พาราสาวะถี
๑๑ยังหัวร้อนไม่เลิก สมชัย ศรีสุทธิยากร ฉุนขาด มีชัย ฤชุพันธุ์ กล่าวหาเจ้าหน้าที่กกต.รับคำสั่งมาให้ตอบว่าไพรมารีโหวตไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กรธ.พยายามเอากกต.เป็นพวก อยากเอาคำพูดของกกต.ว่าจัดไม่ได้ จัดลำบาก เพื่อมาล้มไพรมารีโหวตของสนช. พอเจ้าหน้าที่กกต.บอกในทางตรงข้ามว่าทำได้ก็ขัดใจหาว่า เจ้าหน้าที่ถูกกกต.บังคับให้พูด
พาราสาวะถี : อรชุน
๑๑ยังหัวร้อนไม่เลิก สมชัย ศรีสุทธิยากร ฉุนขาด มีชัย ฤชุพันธุ์ กล่าวหาเจ้าหน้าที่กกต.รับคำสั่งมาให้ตอบว่าไพรมารีโหวตไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กรธ.พยายามเอากกต.เป็นพวก อยากเอาคำพูดของกกต.ว่าจัดไม่ได้ จัดลำบาก เพื่อมาล้มไพรมารีโหวตของสนช. พอเจ้าหน้าที่กกต.บอกในทางตรงข้ามว่าทำได้ก็ขัดใจหาว่า เจ้าหน้าที่ถูกกกต.บังคับให้พูด
๑๑เมื่อมวยเก๋าปะทะกันความมันย่อมบังเกิด ด้วยความที่ไม่ได้ดั่งใจจึงออกลูกตีโพยตีพาย ด้วยเหตุนี้สมชัยเลยตั้งคำถามกลับไปยังเนติบริกรชั้นครู เมื่อเจ้าหน้าที่กกต.ยืนยันว่าทำงานได้ ทำไมต้องไปบอกว่าถูกกกต.สั่งให้พูด หากคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดเท่านั้นถึงถูก วันหลังก็อย่าร่างรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายลูกต้องผ่านความเห็นชอบจากสนช.ให้ยุ่งยาก
๑๑ตีตรงจุด ตบหน้ากันฉาดใหญ่ ไม่เพียงเท่านั้น สมชัยยังระบายต่อ พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กคงไม่อยากทำไพรมารีโหวต เพราะไม่มีสาขาพรรคทุกจังหวัด สมาชิกไม่พอและไม่มีต้นทุนในการจัดการ พรรคการเมืองขนาดใหญ่คงไม่อยากทำ แม้จะมีสาขามีเงินทุนเพราะเป็นภาระทางธุรการ และเป็นการลดทอนอำนาจของเจ้าของพรรคหรือกรรมการบริหารในส่วนกลาง ไม่สามารถชี้ตัวคนลงเลือกตั้งได้แต่ต้องฟังจากเสียงประชาชนในพื้นที่
๑๑ส่วนกกต.ก็คงไม่อยากให้มีไพรมารีโหวต เพราะเป็นการเพิ่มขั้นตอน มีความยุ่งยากในการทำความเข้าใจ ลำบากในการกำกับ และยังต้องตรวจสอบว่าการทำไพรมารีโหวตของพรรคนั้น เป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ แต่หากสนช.ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองให้มีไพรมารีโหวต กกต.ต้องบอกว่าพร้อมน้อมรับปฏิบัติ
๑๑เมื่อเป็นเช่นนั้น กลายเป็นฝ่ายที่คัดค้านกลับเป็นกรธ.เสียเอง โดยยกประเด็นว่า หากมีไพรมารีโหวตพรรคอาจจะส่งผู้สมัครไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายชูธงการปฏิรูปการเมืองมาโดยตลอด จนมีวาทะจะปฏิรูปก็ต้องเจ็บปวดบ้าง คราวนี้กลับแปลกดันไปเจ็บปวดแทนพรรคการเมือง ห่วงพรรคการเมืองจะลำบาก วลีทองทิ้งท้ายของสมชัยนั้นน่าคิด
๑๑มันเป็นเรื่องแปลกจริงๆ ที่จู่ๆ คนอย่างมีชัยจะออกมาแสดงความเป็นห่วงเป็นใยพรรคการเมือง เพราะหลายครั้งหลายคนผ่านบทสัมภาษณ์ของประธานกรธ. จะปรากฏถ้อยคำที่ชัดเจนในการเหยียดหยันเยาะหยามพวกนักการเมืองว่าคือตัวปัญหา เป็นพวกที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการที่สมชัยยกเอาคำว่าปฏิรูปต้องเจ็บปวดบ้าง มาย้อนศรจึงทำให้ใครบางคนจุกอกได้
๑๑แล้วทำไมมีชัยถึงต้องห่วงพรรคการเมืองขนาดนั้น และความเป็นห่วงไม่น่าจะเกี่ยวกับพรรคการเมืองใหญ่โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย พอไปอ่านเกมจากการปฏิเสธตั้งพรรคการเมืองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยิ่งเหมือนกับเป็นการสร้างความชอบธรรมในคำพูดของประธานกรธ.ว่าเคลื่อนไหวในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร
๑๑หากแต่เมื่อมองไปยังการขยับของพรรคชาติไทยพัฒนาที่จับมือกับ 19 พรรคการเมืองขนาดเล็ก ยื่นหนังสือคัดค้านไพรมารีโหวตต่อกรธ. พร้อมเรียกร้องให้ช่วยเป็นตัวแทนในการเสนอปรับแก้ในการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ยิ่งเห็นการเมืองในเชิงการวางหมากเกมของการกลับมามีอำนาจของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
๑๑ต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ พร้อมๆ กับการมีอำนาจร่วมโหวตได้ของส.ว.ลากตั้ง 250 คน เพียงแต่ว่าก่อนจะไปถึงตรงนั้นจำเป็นจะต้องใช้เสียงของสภาผู้แทนราษฎร ในการไม่รับ 3 รายชื่อของพรรคการเมืองที่จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเสียก่อน ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กทั้งหลายจึงมีบทบาทอย่างสำคัญหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
๑๑จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวเที่ยวนี้มีพรรคขนาดกลางบางพรรคไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม นั่นย่อมสะท้อนนัยทางการเมืองได้อย่างลึกซึ้ง แม้ผู้มีอำนาจจะไม่ตั้งพรรคการเมือง แต่มีพรรคการเมืองที่พร้อมจะหนุนให้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้นอะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งคนเลือกตั้ง ซึ่งมีทั้งเป้าหมายสกัดพรรคนายใหญ่ไม่ให้กลับมาและสนับสนุนของพรรคอะไหล่ทั้งหลายได้มีคะแนนเสียง บทบาทในการกำจัดปัญหาที่ไม่นึกว่าสนช.จะทำให้งานงอก จึงต้องมาตกบนบ่าของมีชัย
๑๑ด้วยเหตุนี้การรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน) ต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองจึงบังเกิดขึ้นในมุมของมีชัย ยิ่งย้อนกลับไปดูบทสัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม ต่อระบบไพรมารีโหวต ทัศนะก็แทบจะไม่แตกต่างจากประธานกรธ. อะไรที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติร่างกฎหมายฉบับนั้นจะต้องไม่ให้เกิดขึ้น ดังนั้นการออกหมัดแย็บด้วยประเด็นมาตรา 42 ของร่างกฎหมายพรรคการเมืองขัดรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องไม่ธรรมดา
๑๑จะว่าไปแล้วเรื่องของไพรมารีโหวตไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งคิดกันได้และทำกันในรูปแบบไทยแลนด์สไตล์ แต่เป็นการไปลอกเลียนแบบมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีความเห็นจากหลายฝ่าย ถ้าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเหตุใด จึงไม่เสนอให้ยกเลิกการลากตั้งส.ว. 250 เก้าอี้ แล้วโยนไปให้ประชาชนเป็นผู้เลือกเสีย
๑๑นี่เป็นอีกหนึ่งความย้อนแย้งของการดำเนินการตามที่ “แป๊ะ” สั่ง หลายสิ่งหลายอย่างพยายามจะเน้นให้เห็นว่าเป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่กระบวนการตั้งต้นตั้งแต่การได้มาซึ่งอำนาจของผู้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จนมาถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ยังยืนยันว่ามีหลายประการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดเสียแล้ว ทุกอย่างมันจึงเข้าอีหรอบอีรุงตุงนัง
๑๑ความวุ่นวายจากกระบวนการของร่างกฎหมายลูกนี้เอง ที่ท้ายที่สุดคงพอจะมองเห็นบทสรุปกันได้แล้วว่า การเลือกตั้งตามโรดแมปมันจะเป็นไปตามคำประกาศิตของท่านผู้นำว่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 จริงหรือ (เพราะความจริงท่านก็เลื่อนมาแล้วหลายรอบ) เมื่อปัญหาดูท่าว่าจะจบกันไม่ได้ต้องใช้วิทยายุทธ์กันหลายกระบวนท่า สงสัยเราอาจจะได้ยินคำออดอ้อนขอ (เสีย) เวลาอีกไม่นานเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่สมบูรณ์สุดๆ (ฮา)
/////