ายประชาธิปไตย คนประชาธิปไตยอย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง มองว่า หลักการและเหตุผลที่ถูกต้องเรื่องนี้คือ กรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาจากการสรรหาและการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 บางส่วนและ รัฐธรรมนูญชั่วคราวบางส่วน รวมถึงตามคำสั่งของคสช. จึงต้องถือว่าผู้ดำรงตำแหน่งระหว่างนี้มาจากระบบกติกาอย่างอื่นที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน
การมีรัฐธรรมนูญใหม่ คือการวางระบบกติกาใหม่ เมื่อมีการกำหนดหลักเกณฑ์การสรรหาและการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ควรจัดให้มีการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการขององค์กรเหล่านี้ใหม่ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด การบอกว่ากรรมการองค์กรอิสระใดอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ ให้ดูว่าใครขาดคุณสมบัติ ดูการทำงานหรือดูความจำเป็นเหมาะสมนั้น เท่ากับเป็นการจงใจให้เกิดการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจทั้งหลาย ที่ไม่มีหลักเกณฑ์
ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หรือการต่อรองของผู้มีอำนาจเอง องค์กรเหล่านี้จะเสียความน่าเชื่อถือ ไม่เป็นกลาง และไม่เป็นอิสระ นอกจากนี้ หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นในอนาคต ก็จะเกิดความไม่ชัดเจนว่า ปัญหาเหล่านั้นมาจากระบบใด จากรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐธรรมนูญชั่วคราว คำสั่งคสช.หรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกันแน่
ส่วนเหตุผลที่ฝ่ายเกี่ยวข้องต้องการเซตซีโร่กกต. จาตุรนต์มองว่า อาจจะเป็นไปได้ว่ามีการกลัวว่ากกต.ชุดนี้จะไม่เออออห่อหมกกับผู้มีอำนาจ แต่ตรงนี้เป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของการชอบหรือไม่ชอบ ถ้าตัดตรงนี้ออกไป คือต้องเซตซีโร่ทุกองค์กร ไม่ต้องดูว่าผู้มีอำนาจพอหรือไม่พอใจการทำงานขององค์กรใด
กรณีที่เกิดขึ้นควรให้เป็นเรื่องของระบบใหม่ ที่ควรได้องค์กรตามระบบใหม่ แม้ว่าระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้ทำให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด แต่เมื่อมีระบบใหม่แล้ว ก็ควรให้ระบบใหม่ทำงาน และถ้าไม่ดีคนจะได้รู้ว่าระบบใหม่มีปัญหาอย่างไร ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ
ขณะเดียวกันที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ความเห็นเกี่ยวกับองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยิ่งมีรัฐธรรมนูญใหม่ ยิ่งต้องสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ โดยใช้หลักเกณฑ์ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ได้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ให้เรื่องต่างๆ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ควรให้คณะบุคคลที่ล้มเหลวในการรักษาความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว มาทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ดูจากทรงของผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย คงเป็นไปได้ยากที่จะไปแตะต้องคนและองค์กรดังว่า