วิมานเมฆอัปยศ

เมื่อวานนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกเอกสารว่าได้กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร บริษัท เอไอ เอนเนอร์จี จำกัด (มหาชน ) หรือ AIE ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ 2 คนคือ นายอนุรักษ์ ธารีรัตนาวิบูลย์ และ นายนพพล ธารีรัตนาวิบูลย์ กรณีจัดทำบัญชีและงบการเงินไม่ถูกต้อง เพื่อลวงบุคคลทั่วไปให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลประกอบการของ AIE


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

เมื่อวานนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกเอกสารว่าได้กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร บริษัท เอไอ เอนเนอร์จี จำกัด (มหาชน ) หรือ AIE ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ 2 คนคือ นายอนุรักษ์ ธารีรัตนาวิบูลย์ และ นายนพพล ธารีรัตนาวิบูลย์ กรณีจัดทำบัญชีและงบการเงินไม่ถูกต้อง เพื่อลวงบุคคลทั่วไปให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลประกอบการของ AIE

ก.ล.ต. ตรวจสอบงบการเงิน AIE พบว่า ในช่วงปี 2557 นายอนุรักษ์ และนายนพพล ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัท AIE ได้ร่วมกันสั่งการให้ AIE ไม่จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องในธุรกรรมการขายน้ำมัน และรับจ้างกลั่นน้ำมันให้ครบถ้วน และไม่ได้บันทึกบัญชีรายได้และบัญชีอื่นที่เกี่ยวข้องในระบบบัญชีของ AIE จนเป็นเหตุให้งบการเงินงวดไตรมาส 1-3 ปี 2557 และงบการเงินประจำปีเดียวกันของ AIE แสดงรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริงจำนวน 135 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญต่องบการเงิน

การกระทำดังกล่าวถือเป็นการลวงบุคคลอื่นให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลประกอบการที่แท้จริงของกิจการ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 2 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ภาษาที่อ่านแล้วต้องแปลไทยเป็นไทยของ ก.ล.ต. หมายความว่า ทั้งนายอนุรักษ์ และนายนพพล ธารีรัตนาวิบูลย์ ไม่ยอมรับการเสียค่าปรับที่ ก.ล.ต.มีอำนาจแค่นั้น แต่ยินยอมที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนอื่นที่พ้นจากเอื้อมมือของ ก.ล.ต.

ถ้ามองในพฤติกรรมเชิงลึก ผู้ถูกกล่าวโทษทั้ง 2 คน น่าจะมั่นใจพอสมควรตามประสา “ม้าแก่ ชำนาญทาง” ว่า หลังจากต่อสู้คดีนอกเอื้อมมือ ก.ล.ต.ไปแล้ว จะสามารถ “หลุดคดี” ได้ง่ายกว่า

ตามสถิติแล้วก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะผู้ที่ถูกกล่าวโทษจาก ก.ล.ต. ที่ไม่ยอมรับการเปรียบเทียบปรับ แล้วไปต่อสู่คดีในกระบวนการยุติธรรม “แบบไทยๆ” ส่วนใหญ่ หรือ 99.95% หลุดคดีกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่ “หน้าไม่บาง” เลือกเอาการไม่ยอมถูกเปรียบเทียบปรับ เพียงแต่ระหว่างนั้น จะต้องหลุดพ้นจากการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทไปเพราะขาดคุณสมบัติ จนกว่าคดีความจะถึงที่สุด

ผู้ถูกกล่าวโทษทั้งสองรายน่าจะช่ำชอง “หัวหมอ” พอสมควร เพราะได้ชิงยื่นใบลาออกจากตำแหน่งใน AIE ทั้งหมดตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภคม 2560 ไปเรียบร้อย โดยนายอนุรักษ์เดิมเคยเป็นทั้ง กรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง  ส่วนนายนพพลเคยเป็นกรรมการบริษัท รองกรรมการผู้จัดการ กรรมการบริหารความเสี่ยง และผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน

ตำนานอัปยศของ AIE นั้น เริ่มมาตั้งแต่ก่อนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยที่เดิมทีนั้น บริษัทดังกล่าว เกิดจากการที่บริษัทแม่คือ บริษัท เอเชียน อินซูเลเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ AI ที่ทำธุรกิจผลิตลูกถ้วยไฟฟ้า ได้เข้าซื้อกิจการจากเจ้าของเดิมที่ขาดทุนหนักจากโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น AIE พร้อมกับปรับโครงสร้างหนี้ฟื้นฟูกิจการ หันมาลงทุนผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล ในจังหวะที่ราคาพลังงานทดแทนเป็นขาขึ้นยาวนาน แม้ว่าช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงจะเป็นภาระทางการเงินกับ AI ต้องแบกรับหลายปี

เมื่อ AIE สามารถกลับมาทำกำไรสุทธิได้สวยงามอีกครั้งในสิ้นปี 2556 ก็เร่งแต่งตัวเข้าระดมทุน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้นปี 2557 เพื่อทำให้ฐานการเงินแข็งแกร่ง สามารถล้างขาดทุนสะสมหมด มีสภาพคล่องโดดเด่น และ ปลดปล่อยภาระทางการเงินของบริษัทแม่โดยปริยาย

ตอนแรกที่เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯ เสียงเชียร์หุ้นดาวรุ่งนี้กระหึ่ม เพราะเชื่อกันว่า AIE จะหนุนส่งให้บริษัทแม่อย่าง AI มีรายได้จาก “วัวที่ให้น้ำนมทองคำ” และลดความเสี่ยงจากการพุ่งพาธุรกิจเดิม อย่างมีนัยสำคัญ

แล้ว “วิมานเมฆ” ก็พังทลายพร้อมกับพานักลงทุนตกสวรรค์ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเทรด จากอาการ “หลุดจอง” ตั้งแต่เปิดตลาด และไม่เคยพ้นจองอีกหลายเดือนต่อมา เนื่องจากผลประกอบการต่ำกว่าที่เคยระบุในหนังสือชี้ชวน ตามด้วยไม่มีจ่ายปันผลสำหรับงวดสิ้นปี 2556 ตามที่คาดไว้

ปรากฏการณ์ “สาละวันเตี้ยลง” ยังต่อเนื่องจนถึงครึ่งหลังปี 2557  แม้จะพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยวิศวกรรมการเงิน เช่น แตกพาร์-แจกวอร์แรนต์ ที่ได้ผลแค่ชั่วคราว ก่อนที่จะมาถึงฟางเส้นสุดท้ายในต้นปี 2558 เมื่องบการเงินของ AIE สิ้นงวดปี 2557 เกิดประเด็น  “ผู้ตรวจบัญชีเป็นพิษ” เพราะมีการ  “ไม่แสดงความเห็น” แต่เพิ่มเติมในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ว่า “…ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยผู้บริหารของบริษัทจากปัญหาระบบการควบคุมภายในด้านต้นทุนขายและสินค้าคงคลังไม่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ…”

ผลลัพธ์ตามมาคือ งบการเงินของทั้ง AI-AIE ถูก ก.ล.ต. สั่งให้แก้ไขใหม่ และตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นป้าย SP จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชี

เหตุปัจจัยของปัญหาคือ มีความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารบริษัทกับผู้สอบบัญชีเจ้าเดิมในการบันทึกบัญชีน้ำมันปาล์มดิบในสต๊อก ระหว่างโรงงานเดิมที่หมดอายุส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว (สิทธิพิเศษทางภาษีหมดอายุ) กับ โรงงานใหม่ที่ยังมีใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุน (ได้สิทธิพิเศษทางภาษี) ถึงขั้นที่ผู้บริหารคิดจะเปลี่ยนผู้ตรวจสอบบัญชีใหม่ จึงลงเอยด้วยการที่ผู้สอบบัญชีคนเดิมไม่แสดงความเห็น หรือ ไม่รับรองงบ ซึ่งดีกว่าบอกว่า “งบไม่ถูกต้อง” นิดเดียวเท่านั้น

นักลงทุนที่ถือหุ้น AI และ AIE ไม่สามารถจะซื้อขายหุ้นได้อีก จนถึงปัจจุบัน

แม้ล่าสุด งบการเงินปี 2558-2559 รวมทั้งไตรมาสแรกของปี 2560  ของ AI และ AIE จะได้ทำการส่งให้ตลาดเรียบร้อยจนได้ แต่สถานการณ์ยังไม่ต่างจากเดิม เพราะผู้สอบบัญชีคนล่าสุด ยังคงไม่แสดงความเห็น ทำให้ตัวเลขผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทที่ปรากฏ อาจไม่แสดงค่าที่แท้จริงของกิจการ เหมือนเดิม

ตำนานอัปยศนี้ ยังไม่จบ และยังไม่มีใครรู้หรือกล้าคาดเดาว่า จะจบลงในรูปใด

Back to top button