พาราสาวะถี

คงต้องฝากให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยกลับไปพิจารณาว่าเหตุใดพระราชกำหนดหรือพ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 จึงคลอดออกมาและมีผลบังคับใช้ทันที โดยที่ผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็น ร่วมเสนอแนะปัญหาที่จะตามมาหลังการบังคับใช้ จนกลุ่มคนที่จะได้รับความเดือดร้อนจากการออกกฎหมายฉบับนี้ต้องออกมาเคลื่อนไหวร้องขอความเห็นใจ


อรชุน

คงต้องฝากให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยกลับไปพิจารณาว่าเหตุใดพระราชกำหนดหรือพ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 จึงคลอดออกมาและมีผลบังคับใช้ทันที โดยที่ผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็น ร่วมเสนอแนะปัญหาที่จะตามมาหลังการบังคับใช้ จนกลุ่มคนที่จะได้รับความเดือดร้อนจากการออกกฎหมายฉบับนี้ต้องออกมาเคลื่อนไหวร้องขอความเห็นใจ

ทำไมผู้ที่รับผิดชอบในการคลอดกฎหมายฉบับนี้ จึงไม่ศึกษาหรือพิจารณาให้รอบคอบ จนท้ายที่สุดต้องใช้บริการมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้ 3 มาตราพ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 101 มาตรา 102 และ มาตรา 122 ซึ่งกำหนดค่าปรับรวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงกับลูกจ้างและนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย โดยจะมีผลย้อนไปถึงวันที่ 23 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ประกาศใช้พ.ร.ก. เนื่องจากพบว่าทั้ง 3 มาตรามีปัญหาการบังคับใช้ โดยให้ชะลอไปก่อน 120 วัน

จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มายื่นหนังสือร้องขอความเห็นใจนั้น ไม่ได้มีปัญหาหรือว่าคัดค้านกฎหมายดังกล่าว หากแต่คนเหล่านั้นเห็นว่าในทางปฏิบัติต้องใช้เวลาเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ความสะเพร่าที่เกิดขึ้นจึงเกิดคำถามซึ่งสอดคล้องต้องกันโดยไม่ได้นัดหมายและถือเป็นไม่กี่ครั้งที่สองพรรคการเมืองใหญ่ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์จะเห็นตรงกัน

โดยทั้ง อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกพรรคนายใหญ่ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคเก่าแก่ ต่างตั้งคำถามไปในแนวทางเดียวกันว่า มันมีเหตุอะไรจำเป็นเร่งด่วนถึงขั้นที่จะต้องออกกฎหมายนี้ในรูปแบบพ.ร.ก. สิ่งสำคัญคือ ไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้ด้วยว่าที่ออกมานี้เร่งด่วนหรือไม่ เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจขาดแก่รัฐบาลเป็นคนวินิจฉัยเองว่า เรื่องไหนด่วนหรือไม่ด่วน

ภาพความเป็นจริงของผลกระทบจากพ.ร.ก.ฉบับนี้มีต่อผู้ประกอบการจำนวนมาก และสร้างความหวั่นไหววิตกกังวลให้กับคนจำนวนมหาศาล เพราะต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยขาดแคลนแรงงานมาระยะหนึ่งแล้ว มีการประเมินว่า แรงงานต่างด้าวที่มีอยู่จริงในประเทศไทยอาจถึง 5-6 ล้านคน แต่ว่าที่ทำถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมดน่าจะมีไม่ถึง 2 ล้านคน

เมื่อเป็นเช่นนั้น กฎหมายนี้กลับมุ่งในเรื่องของโทษและความรับผิดชอบไปที่นายจ้าง เช่น ปรับ 4 แสนถึง 8 แสนบาทต่อต่างด้าว 1 คน แล้วมันจะมีช่องทางอย่างไรที่คนซึ่งทำผิดอยู่ในขณะนี้ จะมีวิธีที่จะกลับมาทำให้มันถูก หรือจะต้องส่งกลับไปประเทศเพื่อนบ้านก่อนหรือไม่อย่างไร ถือเป็นการออกกฎหมายที่ไม่พูดคุย หารือหรือประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้ ผลกระทบจึงเกิดขึ้นมาก

สุดท้ายเมื่อกฎหมายมีช่องโหว่พะเรอเกวียน ย่อมเป็นช่องทางในการทุจริตหากินของเจ้าหน้าที่ที่ไม่สุจริต ด้วยมองเห็นปัญหาลักษณะนี้กระมัง วิษณุ เครืองาม จึงได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ระหว่างนี้จะไม่มีการจับกุมหรือกวดขันแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย เว้นแต่จะเกี่ยวข้องความผิดค้ามนุษย์ ส่วนการชะลอบางมาตราออกไป 120 วัน เพราะต้องการให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย กลับไปทำเรื่องให้ถูกต้องก่อน

โดยกระบวนการทำให้ถูกต้องดังว่านั้น มีอยู่ 3 ช่องทางคือ กลับไปทำเรื่องยังประเทศต้นทาง ทำเรื่องที่ชายแดน และที่ศูนย์พิสูจน์บุคคลกรณีชาวเมียนมาที่มีอยู่ 5 แห่งในไทย ซึ่งประการหลังนี้ยังต้องเจรจากับทางเมียนมาว่าจะยินยอมหรือไม่ ความจริงรัฐบาลคสช.ก็น่าจะจำบทเรียนในช่วงที่ประกาศจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวช่วงหลังการยึดอำนาจหมาดๆ ผลกระทบครั้งนั้นเป็นอย่างไรน่าจะรู้กันดี

แต่อีกมุมที่มองต่อการออกพ.ร.ก.ครั้งนี้ว่าเป็นการขาดวิสัยทัศน์ ล้าหลังคือ จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ตอนที่ตนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการให้ไปประชุมแทนในเรื่องความมั่นคง ในที่ประชุมนั้นมีการพูดถึงปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการเปิดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยบ้างแล้ว แต่ทิศทางของรัฐยังไม่ชัดเจน

การประชุมวันนั้นนับว่าก้าวหน้ามากคือ ยอมรับความจำเป็นที่ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว มีความพยายามนำเรื่องเข้าสู่ระบบและทำให้ถูกกฎหมาย รวมทั้งยังมีการพูดถึงการต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าวด้วย ไม่น่าเชื่อว่า 20 ปีต่อมา มีการออกพระราชกำหนดด้วยความคิดที่ล้าหลังแบบย้อนยุคได้ขนาดนี้ แม้จะออกในแนวประชดประชันแต่มันก็ทำให้เห็นภาพของการไม่รู้จักคิดได้เป็นอย่างดี

ไม่เพียงเท่านั้นจาตุรนต์ยังบอกอีกว่า นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการบริหารประเทศที่ขาดวิสัยทัศน์ ขาดความรู้ความเข้าใจในปัญหาของประเทศ สามารถทำให้เกิดความเสียหายได้มากมายมหาศาลอย่างไร และนี่เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างดีว่า เหตุใดจึงไม่ควรให้คนพวกนี้วางแผนปฏิรูปไปอีกนานถึง 20 ปี บลัฟกันเห็นๆ แต่เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยก็เห็นว่าเป็นความจริง

คงไม่มีใครมองว่าเป็นการปัดความรำคาญจากกรณีที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ระบุว่าบิ๊กตู่อาจจะลงเลือกตั้งหากในอนาคตหากสถานการณ์เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แค่นี้ก็ช่วยโหมเชื้อไฟเรื่องการตั้งพรรคทหารที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้เหนืออยู่ความคาดหมายก็ปูทางกันมาถึงขนาดนี้ ไม่รู้จะเหนียมกันไปทำไม

ส่วนเรื่องที่คาดหมายกันว่าบิ๊กป้อมจะเป็นผู้จัดการรัฐบาลหลังการเลือกตั้งนั้น หากมองในแง่ของคอนเน็คชั่นและอำนาจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ก็มีความเป็นไปได้ แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธว่าไม่มีทาง และเมื่อถึงเวลานั้นคสช.ก็พ้นจากอำนาจไปแล้ว เพียงแต่ว่ารายทางก่อนจะไปถึงวันนั้น ไม่แน่ชัดว่าอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นจะออกมาในรูปใด

สัมพันธ์ของพี่น้องบูรพาพยัคฆ์ที่แข็งแกร่งจะสั่นคลอนหรือเปล่า หรือฐานของแม่ทัพนายกองที่วางหมากกลกันไว้ยังเหนียวแน่นเหมือนเดิมหรือไม่ เหล่านี้ไม่มีใครตอบได้ หน้าฉากดูเหมือนจะแข็งแรงแต่หลังฉากเชื่อว่าตัวละครแต่ละรายต่างสัมผัสกันได้ มีอะไรยังเหมือนเดิมหรืออะไรที่เปลี่ยนไป สิ่งสำคัญอีกประการคือกองเชียร์ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้อำนาจเผด็จการนั้น ยังคงเหนียวแน่นและสนับสนุนอย่างแข็งขันเหมือนเดิมหรือไม่

Back to top button