พาราสาวะถี
๑๑คงทำได้แค่ตั้งคำถามกันแบบเล่นๆ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย จะขยับขับเคลื่อนอะไรหรือไม่ หลังมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา หรือโครงการรถไฟไทย-จีน ที่มีการประชุมกันมาเกือบ 20 ครั้งแต่ไร้ความคืบหน้าใดๆ
อรชุน
คงทำได้แค่ตั้งคำถามกันแบบเล่นๆ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย จะขยับขับเคลื่อนอะไรหรือไม่ หลังมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา หรือโครงการรถไฟไทย-จีน ที่มีการประชุมกันมาเกือบ 20 ครั้งแต่ไร้ความคืบหน้าใดๆ
การใช้มาตรายาวิเศษดังกล่าว ว่ากันว่าเป็นการปลดล็อกสารพัดปัญหา ซึ่งถือเป็นมาตรการอันสะท้อนเรื่องของหลักการธรรมาภิบาลที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยพึงปฏิบัติทั้งสิ้น ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใด หัวหน้าคสช.และคณะผู้มีอำนาจ จึงต้องเร่งรัดดำเนินการโดยต้องใช้ความเด็ดขาดถึงขนาดระงับการบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นการให้รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมถึงบุคลากรของรัฐวิสาหกิจนั้นทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากต้องดำเนินการในลักษณะของการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรม ให้ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543
โดยให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสม ในการกำหนดมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา ค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง การจัดทำร่างสัญญาจ้างและเงื่อนไขอื่นในการทำสัญญาจ้าง
ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้ผลการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และผลประชุมของคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย– จีน มาเป็นกรอบในการพิจารณา โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
งานนี้รอดูท่าทีของสภาวิชาชีพทั้งวิศวกรรมและสถาปนิกว่าคิดเห็นอย่างไร แต่พอจะคาดเดาแนวทางคำตอบได้ว่า กรณีทีมงานของรัฐวิสาหกิจจีนนั้นเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ประเทศไทยไม่มี ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาทดสอบหรือผ่านการประเมินโดยสภาวิชาชีพของไทย พูดง่ายๆ ว่าขาใหญ่หรือมหาบัณฑิต ดอกเตอร์จะให้มาทำข้อสอบระดับมัธยมได้อย่างไร
แนวทางก็คงเป็นไปในลักษณะนี้เพื่อไม่ให้มีข้อครหาว่า ทั้งสองสภาวิชาชีพทำตัวเป็นสภาตรายาง แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักประการต่อไปคือ คำสั่งดังกล่าวให้การทำสัญญาจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทยกับรัฐวิสาหกิจของจีน ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาผู้ประกอบการและการเสนอราคา กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 11/2560 เรื่อง การกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (5) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ 2549 (6) ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้าง พ.ศ. 2544 (7) ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2544
นั่นหมายความว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเรื่องนี้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายหากเกิดขึ้นในอนาคต ตรงนี้นี่แหละที่เกิดข้อคำถามว่า เร่งรัดและดำเนินการด้วยวิธีการเช่นนี้มันจะเป็นไปในลักษณะธรรมาภิบาล ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปตั้งคำถาม 4 ข้อไว้กับประชาชนได้อย่างไร เรื่องนี้หากฝ่ายเจรจาของไทยเห็นว่าเรายังตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบก็ไม่ควรจะดันทุรัง
จะด้วยเวลาที่งวดเข้ามาทุกขณะจึงเกรงว่าถ้าไม่ได้ลงหลักปักฐานมีรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นในยุคสมัยรัฐบาลคสช. ก็ไม่น่าจะมีใครว่า หากทุกอย่างดำเนินการไปด้วยความล่าช้าแต่ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์คงไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือเสียหน้าแต่อย่างใด ในทางกลับกันการเร่งรีบโดยใช้กฎหมายพิเศษมาสั่งการและตัดวงจรการตรวจสอบทั้งหมดต่างหากที่ถือเป็นเรื่องน่าอับอาย
๑๑แต่ก็อีกนั่นแหละ เนื่องจากรัฐบาลคสช.แวดล้อมไปด้วยบรรดาเนติบริกรชั้นแนวหน้า คราคร่ำไปด้วยอดีตผู้พิพากษาหรือแม้แต่กระทั่งอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเจ้าของประโยคสุดชอกช้ำสำหรับคนไทย “รอให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศเสียก่อนค่อยมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านผู้นำมีความเชื่อมั่นอย่างสูงยิ่งว่าสิ่งที่ทำไปไม่ได้ผิดและเต็มไปด้วยความหวังดี
มากไปกว่านั้น สิ่งที่พบเห็นจนชินตาคือถ้าถูกไล่บี้มากๆก็จะเกิดปฏิกิริยาบี้ถามย้อนกลับนักข่าวจนไม่มีสิทธิ์ตอบโต้หรือไม่กล้าต่อล้อต่อเถียง นี่คือวิธีการที่ใช้มาโดยตลอดกว่า 3 ปี ความเป็นจริงที่ควรตระหนักเหมือนอย่างที่ สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ทักท้วงไว้ การประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาทางกฎหมาย จะช่วยเร่งรัดการก่อสร้างได้บ้าง แต่ไม่เชื่อว่าจะทำให้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาหลักอยู่ที่ผู้รับผิดชอบมากกว่าเรื่องกฎหมาย
ที่ตลกไปกว่านั้นคือ การเสนอให้ก่อสร้างระยะที่ 1 แค่เพียง 3.5 กิโลเมตร เพราะไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน สร้างเสร็จแล้วนำไปใช้อะไรไม่ได้ จะมาอ้างว่าเพื่อต้องการทดสอบความสามารถในการออกแบบรถไฟความเร็วสูงของวิศวกรจีนก็ฟังไม่ขึ้น เพราะวิศวกรจีนมีประสบการณ์การออกแบบและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมาเป็นระยะทางกว่า 20,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ยาวที่สุดในโลก
ปัญหาทางกฎหมายนั้น ผู้รับผิดชอบก็รู้มานานแล้ว ถ้าพยายามหาทางแก้ไขมาตลอด ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 นั่นจึงชวนให้เกิดปุจฉาประการต่อมาว่า เมื่อใช้อาวุธหนักขนาดนี้แล้ว โดยไม่ได้เปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบ ถ้าโครงการยังไม่มีความคืบหน้า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ก็คงจะไม่แปลกหากไม่มีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต ต้องไม่ลืมว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูงนั้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีคนค้านกันหน้าสลอน แต่วันนี้หดหัวอยู่ในกระดองกันหมด ขึ้นชื่อว่าคนดีเสียอย่างจะทำหรือไม่ทำอะไรใครหน้าไหนก็มาชี้หน้าต่อว่าไม่ได้