ของเล่นในกระบะทราย
วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ทำการเผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเลขที่ อนธ.13/2560 เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับบทนิยามการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ โดยเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจแสดงความคิดเห็น ส่งความเห็นหรือข้อเสนอแนะกลับไปให้สำนักงานภายใน วันที่ 21 มิถุนายนนี้
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ทำการเผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเลขที่ อนธ.13/2560 เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับบทนิยามการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ โดยเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจแสดงความคิดเห็น ส่งความเห็นหรือข้อเสนอแนะกลับไปให้สำนักงานภายใน วันที่ 21 มิถุนายนนี้
จุดหมายสำคัญของการแก้ไขร่างกฎมายคือ การแก้ไข มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่าด้วย ธุรกรรมเกี่ยวกับ 1) การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 2) การค้าหลักทรัพย์ 3) การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (อันเดอร์ไรเตอร์) และ 4) การจัดการกองทุนรวม
เจตนาของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว คือการปิดทางให้ธุรกิจขนาดเล็กที่เรียกว่า ฟินเทค สามารถทำธุรกรรมให้บริการทางการเงินในตลาดทุนได้กว้างขวางขึ้น นอกเหนือจากข้อกำหนดเดิมที่ให้ทำได้แค่ ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ปรึกษาการลงทุน (IA) และการจัดการกองทุนส่วนบุคคลเท่านั้น
ก.ล.ต.ให้เหตุผลว่า ต้องการเปิดพื้นที่เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ ตามโครงการ SEC Regulatory Sandbox ที่ได้เริ่มดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมปีนี้เป็นต้นมา
ก้าวย่างของ ก.ล.ต.ถือเป็นอีกเส้นทางหนึ่งในการยกระดับธุรกิจฟินเทคที่หลายคนเชื่อว่าจะมาแรงในระยะยาว แม้ว่า คำนิยามของธุรกิจนี้ยังคลุมเครืออย่างมาก เป็นการส่งเสริมคู่ขนานไปกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีโครงการ FinTech Regulatory Sandbox เช่นเดียวกัน ภายใต้ชื่อเรียกไพเราะเพราะพริ้งว่า ศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการการเงินในตลาดเงิน ตามประกาศแนวปฏิบัติ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 (ภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนตุลาคม 2559)
ไม่มีใครรู้ชัดว่า ความพยายามของ ธปท. และ ก.ล.ต. ในการส่งเสริมธุรกิจฟินเทคนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติอายุ 20 ปี ของ คสช. หรือไม่ แต่เอาเป็นว่า โครงการดังกล่าวมีการร่วมรับรู้และผลักดันอย่างเอาจริงเอาจังจากหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลและออกแบบตลาดเงิน-ตลาดทุนเป็นระบบ จนถึงขั้นสนับสนุนให้เอกชนเริ่มการจัดตั้ง Thai FinTech Club (ชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย) โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีคลัง เป็นหัวแรงหลักในการขับเคลื่อน เพื่อเป้าหมาย ยกฐานะเป็น National FinTech Sandbox (ศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ) ในอนาคต
ในกรณีของ ธปท. ได้กำหนดเงื่อนไขเพื่อหาผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาร่วมโครงการไปบางส่วนแล้ว โดยกำหนดแผน 3 ขั้นออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ ธปท. พิจารณาคัดสรร เพื่อส่งเสริมในระยะต่อไป โดยกำหนดแบ่งผู้เล่น (ผู้ประกอบการ) เป็น 3 ประเภท 1) สถาบันการเงินปกติที่สนใจจะดำเนินการ 2) FinTech ที่มีความพร้อมทั้งด้านการเงิน มีฐานข้อมูล สามารถให้บริการ ประชาชนในวงกว้าง และ 3) FinTech ขนาดเล็กที่ยังอาจจะต้องการคำชี้แนะหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ บทบาทของ ธปท. ต่อแต่ละกลุ่มจะต่างกันไป โดยส่วนที่มีต่อสถาบันการเงิน จะพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่ให้เหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ส่วนบทบาทกับ FinTech กลุ่มที่สอง ธปท. จะให้คำปรึกษา ชี้แจง และพิจาณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือกับสถาบันการเงินมากขึ้น ขณะที่กลุ่มสุดท้าย ช่วงเริ่มต้นอาจจะเข้าร่วมในลักษณะเป็นสมาชิกกับสมาคม FinTech เพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจธุรกิจ จนมีความพร้อมเพียงพอจนสามารถเข้ามายัง Sandbox ในภายหลัง
กรณีของ ก.ล.ต.นั้น ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการ SEC Sandbox แต่ก็เข้าใจว่าน่าจะอนุโลมตามแนวทางของ ธปท. เช่นกัน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ก้าวย่างของ ธปท. และ ก.ล.ต.นั้น เป็นการดำเนินการอย่าง “ลองถูกลองผิด” เพราะจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ คำนิยามของ ฟินเทค (ที่ย่อมาจาก Financial technology ซึ่งในอดีตใช้กับธุรกรรมในด้านประกันภัย และการบริหารความเสี่ยง) มีความคลุมเครือและหลากหลายอย่างมาก เพียงแค่คำนิยามกว้างๆ ว่าเป็น “อุตสาหกรรมบริการทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมมาสร้างบริการทางการเงินที่แปลกออกไปจากสถาบันการเงินแบบจารีต” ยังไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจ
ผู้รู้ในวงการ ยอมรับว่า แนวความคิดเรื่อง FinTech Regulation Sandbox ในโลกนี้ ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในบรรดาผู้กำกับดูแลกติกา แต่ตัวเลขจากนิตยสาร Forbes ก็ยังระบุว่า ฟินเทคเติบโตอย่างรวดเร็วมากท่ามกลางความคลุมเครือในหลายปีมานี้ จากมูลค่ารวมทั่วโลกที่ระดับ 930 ล้านดอลลาร์ ใน ค.ศ. 2008 มาเป็น 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีค.ศ. 2014 โดยเฉพาะในอังกฤษมีพนักงานในธุรกิจนี้มากถึง 40% ของการจ้างงานทั้งหมดในซิตี้ ออฟ ลอนดอน
ส่วนในเอเชียนั้น ฮ่องกงมีการเปิดตลาดนี้ขึ้นมาเมื่อ 2 ปีเศษเท่านั้น และปีที่แล้วสิงคโปร์ก็เริ่มต้นส่งเสริมให้มีขึ้น ถือว่ายังอยู่ในขั้นทดลอง
มีแต่ที่เยอรมนีเท่านั้นที่ยังคงถือว่าธุรกิจฟินเทค ไม่ควรได้รับการสนับสนุนด้วยเหตุผลหลายประการคือ 1) ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลที่อาจจะถูกลักลอบ ขโมย หรือโจมตีได้ง่ายโดยพวกแฮกเกอร์ 2) การใช้ข้อมูลที่อาจจะละเมิดความลับลูกค้าได้ง่าย ในกรณีที่มีการเทกโอเวอร์กิจการกันในอนาคต อาจจะทำลายอุตสาหกรรมนี้ได้รวดเร็ว 3) การทำการตลาดเพื่อแข่งขันกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ จะทำให้พวกฟินเทคขนาดเล็กอยู่รอดยาก 4) จะหาคณะกรรมการคัดสรรที่มี “มุมมองที่เป็นกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย” เพื่อนำผู้ประกอบการมาทดสอบใน Sandbox มาจากไหน ที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ
บนความคลุมเครือนี้ มีคำถามว่า กระบวนการส่งเสริมธุรกิจฟินเทคของไทยที่ ธปท. และ ก.ล.ต.กำลังดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจังนี้ จะเป็นแค่สนามเด็กเล่นของเหล่าผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ หรือ เป็นอนาคตอันเรืองรองกันแน่
ยังไม่มีคำตอบชัดเจนในขณะนี้