สัญญาณแห่งความผันผวน

ปลายปี 2557 อดีตประธานเฟดฯ นาย เบนจามิน เบอร์นันเก้ ประกาศแนวทางเรื่องลดวงเงินตามมาตรการ QE หรือ Tapering ผลลัพธ์ทันทีและตามมาอีกนานกว่า 6 เดือนหลังจากนั้นคือ การพังทลายของตลาดตราสารหนี้อเมริกัน แล้วก็ความแปรปรวนของตลาดหุ้น และค่าเงินตราสกุลต่างๆ ทั่วโลกเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ปลายปี 2557 อดีตประธานเฟดฯ นาย เบนจามิน เบอร์นันเก้ ประกาศแนวทางเรื่องลดวงเงินตามมาตรการ QE หรือ Tapering ผลลัพธ์ทันทีและตามมาอีกนานกว่า 6 เดือนหลังจากนั้นคือ การพังทลายของตลาดตราสารหนี้อเมริกัน แล้วก็ความแปรปรวนของตลาดหุ้น และค่าเงินตราสกุลต่างๆ ทั่วโลกเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

เหตุผลที่ตลาดปั่นป่วนยามนั้นคือ ความหวาดกลัวว่า เงินดอลลาร์ที่ล้นโลกมายาวนานหลายปี จะเหือดหายไป

ล่าสุดวานนี้ นอกจากการประชุมเฟดฯ จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และยังคงเส้นทางการขึ้น อีก 1 ครั้งในปีนี้ และ 3 ครั้งในปีหน้า ก็มีการพูดเรื่องของการปรับลดขนาดงบดุลระลอกใหม่เรียกว่า Tightening จะส่งผลให้เฟดฯ ลดการถือครองพันธบัตร และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ที่เฟดฯ ได้เข้าซื้อในตลาดในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เงื่อนไขของการปรับลดขนาดงบดุลซึ่งเฟดฯ คาดว่าจะเริ่มทำในปีนี้ มีสาระสำคัญต่อไปนี้คือ

  • เฟดฯ จะลดวงเงินที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาล เดือนละ 6 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นเพิ่มเพดานการลดวงเงินไตรมาสละ 6 พันล้านดอลลาร์ จนครบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมทั้งสิ้นใช้เวลา 5 ไตรมาส
  • เฟดฯ จะลดวงเงินถือครองตราสารหนี้ของหน่วยงานรัฐ (agency debt) และสินทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน เดือนละ 4 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นเพิ่มเพดานการลดวงเงินไตรมาสละ 4 พันล้านดอลลาร์ จนครบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมทั้งสิ้นใช้เวลา 5 ไตรมาส
  • หลังจากลดวงเงินของสินทรัพย์ทั้ง 3 ประเภทครบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือนแล้ว จะปล่อยให้สินทรัพย์ต่างๆหมดอายุโดยไม่นำไป reinvest จนเกินความจำเป็น และคาดหวังว่างบดุลของเฟดฯ จะลดลงจากปัจจุบัน US$ 4.462 ล้านล้านดอลลาร์ สู่ระดับปกติ 8-9 แสนล้านดอลลาร์

แผนงานนี้จะมีผลเกิดขึ้นเมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดี คือ การจ้างงาน และการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็จะต้องกระทำหรือดำเนินการอย่างระวังมากเนื่องจากต้องการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตึงตัวในตลาด และเชื่อว่าตลาดจะสามารถปรับตัวกับแผนการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสามารถคาดการณ์ได้

ท่าทีของเฟดฯ ยังคงยืนกรานในความเชื่อมั่นว่า ขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะต้องเกิดขึ้นเนื่องจากขั้นตอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สู่ช่วงของการฟื้นตัวเต็มที่ และต้องใส่ใจกับการควบคุมเงินเฟ้อมากขึ้นกว่าช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ที่หมกมุ่นกับการกดดอกเบี้ยให้ต่ำเพื่อแก้ปัญหาเงินฝืด

ท่าทีของนางเยลเลนเมื่อวานนี้ ที่ส่งสัญญาณว่า เฟดฯ มุ่งให้ความสำคัญกับภาวะการจ้างงานที่เต็มศักยภาพและราคาผู้บริโภคที่เสถียรภาพ มากกว่าการเคลื่อนไหวที่อ่อนแอของเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับต่ำในปีนี้เพียงแค่ 1.6% (ลดลงจากระดับ 1.9% ที่เคยคาดไว้ก่อน) ไม่ใช่เรื่องใหม่

การขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่สองในปีนี้ของเฟดฯ ที่ยังตามมาด้วยคำว่า  “จะขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป” อันคุ้นเคยเป็นสร้อยของการปลอบโยนตลาดให้หายจากอาการตื่นตระหนก (ทั้งที่ไม่น่าจะตระหนกอะไรเลยเพียงแต่เป็นเรื่องที่ตลาดไม่ชอบเท่านั้นเอง) คือการส่งสัญญาณหลายด้านพร้อมกันเสมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว เพราะดอกเบี้ยคือยาสารพัดนึกของนโยบายการเงินเพื่อสะท้อนความแข็งแรงทางการเงินในอนาคตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ยุคของดอกเบี้ยเฟดฯ ที่ต่ำมาก ที่ผลักดันให้เกิดยุคสมัยของดอกเบี้ยต่ำติดพื้น หรือดอกเบี้ยติดลบทั่วโลกตามไปด้วย ผ่านไปแล้ว จากนี้ไปเมื่อดอกเบี้ยเริ่มผงกตัวสูงขึ้น จะส่งผลต่อตลาดทุนและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเลี่ยงไม่พ้น

ในยุคดอกเบี้ยเฟดฯ ต่ำมาก นักลงทุนข้ามชาติพากันย้ายเงินออมไปยังตลาดทุนไปทำดอลลาร์แครี่ เทรดในตลาดต่างประเทศนอกสหรัฐฯ ไม่เพียงทำให้ดัชนีดาวโจนส์ และ S&P 500 ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก เป็นขาขึ้นยาวไม่เคยหยุดพักจริงจังจนถึงปัจจุบัน ยาวนานที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์วอลล์สตรีท หากยังมีผลทำให้เม็ดเงินกระจายตัวไปตลาดเก็งกำไรทั่วโลก ทำให้ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ วิ่งเป็นขาขึ้นยาวนานสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ

คณะกรรมการสายเหยี่ยวของเฟดฯ เชื่อว่า ฝันร้ายก่อนวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดจากการการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป นำไปสู่ภาวะล่มสลายจากฟองสบู่ได้ง่ายกว่า หากการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีปัญหา ก็จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นมากเพราะผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งหลาย จะเข้ามากลบเกลื่อนปัญหาในภายหน้า

ท่าทีของเฟดฯ ยามนี้ แม้ว่า จะมีแรงกดดันจากทีมงานของทำเนียบขาวที่ต้องการให้ดอลลาร์อ่อน ที่ยังคงมุ่งมั่นกับการขึ้นดอกเบี้ย (รวมทั้งปรับลดขนาดงบดุล) เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จากนี้ไป ตลาดเก็งกำไรรวมทั้งตาดหุ้น จะต้องปรับตัวครั้งใหม่ รับยุคสมัยของดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันจะเป็นขาลงระลอกใหม่สวนทางกันก็ตาม

Back to top button