พาราสาวะถี
ขอต่อเนื่องว่าด้วยเรื่องพ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 อีกสักยก วันนี้แม้รัฐบาลจะใช้มาตรา 44 ขยายเวลาเพื่อบังคับใช้กฎหมายในบางมาตรา และทางกระทรวงแรงงานในฐานะต้นเรื่อง เพิ่งนึกได้ว่า ควรรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย จึงจะเปิดเวทีแลกเปลี่ยนในวันพรุ่งนี้ ถึงจะมาช้ายังดีกว่าทุบโต๊ะเปรี้ยงแล้วหายนะมาเยือน
พาราสาวะถี : อรชุน
ขอต่อเนื่องว่าด้วยเรื่องพ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 อีกสักยก วันนี้แม้รัฐบาลจะใช้มาตรา 44 ขยายเวลาเพื่อบังคับใช้กฎหมายในบางมาตรา และทางกระทรวงแรงงานในฐานะต้นเรื่อง เพิ่งนึกได้ว่า ควรรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย จึงจะเปิดเวทีแลกเปลี่ยนในวันพรุ่งนี้ ถึงจะมาช้ายังดีกว่าทุบโต๊ะเปรี้ยงแล้วหายนะมาเยือน
เสียงเตือนที่ดังไปทั่วสารทิศ ไม่ใช่ว่าเพราะคนไม่เห็นด้วย เพียงแต่ว่าเรื่องนี้มันไม่น่าจะมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนถึงขั้นที่จะต้องออกมาเป็นพ.ร.ก. โดยที่ไม่ได้ให้ผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเตรียมความพร้อมแม้แต่น้อย ดังนั้นเสียงสะท้อนที่ตอกย้ำอย่างเป็นทางการจาก จาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะผู้ที่เคยร่วมถกแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจควรเปิดใจกว้างรับฟัง
การออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาและสภาพความเป็นจริงของประเทศที่ต้องอาศัยพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว ที่มีส่วนสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมานาน สวนทางกับโครงการความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและยังขัดแย้งกับการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย
การออกพ.ร.ก.นี้ไม่ใช่แค่ปัญหาทางเทคนิคกฎหมายหรือปัญหาในภาคปฏิบัติ แต่เป็นความผิดพลาดระดับยุทธศาสตร์ของประเทศที่จะทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การออกพ.ร.ก.ฉบับนี้มาเหมือนกับคสช.และรัฐบาลนี้ไม่รับรู้หรือเข้าใจปัญหาและทิศทางของประเทศเลยแม้แต่น้อย นอกจากจะไม่แก้ปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่อดีตแล้ว ยังจะซ้ำเติมปัญหาให้หนักกว่าเดิมอย่างร้ายแรงอีกด้วย
ที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนของไทยมองเห็นความจำเป็นและประโยชน์ของการอาศัยแรงงานต่างด้าว จึงมีการนำเข้าสู่ระบบและมีกฎระเบียบรองรับ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังเป็นแบบครึ่งๆกลางๆ มีการดำเนินการอย่างลูบหน้าปะจมูก ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทำผิดกฎหมายและสร้างเงื่อนไขให้เกิดความยุ่งยากในการจะปฏิบัติตามกฎระเบียบ ทำให้เป็นช่องทางในการทำมาหากินของเจ้าหน้าที่และเป็นต้นทุนสูงสำหรับผู้ประกอบการกว่าที่ควรจะเป็น
ขณะที่การมีแรงงานไม่ถูกกฎหมายจำนวนมากก็ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจ ทั้งยังเน้นแต่แรงงานฝีมือต่ำราคาถูก แต่กีดกันแรงงานฝีมือหรือผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญต่างๆที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม สภาพอย่างนี้ดำรงอยู่มานานแล้วและปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายหลายล้านคน
หากมีการดำเนินการเคร่งครัดตามกฎหมายนี้ จะมีผลทำให้แรงงานต่างด้าวนับล้านๆ คนต้องอพยพออกจากประเทศไทยทันที ส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางทั่วประเทศล้มระเนระนาดกันไปหมด จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยเป็นแสนล้านและประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้วจะยิ่งเดือดร้อนมากขึ้น แต่ถ้ามีการผ่อนปรนแบบให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบ
การมีบทลงโทษหนักและสภาพไร้ทิศทางหรือวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ เท่ากับเป็นการสร้างช่องทางทำมาหากินให้กับเจ้าหน้าที่บนความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว ทางออกในเรื่องนี้ จึงไม่ใช่การผ่อนปรนชั่วคราวและใช้ดุลพินิจตามใจชอบของเจ้าหน้าที่
ส่วนที่มีการวิเคราะห์กันว่า การที่รัฐบาลออกพ.ร.ก.นี้อาจต้องการเอาใจสหรัฐอเมริกาหรืออวดอ้างต่อต่างประเทศว่ามีการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวให้ก้าวหน้าทันสมัยนั้น กรณีนี้จะมีผลตรงกันข้าม ด้วยระบบการบังคับใช้กฎหมายที่จุกจิกยุ่งยาก แต่บทลงโทษหนักมากอย่างนี้ แรงงานต่างด้าวที่ยังอยู่ต่อไปจะยิ่งถูกเอารัดเอาเปรียบและอยู่ในสภาพพลเมืองชั้นสามชั้นสี่ ถูกละเมิดสิทธิ์ของความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นปัญหาของสังคมที่สำคัญมากด้วย
เห็นอาการจากพ.ร.ก.จัดการแรงงานต่างด้าวแล้ว ก็นึกถึงความพยายามในการเดินหน้าแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งมีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่ภาคประชาชน แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์อย่างล่าสุด มีความเห็นมาจาก นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ในประเด็นการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว
โดยที่คุณหมอบัลลังก์มองว่า การผูกเงินเดือนเข้ากับงบรายหัวเริ่มตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพจนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 15 ปีแล้ว ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆได้ปรับตัวไปพอสมควรจนถึงระดับที่ไม่น่ากลับไปเริ่มใหม่แล้ว และหากมีการแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัวจะทำให้เกิดปัญหาทันทีกับโรงพยาบาลที่มีข้าราชการน้อยและมีการจ้างบุคลากรโดยใช้เงินนอกงบประมาณจำนวนมาก
นอกจากนั้น ยังเห็นว่ามันมีวิธีบริหารจัดการ ซึ่งเชื่อว่าทุกแห่งก็ปรับตัวมาตลอด ส่วนปัญหาปลีกย่อยก็ค่อยๆแก้ ไม่มีอะไรที่แก้ไม่ได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลา การแก้จุดหนึ่งแน่นอนว่ามีกลุ่มหนึ่งพอใจ อีกกลุ่มเสียเปรียบ ก็ต้องปรับไปเรื่อย สุดท้ายก็บาลานซ์ไปจนได้ และถ้าดูในภาพรวม โรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงเหลือเยอะหรือมีงบประมาณมากๆ ก็เริ่มลดลง หรือโรงพยาบาลที่ขาดทุดเยอะๆ ก็เริ่มดีขึ้น ฉะนั้นในภาพใหญ่มันเริ่มไปกันได้แล้ว
ถือเป็นความเห็นแบบตรงไปตรงมา ประสาคนที่ทำงานและสัมผัสปัญหามาโดยตลอด เช่นเดียวกับ ชมรมแพทย์ชนบท ได้เรียกร้องให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดข้อมูลการจัดสรรงบประมาณนอกเหนือจากงบบัตรทองในส่วนของโรงพยาบาลต่างๆ โดยให้เปิดเผยการจัดสรรงบประมาณ อีก 2 กองทุน ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข
ไหนๆ จะเปิดแล้ว ก็เปิดกันให้หมด โดยงบ 2 กองทุนในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข คือ งบกองทุนคืนสิทธิ์ตามมติครม.เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 และ งบแรงงานต่างด้าวที่กันไว้ส่วนกลาง เปิดเผยมาว่าจัดสรรอย่างไร เอาไปใช้อะไรบ้าง และต้องจัดการเอาขึ้นเว็บไซต์เป็นปัจจุบัน เหมือนงบกองทุนบัตรทอง เออ!นั่นนะสิ ไหนๆก็จะโชว์ความโปร่งใสแล้วก็ต้องเปิดกันให้หมด อย่าทำกันแบบลับๆ ล่อๆ ให้มีข้อครหาว่า บางอย่างไม่ใช่อ้างความเป็นคนดีแล้วไม่ต้องเปิดเผยหรือถูกตรวจสอบก็ได้