COM7 การตลาด (ด้วย) สินเชื่อ

ย่างก้าวล่าสุดวานนี้ของบริษัทขายสินค้าอุปกรณ์โทรคมนาคมและไอทีอย่างบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ในการเข้าซื้อธุรกิจสินเชื่อที่เรียกว่า คอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ อย่างบริษัทในเครือของกลุ่มมิตซุยในเมืองไทยอย่าง บริษัท บัฟ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ มีความน่าสนใจว่า จะสามารถต่อยอดธุรกิจเดิมได้ดีเพียงใด


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

 

ย่างก้าวล่าสุดวานนี้ของบริษัทขายสินค้าอุปกรณ์โทรคมนาคมและไอทีอย่างบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ในการเข้าซื้อธุรกิจสินเชื่อที่เรียกว่า คอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ อย่างบริษัทในเครือของกลุ่มมิตซุยในเมืองไทยอย่าง บริษัท บัฟ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ มีความน่าสนใจว่า จะสามารถต่อยอดธุรกิจเดิมได้ดีเพียงใด

COM7 ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีสีสันกับเกมรุกทางการตลาด จากโอกาสที่เปิดกว้างเพราะไลฟ์สไตล์ของสังคมเมือง ภายใต้นักการตลาดที่ช่ำชองอย่าง นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สามารถใช้ประโยชน์จากสาขารวมทั้งหมด 300 สาขา (คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 500 สาขา) เต็มพิกัด แต่มีจุดอ่อนที่ความสามารถในการทำกำไร

รายได้โตเฉลี่ยปีละ 8-9% ทุกปี แต่อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้ ยังแน่นิ่ง..ถือว่าไม่คุ้มค่าเหนื่อย

อัตรากำไรสุทธินับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดที่ต่ำ ไม่เคยเกินระดับ 2.5% ถือเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข แม้ว่า ตัวเลขการเติบโตของรายได้จะโดดเด่นอย่างมากทุกปี โดยเฉพาะปีนี้

การรุกเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าติดตาม แม้ว่าการซื้อกิจการนี้ จะไม่ได้เป็นเจ้าของเดี่ยวเบ็ดเสร็จก็ตาม

รายละเอียดของการซื้อกิจการมีดังนี้

  • COM7 จับมือกับ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX ลงทุนในมูลค่ารวม 536.42 ล้านบาท โดยลงทุนฝ่ายละ 268.21 ล้านบาท โดยมีนักลงทุนรายอื่นร่วมด้วยเป็นตัวประกอบ เข้าซื้อหุ้นที่ถืออยู่เดิมโดย บริษัท มิตซุย แอนด์ คัมปนี จำกัด และบริษัท มิตซุย บุซซัน ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด
  • ภายหลังการซื้อขาย โครงสร้างผู้ถือหุ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงโดย COM7 จะเข้ามาถือหุ้น 30%, SYNEX ถือหุ้น 30%, บริษัท มิตซุย แอนด์ คัมปนี จำกัด ถือหุ้น 25% ลดลงจากเดิมที่ถืออยู่ 48.9999% บริษัท มิตซุยแอนด์ คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด ถือหุ้นเท่าเดิมที่ 0.0001% ส่วนนักลงทุนรายอื่น ถือหุ้น 14.99% โดยบริษัท มิตซุย บุซซัน ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด จะไม่มีสัดส่วนเหลืออยู่

ทั้ง COM7 และ SYNEX ระบุใกล้เคียงกันเหมือนนัดแนะท่องตำราสูตรสำเร็จว่า “…การลงทุนดังกล่าวจะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจเช่าซื้อ เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจแบบครบวงจร และยังเป็นการขยายฐานลูกค้าผ่านพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทและผู้ถือหุ้น รวมถึงเป็นการสนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัทให้เติบโตอย่างมั่นคง..”

ในทางปฏิบัติ โมเดลธุรกิจที่นำเอาธุรกิจค้าปลีก มาเชื่อมต่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและผลกำไร ถือเป็นกลยุทธ์ผสมผสานที่โดดเด่นร่วมสมัย

ตัวอย่างในโลกที่โดดเด่นคือ อิออน ของญี่ปุ่น ที่ใช้การปล่อยสินเชื่อผู้บริโภค หรือ คอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ มาเชื่อมต่อเข้ากับการร้านค้าปลีก เพื่อแก้ไขจุดอ่อนของการค้าปลีกที่ต้องรับเงินสด (ทำให้มียอดขายต่ำเกินควร) และมาร์จิ้นการตลาดต่ำจากการแข่งขันที่เข้มข้น โด่งดังทั่วโลก

ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค กลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมการขายที่ดีเยี่ยม สามารถเพิ่มยอดขายจากบริการขายผ่อนส่ง และกำไรให้บริษัทค้าปลีกได้ดี โดยที่ผู้ค้าปลีกไม่ต้องแบกภาระเรื่องหนี้สูญจากการค้างชำระหนี้ของลูกค้า

แม้ในชั้นต้น จะไม่มีความชัดเจนว่า ธุรกิจของบริษัท บัฟ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถนัดกับธุรกรรมให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เป็นหลัก จะเคลื่อนย้ายมาทำสินเชื่อเงินผ่อนสินค้าไอที หรือโทรคมนาคม ของCOM7 ได้อย่างไร แต่ในระยะยาว น่าจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดรับกันต่อในระยะต่อไป แม้ว่าจะต้องมีการลองผิดลองถูกอยู่บ้างบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ

แน่นอนว่า…ไม่มีสูตรสำเร็จของเส้นทางนี้ แต่ต้นแบบที่เคยประสบความสำเร็จมาให้เห็นแล้ว ย่อมถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย …ถึงอย่างไรก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

ที่ผ่านมา COM7 ทำได้ดีจากยอดขายจนมีส่วนแบ่งการตลาดทิ้งห่างคู่แข่ง แต่ไม่ดีนักจากอัตรากำไรสุทธิ..ถือว่าได้กล่องมากกว่าเงิน….เพราะมีแต่รายได้โตต่อเนื่อง แต่กำไรแน่นิ่ง

ถ้าการรุกคืบครั้งนี้ไปได้สวย ก็คงจะได้ทั้งกล่อง ได้ทั้งเงิน…

แต่ถ้าตรงกันข้าม..ก็ตัวใครตัวมัน ถือว่าจ่ายค่าวิชาก็แล้วกัน

อิ อิ อิ

Back to top button