พาราสาวะถี
๑๑แนวโน้มของการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยกกต.มีความเป็นไปได้สูง เหตุผลหนึ่งมาจากข้อสรุปของกกต.เห็นว่ามีข้อขัดแย้งเบื้องต้น 2 ประเด็นคือ เรื่องอำนาจที่กกต.คนเดียวสามารถระงับยับยั้งได้หากพบการทุจริตในหน่วยเลือกตั้งและสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ และการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กฎหมายได้มอบหมายให้หน่วยงานอื่นจัดการเลือกตั้งภายใต้การกำกับดูแลของกกต. ขณะที่ปมว่าด้วยมาตรา 70 กรณีคุณสมบัติกกต.หรือการถูกเซตซีโร่นั้น ยังไม่ได้พิจารณา
อรชุน
แนวโน้มของการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยกกต.มีความเป็นไปได้สูง เหตุผลหนึ่งมาจากข้อสรุปของกกต.เห็นว่ามีข้อขัดแย้งเบื้องต้น 2 ประเด็นคือ เรื่องอำนาจที่กกต.คนเดียวสามารถระงับยับยั้งได้หากพบการทุจริตในหน่วยเลือกตั้งและสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ และการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กฎหมายได้มอบหมายให้หน่วยงานอื่นจัดการเลือกตั้งภายใต้การกำกับดูแลของกกต. ขณะที่ปมว่าด้วยมาตรา 70 กรณีคุณสมบัติกกต.หรือการถูกเซตซีโร่นั้น ยังไม่ได้พิจารณา
ส่วนแนวโน้มที่จะถูกนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ยังเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เหตุเพราะต้องมีผู้ร้องว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อดูจากกระบวนการหลังการพิจารณาร่างกฎหมายของสนช.แล้วเสร็จที่จะต้องส่งร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระแห่งนั้นพิจารณา ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
๑๑นั่นเป็นเพราะกรธ.ในฐานะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธุ์ ยืนยันหนักแน่นปมเซตซีโร่กกต.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นต่างจากนี้นั่นหมายความรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้น่าจะมีปัญหาตามมาด้วย เนื่องจากขนาดผู้ร่างยืนยันเจตนารมณ์ในการเขียนเนื้อหาดังกล่าวไปแล้ว แต่ผู้วินิจฉัยยังเห็นต่าง นั่นแสดงให้เห็นว่า กฎหมายอีกหลายมาตราที่มีการทักท้วงก่อนหน้าก็น่าจะมีเรื่องให้ต้องชี้ขาดกันตามมาด้วย
เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่น่าจะมีความเห็นต่าง อีกฟากฝั่งอย่างกกต.จากที่ประชุมของคณะที่ปรึกษากฎหมายมีทั้งที่เห็นว่าขัดแย้งกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและเห็นว่าไม่ขัด ฝ่ายที่เห็นว่าขัดแย้งยกเหตุผลว่า การแก้ไขมาตรา 70 ให้เซตซีโร่กกต.นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมสำหรับกกต.ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญใหม่ อีกทั้งก่อนหน้านี้ตามร่างเดิมของกรธ. ก็ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้พิจารณา หากใครมีคุณสมบัติครบก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แตกต่างจากการแก้ไขใหม่ที่ให้โละทิ้งทั้งหมด
ส่วนคณะที่ปรึกษากฎหมายกกต.ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมองว่า การเซตซีโร่กกต.เป็นเรื่องของการออกกฎหมาย เพราะไม่ได้เป็นกฎหมายย้อนหลังและไม่ใช่เรื่องสิทธิของประชาชน เป็นเรื่องตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล การที่กกต.ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามร่างกฎหมายนี้และไม่สามารถกลับมาสมัครเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้อีกก็ไม่ถือว่าถูกจำกัดสิทธิ
เนื่องจากเป็นเรื่องตำแหน่งของรัฐ ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เพราะสิทธิในฐานะประชาชนไม่ได้เสียไป ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งกกต.หรือรัฐมนตรีย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ไม่มีใครมาอ้างสิทธิได้ ส่วนการออกกฎหมายแบบนี้จะมีความเหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นภาพอย่างนี้จึงแทบที่จะปิดประตูตายไปได้เลยสำหรับการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
จึงเหลือเพียงช่องทางการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ซึ่งในประเด็นนี้จากการประเมินท่าทีของมีชัยล่าสุดน่าจะเป็นทางออกที่ควรจะเป็น จากเดิมที่ประกาศกร้าวหากตั้งกรรมาธิการร่วมกกต.ก็จะเป็นเพียงแค่เสียงส่วนน้อย เพราะเป็นเพียงแค่ผู้ให้ความเห็นเท่านั้น
แต่วันวานกลับบอกว่า สัดส่วนของกกต.ในกรรมาธิการร่วมที่มีเพียง 1 คน ขณะที่สัดส่วนของกรธ.และสนช.มีฝ่ายละ 5 คน ไม่ถือว่าน้อยเกินไป เพราะตนมองเรื่องนี้เป็นการคุยกันด้วยเหตุผลไม่ใช่ยกพวกตะลุมบอนกัน หากอีกฝ่ายมีเหตุผลก็สามารถปรับแก้ได้ ทั้งนี้ ต้องดูในรายละเอียดที่กกต.เสนอมาว่ามีประเด็นใดบ้าง
ชัดเจนว่านี่คือแนวทางประนีประนอม อย่างน้อยก็มีช่องทางให้กกต.ได้หายใจ ได้มีโอกาสให้ประชาชนเห็นว่าทุกอย่างได้เดินไปตามกระบวนการจนสุดทางแล้ว แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าเมื่อแป๊ะเขาต้องการอย่างไรแล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น ใครก็ตามถึงจะไม่ได้อยู่ในองคาพยพแม่น้ำ 5 นาย ไม่ควรที่จะแสดงท่าทีเหาะเกินลงกาอย่างที่ วิษณุ เครืองาม ได้สะกิดเตือนไว้เมื่อสองปีก่อน
ผนวกเข้ากับการยืนยันของ 2 เนติบริกรทั้งมีชัยและวิษณุ ก็ย้ำหนักแน่น ต่อให้หลังการตั้งกรรมาธิการร่วมแล้วมีผลให้ที่ประชุมสนช.โหวตให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไปแล้วต้องไปยกร่างกันใหม่ ก็ไม่ส่งผลต่อโรดแมปการเลือกตั้ง เนื่องจากกระบวนการตั้งต้นและสิ้นสุดทั้งหมดจะอยู่ในกรอบตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ทุกประการ
นั่นเท่ากับว่า เป็นการอธิบายถึงกระบวนการที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดไม่ได้มีขั้นตอนใดที่ส่อเจตนาว่าจะมีการยื้อหรือดึงเวลาเพื่อทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป ขณะเดียวกันร่างกฎหมายที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งอีกประการอย่างร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองก็ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาและความเห็นชอบจากที่ประชุมสนช.เมื่อวานนี้
หมายความว่า หลังการพิจารณาทั้งหมดหากมีข้อโต้แย้งและต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ทั้งหมดจะดำเนินการได้ภายในระยะเวลาตามกรอบและเป็นไปอย่างรวดเร็ว หากไม่มีอะไรให้สะดุดก็หมายความว่า เราน่าจะได้เห็นความคืบหน้าของร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์นั่นก็คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.
อย่างไรก็ตาม บนความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ที่หมายมั่นปั้นมือกันว่าทุกอย่างจะเดินไปตามโรดแมป บางทีอาจต้องรอผลจากการตอบ 4 คำถามท่านผู้นำของประชาชนทั่วประเทศเสียก่อน เพราะเวลาผ่านไปเกือบสัปดาห์ ปรากฏว่ามีคนมาแสดงความเห็นแค่หลักหมื่นไม่ถึงแสน ตรงนี้มันชวนให้วิเคราะห์ได้หลายแง่มุม
ประการหนึ่งคือความกลัวที่จะต้องไปแสดงตัวพร้อมบัตรประชาชน สำหรับคนที่ยกมือหนุนคงไม่เป็นปัญหา แต่ฝ่ายเห็นต่างใครจะกล้าไปแสดงความเห็น เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรตามมาหลังจากนั้น ขณะที่อีกมุมแสดงว่าประชาชนไม่ให้ความสนใจใส่ใจต่อสิ่งที่ท่านผู้นำพยายามจะสื่อสาร อันอาจจะหมายถึงคนส่วนใหญ่อยากให้มีการจัดเลือกตั้งเต็มทีแล้ว
หากเป็นเช่นนั้น นั่นเท่ากับว่ามันจะสวนทางกับความต้องการของผู้มีอำนาจ ที่อยากจะได้ประชามติอันท่วมท้นเพื่อตอบโจทย์หรือปมที่วางเป้าหมายไว้ แต่เมื่อไม่ได้ดั่งใจ หมายความว่าที่กลัวจะเสียของมันจะกลายเป็นเรื่องจริง หากแนวโน้มเป็นเช่นนั้น การลากยาวเพื่อจัดระเบียบประเทศให้สงบราบคาบ จึงต้องดำเนินต่อไป ซึ่งนักการเมืองจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้คาดหวังกันว่าโรดแมปจะเป็นไปตามคำสัญญา เนื่องจากเวลาอีกไม่นานที่ท่านขอนั้นมันได้เกินเลยจนต้องทำใจปล่อยให้เลยตามเลยกันไปแล้ว