พาราสาวะถี
ยอมรับกันโดยอัตโนมัติ บ้านเมืองอยู่ในการปกครองลักษณะนี้ โอกาสครบรอบ 85 ปีการอภิวัฒน์สยามหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร บรรยากาศการจัดงานเพื่อรำลึกนึกถึงจึงเป็นไปด้วยความเงียบเหงา คนประชาธิปไตยที่เคยแสดงตัวในอดีตและนักการเมือง ต่างพากันเก็บตัวเงียบ ไร้กิจกรรมหรือการพบปะใดๆ
อรชุน
ยอมรับกันโดยอัตโนมัติ บ้านเมืองอยู่ในการปกครองลักษณะนี้ โอกาสครบรอบ 85 ปีการอภิวัฒน์สยามหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร บรรยากาศการจัดงานเพื่อรำลึกนึกถึงจึงเป็นไปด้วยความเงียบเหงา คนประชาธิปไตยที่เคยแสดงตัวในอดีตและนักการเมือง ต่างพากันเก็บตัวเงียบ ไร้กิจกรรมหรือการพบปะใดๆ
จะมีเพียงก็กลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันที่รวมตัวกันจัดงานเล็กๆ แต่ขนาดว่าจัดงานกันแบบเงียบๆแล้ว กลุ่มคนเหล่านั้นยังถูกตามติดทุกฝีก้าวตั้งแต่สองสามวันก่อนจะถึงวันที่ 24 มิถุนายน อนุสรณ์ วัณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ถูกตำรวจกองปราบปลอมตัวซะเด่นชัดเฝ้าถึงบ้านพัก เพื่อจะถามว่าอาจารย์จะไปร่วมงานที่ไหนหรือไม่
ส่วนบรรดานักศึกษาที่จะจัดงานอย่างกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ถูกประกบติด พร้อมส่งคนไปพบพ่อแม่ถึงบ้าน ไม่ต่างกันกับ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่บอกว่าขนาดขึ้นรถเมล์ยังมีเกาะติดเป็นเงาตามตัว ไม่รู้ว่าจะกลัวอะไรกันขนาดนั้น อย่าปฏิเสธว่าไม่ได้หวั่นไหว เพราะขนาดถึงห้ามกลุ่มจัดกิจกรรมพูดคำว่า เผด็จการ รัฐประหาร และคสช. มันสะท้อนภาพอะไรได้ชัดเจน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ก็ยังได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมที่ชื่อว่า ทำบุญกรวดน้ำคว่ำขัน วัน(ไม่มี)ประชาธิปไตย ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เป็นการทำบุญรำลึกถึงคณะราษฎรพร้อมกับการอ่านแถลงการณ์รำลึกถึงเหตุการณ์ที่นิสิตกลุ่มนี้ถูกจับกุมเมื่อปีที่แล้วเนื่องในโอกาสรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจหยุดคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
กิจกรรมของเด็กกลุ่มนี้ทำกันได้เพียงเท่านั้น เพราะคงไม่มีใครอยากจะเดือดร้อนจากการถูกดำเนินคดีอีก แต่อีกด้านที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนาในโอกาสครบรอบ 85 ปีการอภิวัฒน์ 2475 ในหัวข้อขุดรากถอนโคน โค่นมรดกคณะราษฎร โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ร่วมฉายภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากอดีตถึงปัจจุบัน
โดยส.ศิวรักษ์บอกว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สำหรับประชาชนที่มีความคิดแนวขวาจัด คิดว่าคณะราษฎรแย่งชิงอำนาจไปจากกษัตริย์ ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา สังคมไทยถูกสร้างความเชื่อว่าการแบ่งลำดับชั้นทางสังคม การมีอำนาจรวมศูนย์ เป็นสิ่งที่ดี โดยปัญญาชนกระแสหลักเน้นความยุติธรรมแต่เป็นความยุติธรรมไม่เสมอภาค เน้นความเสมอภาคในชนชั้นเดียวกัน
ส่วนเสรีภาพไม่ใช่เสรีภาพทางความคิด แต่มีแนวคิดเสรีภาพแบบไทยอยู่แล้วคือเสรีภาพทางใจ และตั้งแต่ปี 2475 ผู้ที่ยึดอำนาจมักจะบอกตัวเองว่าเป็นคนดี สามารถปกครองบ้านเมืองได้ดีกว่านักการเมืองที่กึ่งดีกึ่งเลวและไร้ศีลธรรมจรรยา จึงถามว่าการที่สังคมไทยฝากความหวังไว้ที่คนๆเดียวเป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ ทั้งที่การที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม จำเป็นต้องเปิดให้คนทุกส่วนมีส่วนร่วมและตรวจสอบการใช้อำนาจได้
หากต้องการให้การอภิวัฒน์เป็นจริงต้องเรียนรู้จากทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวจากอดีต ต้องยอมรับฟังความเห็นต่าง แก้ไขความผิดด้วยการกระทำ รวมไปถึงต้องฝึกใจให้กว้างเผชิญกับความจริง แสวงหาความรู้ ความจริง และความดี ซึ่งสถาบันการศึกษาไม่ได้สอน แน่นอนว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เกิดคำถามต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำสองแห่งคือ จุฬาฯ และธรรมศาสตร์
เป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่ก็อยากรู้ว่า ประชาคมของทั้งสองสถาบันการศึกษา รู้สึกอะไรบ้างหรือไม่ที่อธิการบดีไปเข้ากับคณะรัฐประหารหรือคสช. การกระทำดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งจะว่าไปแล้วเหมือนอย่างที่ย้ำมาโดยตลอดไม่ต้องถามคนดีเพราะเขามีความสามารถเฉพาะตัวคืออย่างหนา แล้วก็จะหาข้ออ้างมาสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในการที่จะเลือกยืนอยู่ข้างอำนาจที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยได้เสมอ
โดยเฉพาะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับตำแหน่งจากการรัฐประหารถึงสองรอบ นั่นย่อมเป็นภาพสะท้อนถึงจุดยืนอันเด็ดเดี่ยวว่าเลือกและชมชอบวิธีการแบบไหน มิเช่นนั้น ก็คงไม่ประกาศนำอาจารย์และนักศึกษาในสังกัดเข้าร่วมกับม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯ อย่างเปิดเผย เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงป่วยการที่จะไปทักท้วงหรือถามหาจุดยืนว่าด้วยความเป็นประชาธิปไตย
๑๑อย่างไรก็ตาม ส.ศิวรักษ์ ได้ทิ้งทวนการพูดบนเวทีวันนี้ด้วยการเรียกร้องให้เอาคสช.คืนไป และเอาประชาธิปไตยคืนกลับมา ซึ่งคงต้องมีวงเล็บด้วยว่าน่าจะต้องรออีกนานแสนนาน เห็นได้จากการวางกลไกต่างๆ บางทีระยะเวลา 10 ปีที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บอกไว้วันก่อนอาจจะน้อยไปเสียด้วยซ้ำ ต้องไม่ลืมว่ายุทธศาสตร์ชาติที่วันนี้ วิษณุ เครืองาม ขู่แล้วว่าใครไม่ทำตาม เห็นต่างหรือขัดแย้ง โทษหนักถึงจำคุกและถูกถอดถอนกันทีเดียว มีการวางหมากไว้ยาวถึง 20 ปี
ประเด็นว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาตินั้น แม้กฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจากสนช.และรอการบังคับใช้ไปแล้ว แต่จับสัญญาณจากพรรคการเมืองโดยเฉพาะจากพรรคประชาธิปัตย์ หากเป็นท่วงทำนองที่ขึงขังและจริงจัง ไม่เกิดการเป็นมวยล้มต้มคนดูเสียก่อน ก็น่าจะเป็นอะไรที่บ่งบอกว่า การมัดมือชกรัฐบาลใหม่ ที่แม้ความเป็นไปได้สูงหลังเลือกตั้งจะคือกลุ่มเดิมกลับเข้ามาก็ตาม คงไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยผ่านกันไปได้ง่ายๆ
เสียงคัดค้านต่อยุทธศาสตร์ชาติที่น่าสนใจนั้น วันต่อไปค่อยว่ากันให้จบ วันนี้คงต้องว่ากันด้วยประเด็น 85 ปีอภิวัฒน์สยามให้เรียบร้อย เสียงจาก พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ทายาทของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร น่าจะช่วยปลุกสำนึกถามหาสำเหนียกของคนที่ใช้คำว่ามีอุดมการณ์ประชาธิปไตยมาหากินกันได้บ้าง
คณะราษฎรกล้าเอาชีวิตตัวเองเข้าแลก เพื่อนำระบอบประชาธิปไตยมาให้แก่ปวงชนทั้งหลาย การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 จึงน่าจะเป็นการปฏิวัติเพียงครั้งเดียวที่คนประชาธิปไตยให้การยอมรับ เพราะครั้งนั้นไม่มีการนิรโทษกรรม ทำไม่สำเร็จต้องถูกประหาร 7 ชั่วโคตร ครั้งนั้นเป็นความบริสุทธิ์ใจที่จะทำ คณะราษฎรเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ถูกต้อง ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่มรดกหรือคณะราษฎรเป็นเจ้าของ เพราะคำว่าประชาธิปไตยมาจากคำว่าประชาชนรวมกับอธิปไตย ส่วนพวกที่พูดกันเรื่องประชาธิปไตยปาวๆ วันนี้ต้องเรียกว่า เป็นพวกที่ใช้ประชาธิปไตยบังหน้าเพื่อใช้และสร้างความชอบธรรมให้อำนาจเผด็จการเท่านั้น