รายงานพิเศษ : หลักฐานชี้ชัด ก.ล.ต. ไม่ยากจน !
รายงานประจำปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ผ่านการตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแล้ว บอกข้อเท็จจริงให้เห็นชัดว่า นอกจากผลงานในการกำกับดูแลตลาดทุนอันมากมายแล้ว ผลงานที่แสดงความสามารถทางการเงินของหน่วยงานก็ไม่ได้ด้อยกว่าใคร แม้จะไม่มีเป้าหมายในการทำธุรกิจโดยตรง
ที่สำคัญ ข้อเท็จจริงในรายงานระบุชัดว่า เหตุผลของใครบางคนที่ชอบอ้างว่า ก.ล.ต. ยากจนและไม่มีเงินในการพัฒนาตลาดทุนนั้น ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง
งบการเงินจากรายงานประจำปี (ตามตารางประกอบ) สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ย้ำว่า ก.ล.ต.มี “รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน” มากถึง 417.77 ล้านบาท จากรายได้รวม 1,523.39 ล้านบาท และรายจ่ายรวม 1,105.62 ล้านบาท…อาจจะไม่มีคำว่ากำไร แต่ไม่ได้หมายความเป็นอย่างอื่นไปได้เลย
กำไรจากการดำเนินงานดังกล่าว ไม่ต้องเสียภาษี (จะด้วยเหตุผลอะไร ก็ควรไปถามกรมสรรพากรเอาเอง) ยังส่งผลให้กำไรสุทธิ หรือพูดให้เป็นภาษาทางการที่ถูกต้องคือ “รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จรวม” จึงทะลุไปถึง 493.14 ล้านบาท
ที่กำไรค่อนข้างเยอะ เพราะค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและลูกจ้างเป็นสำคัญ รองลงไปคือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาตลาดทุน
ใครบอกว่า ก.ล.ต.ไม่ได้ทำธุรกิจ และไม่ได้แสวงหากำไรจากการทำธุรกรรมต่างๆ ควรจะต้องทบทวนกันใหม่…เพราะ ก.ล.ต.เก่งกว่าที่ทุกคนคิด
เมื่อสำรวจดูงบแสดงฐานะการเงิน ก็ยังพบว่า รายได้ของ ก.ล.ต. ที่ในปี 2559 เพิ่มขึ้น 10.57% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน 1,377.82 ล้านบาท มาจาก 6 ส่วน โดยรายได้ที่มีนัยสำคัญสุด เรียงตามลำดับมี 3 ส่วน คือ
1) ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากการรับจดทะเบียนหลักทรัพย์ทุกชนิดในตลาดทุน มีสัดส่วนสูงสุดคือ 811.27 ล้านบาท
2) รายได้เงินอุดหนุนจากตลาดหลักทรัพย์ (หักจาก 40% ในทุกธุรกรรมของตลาดหลักทรัพย์ ) 536.45 ล้านบาท
3) รายได้ (ผลตอบแทน) จากเงินลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล (รวมรายได้ที่เป็นดอกเบี้ย รายได้เงินปันผล และกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุน ) 158.16 ล้านบาท ซึ่งหากคิดจากมาตรฐานโดยทั่วไปที่ผลตอบแทนระดับ 7% ก็แสดงว่า หน้าตักกองทุนเพื่อการลงทุนของ ก.ล.ต.ส่วนนี้ ต้องมีมากกว่า 1,200 ล้านบาท
นอกเหนือจากรายได้หลัก ข้อมูลยังระบุว่า ก.ล.ต มีกำไรพิเศษจากการพัฒนาตลาดทุนอีก โดยมี “รายได้เพื่อการพัฒนาตลาดทุน” จำนวน 68.53 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาตลาดทุน 18.34 ล้านบาท หักกันแล้ว มีกำไรจากการพัฒนาตลาดทุน รวม 50.18 ล้านบาท
หากพิจารณาว่า การพัฒนาตลาดทุน น่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ ก็ชี้ชัดว่า ความสามารถในการพัฒนาตลาดทุนของ ก.ล.ต. ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับการหารายได้และทำกำไรเข้าองค์กร…สมควรยกนิ้วให้ในความสามารถเหนือปกติอย่างยิ่ง
คำอธิบายเพิ่มเติมจาก ก.ล.ต.เองก็น่าสนใจ เพราะบอกว่า เหตุที่มีรายได้สูงกว่าใช้จ่ายเกิดจากมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณรายได้ค่าธรรมเนียม และเงินอุดหนุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2559 สูงกว่าปีก่อนๆ โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 52,526 ล้านบาทต่อวัน และเกินกว่า 130,000 ล้านบาท ในวันที่มีมูลค่าซื้อขายมากที่สุดประกอบกับเงินลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลของ ก.ล.ต. ได้รับผลตอบแทนในปี 2559 เพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายมีจำนวนใกล้เคียงกับปีก่อนและต่ำกว่าที่ตั้งงบประมาณไว้ หากตัดงบค่าใช้จ่ายปกติออกไป จะพบว่ามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการพัฒนาตลาดทุน เช่น โครงการ ASEAN CG Scorecard เพื่อให้ตลาดทุน ASEAN มีความน่าสนใจ และเป็นที่ยอมรับของผู้ลงทุนทั่วโลก รวมทั้งยกระดับ CG ของบริษัทจดทะเบียนให้ทัดเทียมสากล โครงการประเมินคุณภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญ (AGM) โครงการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศในการจัดทำรายงานทางการเงิน
จากการที่มีการบรรจุพนักงานใหม่เพียงร้อยละ 55 ของอัตราว่าง และ การที่ ก.ล.ต.รับโอนพนักงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 จากเดิมที่คาดว่าจะเป็นช่วงกลางปี 2559 นอกจากนี้ยังมีการเลื่อนการดำเนินโครงการบางส่วนไปปีถัดไป เช่น โครงการ Financial Consumer Education โครงการสนับสนุนการออมรองรับการเกษียณ โครงการ FinTech Challenge Program เป็นต้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในปี 2559 ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
คำอธิบายดังกล่าว เท่ากับว่า ความล่าช้า กลายเป็นผลลัพธ์ทางบวกที่โดดเด่นไป…ไม่เพียงแค่เก่งอย่างเดียว อย่างนี้ต้อง เฮง ด้วย
ข้อเท็จจริงที่ระบุถึง ฐานะทางการเงินที่มั่นคงดังกล่าว ทำลายมายาคติที่สร้างกันมายาวนานว่า ก.ล.ต.ยากจน และทำธุรกิจไม่เป็น จนหมดสิ้น