หุ้นแมนฯยู  

ปีนี้ แฟนๆ ของทีมฟุตบอลอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เจ้าของฉายา ปีศาจแดง ได้มีความสุขกันทั่วหน้า แม้ว่าผลงานในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ จะได้แค่อันดับ 6 ก็ตาม เพราะมีความสมหวังด้านอื่นมาชดเชย โดยเฉพาะผลจากการใช้เวลาระยะเวลาแค่ 12 เดือนได้ 3 แชมป์ คือ เอฟเอ คอมมูนิตี ชิลด์, ลีก คัพ และ ยูโรป้า ลีก ภายใต้การคุมทัพของ โชเซ่ มูรินโญ ผู้จัดการชาวโปรตุกีสที่ค่าตัวแพงสุดในโลกยามนี้


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

ปีนี้ แฟนๆ ของทีมฟุตบอลอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เจ้าของฉายา ปีศาจแดง ได้มีความสุขกันทั่วหน้า แม้ว่าผลงานในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ จะได้แค่อันดับ 6 ก็ตาม เพราะมีความสมหวังด้านอื่นมาชดเชย โดยเฉพาะผลจากการใช้เวลาระยะเวลาแค่ 12 เดือนได้ 3 แชมป์ คือ เอฟเอ คอมมูนิตี ชิลด์, ลีก คัพ และ ยูโรป้า ลีก ภายใต้การคุมทัพของ โชเซ่ มูรินโญ ผู้จัดการชาวโปรตุกีสที่ค่าตัวแพงสุดในโลกยามนี้

โดยเฉพาะถ้วยหลังสุด ที่ถือว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ที่ได้แชมป์ครบทุกถ้วยในยุโรปแล้ว ยังทำให้ฤดูกาลถัดไปนี้ สโมสรสามารถคว้าตั๋วเข้าไปแข่งขัน ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่มปีหน้าแบบอัตโนมัติ จะทำให้กลับขึ้นไปยืนบนแถวหน้าในยุโรปได้อีกครั้ง หลังจากแย่ๆ มา 3 ปีรวด ในยุคถ่ายเลือดใหม่ของหลังจากอดีตผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่ เซอร์ อเล็กซ เฟอร์กูสัน ต้องจากไป

ที่น่าสนใจก็คือ นอกจากได้รางวัลใหญ่กลับมาประดับตู้รางวัลเพิ่มเติม ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ราคาหุ้นของสโมสร (รหัส MANU) ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (New York Stock Exchange) ของสหรัฐฯ ก็เพิ่งพุ่งทำนิวไฮที่ระดับแถวๆ 18.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น นับแต่เข้าจดทะเบียนมาแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน

ผลของการที่ราคาพุ่งทำนิวไฮ (ก่อนจะย่อตัวลงมาล่าสุด) ที่สวนทางนักวิเคราะห์ที่หั่นราคาเป้าหมายลงเหลือแค่ 14 ดอลลาร์สหรัฐก่อนหน้าเดือนมิถุนายนไม่กี่วัน ทำให้ผลการจัดอันดับทีมสโมสรกีฬาฟุตบอลและกีฬาอาชีพทุกชนิด ปรากฏมูลค่าของทีมขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างชนิดทิ้งห่างคู่แข่ง ของ 3 สถาบันพร้อมกัน ซึ่งยืนยันชัดว่า ไม่ได้เป็นรางวัลแบบเฮงซวย

ความสำเร็จของทีมในสนามแข่งขันแม้จะยังไม่ถึงที่สุด แต่สามารถทำให้มูลค่าทางธุรกิจของสโมสรพุ่งขึ้นแรง มีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือ การที่ทีมนี้ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน 2 แห่ง คือ  London Stock Exchange (ค.ศ.1991) และ  New York Stock Exchange (ค.ศ.2012)

ความสามารถผสานความสำเร็จทางการแข่งขันในสนาม ให้เป็นตราสินค้าที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงอย่างน่าอิจฉา ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ หากขาดปัจจัยแวดล้อมสนับสนุน

แบรนด์ ไฟแนนซ์ บริษัทที่ปรึกษาการเงิน เผยผลสำรวจมูลค่าทีมสโมสร “แบรนด์ ฟุตบอล ไฟแนนซ์ เซอร์เวย์” ล่าสุด แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทวงบัลลังก์อันดับ 1 คืนมาแบบทบต้นทบดอก ด้วยมูลค่าแบรนด์ของทีมกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 63% โดยทีมสโมสรจากอังกฤษพาเหรดติดท็อปเทนเพียบ ทั้ง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, อาร์เซน่อล, ลิเวอร์พูล และ สเปอร์ส ส่วน บาร์เซโลน่า โคตรทีมแห่งยุค อยู่แค่ที่ 11 เท่านั้น

กุญแจความสำเร็จที่ แบรนด์ ไฟแนนซ์ ระบุถึงเบื้องหลังว่า มาจากการสร้างสรรค์จัดการของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด เจ้าของฉายาใหม่ “คริสเตียโน โรนัลโด้ ในโลกการตลาดของฟุตบอล” สามารถใช้การสร้างฐานแฟนบอลทั่วโลก และสัญญากับผู้สนับสนุนในตัวเลข และมูลค่าที่ไร้คู่แข่ง

วู้ดเวิร์ด นำ “ปีศาจแดง” เซ็นสัญญากับ เชฟโรเล็ต เป็นสปอนเซอร์หน้าอก แทน เอออน ด้วยมูลค่าปีละ 47 ล้านปอนด์ (ราว 2,350 ล้านบาท) มากกว่าเดิม 2 เท่า นอกจากนี้ยังเซ็นสัญญากับ ADIDAS แทน ไนกี้ มูลค่า 750 ล้านปอนด์ (37,500 ล้านบาท) ระยะเวลา 10 ปี มากกว่าเดิม 3 เท่า แล้วยังมีรายได้เพิ่มจากลิขสิทธิพรีเมียร์ลีกครั้งใหม่กว่า 5 พันล้านปอนด์ใน 4 ปี และกลายเป็นทีมที่มีรายได้สูงสุดมาตั้งแต่ฤดูกาล 2015-2016 ทั้งที่ได้แค่แชมป์FA Cup เท่านั้น

ทางด้าน Forbes นิตยสารชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ประกาศผลการจัดอันดับสโมสรฟุตบอลโลกปีล่าสุด ให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขึ้นมาครองตำแหน่งสโมสรที่มีมูลค่าทางการตลาดมากที่สุดของโลก จำนวน 2,860 ล้านปอนด์ หรือราว 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.25 แสนล้านบาท) เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่กลับมาครองบัลลังก์นี้ โดยมูลค่ากระโดดขึ้นมาจากระดับ 2,030 ล้านปอนด์ในฤดูกาลแข่งขัน 2015-2016 ที่ผ่านมา

ขณะที่ บาร์เซโลน่า ยอดทีมของสเปน รั้งอันดับ 2 มูลค่า 2,820 ล้านปอนด์ ส่วน เรอัล มาดริด ที่เพิ่งคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก สมัยที่ 12 ซึ่งครองบัลลังก์มานาน 4 ปีติด หล่นมาอยู่ที่ 3 มูลค่า 2,770 ล้านปอนด์ และ บาเยิร์น มิวนิก รั้งอันดับ 4 มูลค่า 2.710 ล้านปอนด์

ฟอร์บส์ ยังเทียบว่า แมนฯยู เป็นทีมกีฬาทีมแรกที่มีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ใหญ่กว่าทีมอเมริกันฟุตบอลจากสหรัฐฯ อย่าง ดัลลัส คาวบอยส์ ที่มีมูลค่าการตลาดแค่ 2.1 พันล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเพราะราคาหุ้นในสองตลาดที่เทรดอยู่ของยอดทีมแห่งนี้พุ่งขึ้น ก็ฉุดให้มูลค่าทางการตลาดของทีมขึ้นไป

Forbes ระบุว่า แม้รายได้ของทีมจะลดลงในไตรมาสแรก เนื่องจากรายได้จากทีวีลดลง แต่การบรรลุข้อตกลงให้ไชน่า คอนสตรัคชั่น แบงก์ และบริษัทคันไซของญี่ปุ่น เป็นสปอนเซอร์ ทำให้แนวโน้มรายได้จะพุ่งในฤดู 2017-2018 ชัดเจน ซึ่งคาดว่า จะมีผลการแข่งขันจะเป็นใจให้ด้วย จากความคึกคักในตลาดซื้อขายนักเตะปีนี้

ทางด้านมูลค่าทางการเงิน ผลการสำรวจของบริษัทบัญชีชื่อดังระดับโลก KPMG ล่าสุด พบว่า แมนฯยู แซงขึ้นไปเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก จากปัจจัยผลประกอบการทางด้านการเงินของ 39 ทีมฟุตบอลในยุโรป โดยดูจากความนิยมทางโซเชียลมีเดียด้วย จากราคาประเมินมูลค่ามากกว่า 3,100 ล้านยูโร หรือ 2,700 ล้านปอนด์ (เทียบกับที่ตระกูลเกลเซอร์ซื้อมาในราคาแค่ 880 ล้านปอนด์เมื่อ 12 ปีก่อน) แซงหน้าห่างทีมมหาอำนาจลูกหนังของสเปนอย่าง เรอัล มาดริด ซึ่งรั้งที่ 2 กับ บาร์เซโลน่า รั้งที่ 3 ตามลำดับ                ความสำเร็จทางการตลาดและการเงินจากบูรณาการของความสำเร็จในการสร้างความยืดหยุ่นในมูลค่าทางการตลาดแลการเงิน 5 ด้านของการบริหารสโมสรร่วมสมัยที่ไม่ได้มาจากแค่ 1) การซื้อขายนักเตะเพียง แต่ยังมาจากองค์ประกอบทางการตลาดหลายด้าน ได้แก่ 2) รายได้จากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน 3) รายได้จากผู้สนับสนุนทางการตลาด 4) รายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ หรือเน็ต (ที่นับวันจะยิ่งทำกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ) หรือเครือข่ายโทรคมนาคมอื่นๆ และ 5) รายได้จากการขายสินค้าที่ระลึกจากแฟรนไชส์ร้านค้าทั่วโลก

หลายคนอาจอ้างว่า การมาของโชเซ่ มูรินโญ่ แค่ปีเดียว สามารถทำให้ทีมยกระดับมูลค่ามาได้ถึงขนาดนี้ แต่นั่นถูกเพียงแค่ส่วนเดียว เพราะ หากทีมผู้บริหารชั้นบนที่สูงขึ้นกว่าตัวผู้จัดการทีมที่รับผิดชอบผลการแข่งขันอยู่ในสนาม ไม่ยอมรับความยืดหยุ่นของการสร้างแบรนด์ที่เกิดจากการผสมผสานหลายปัจจัยเข้าด้วยกันแล้ว …ก็คงไม่มีวันนี้

โดยเฉพาะคนที่ถือหุ้นใหญ่อย่างตระกูลเกลเซอร์ ที่กู้เงินเข้ามาลงทุนแบบ LBO และใช้วิศวกรรมการเงินหลายรูปแบบ และคัดเลือกกรรมการบริหารอย่างเหนือชั้นจนมูลค่าทีมในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.2 เท่า หรือ 320%

Back to top button