เงินเฟ้อถดถอย
กระทรวงพาณิชย์คงจะไม่สามารถอธิบายสำหรับตัวเลขล่าสุดว่าด้วยดัชนีราคาผู้บริโภค เพรามันเกิดสถานการณ์ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ พยายามป่าวประกาศ
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
กระทรวงพาณิชย์คงจะไม่สามารถอธิบายสำหรับตัวเลขล่าสุดว่าด้วยดัชนีราคาผู้บริโภค เพรามันเกิดสถานการณ์ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ พยายามป่าวประกาศ
เมื่อวานนี้ กระทรงพาณิชย์ประกาศว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา อยู่ที่ 100.66 หดตัว -0.05% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.02% จากเดือนพฤษภาคม ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวแค่ 0.67%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (Core CPI) เดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ 100.77 ขยายตัว 0.45% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.08% จากเดือนพฤษภาคม ขณะที่ Core CPI ช่วง 6 เดือนแรกของปี ขยายตัว 0.56%
ที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เงินเฟ้อจะถดถอยลงอีก โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2560 ลดลงอยู่ระหว่าง 0.7-1.7% จากเดิมคาด 1.5-2.2% เพื่อให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง
โดยทั่วไปแล้ว ดัชนีราคาสินค้าบริโภคที่ถดถอยลง ไม่ได้เกิดขึ้นตามลำพัง แต่มักจะเกิดขึ้นเป็นสัดส่วนตรงกับอัตราการเติบโตที่ถดถอยลง เพราะเชื่อมโยงไปถึงภาวะที่เรียกว่า เงินเฟ้อถดถอย (negative inflation หรือ disinflation) เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินยังไม่ติดลบ และสินค้าบางรายการก็มีราคาสูงขึ้น ไม่ได้ถูกลงทั่วทั้งตลาด
ภาวะเงินเฟ้อถดถอยและเงินฝืด (วัดได้จากอัตราดอกเบี้ยและดัชนีราคาสินค้า) แม้จะมีค่าที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ภาวะเงินเฟ้อถดถอยก็ยังถือว่าดีกว่าเงินฝืด เพราะในกรณีปกติ ราคาสินค้าทั่วไปลดลงต่อเนื่อง โดยที่กำลังซื้อของตลาดหรืออุปสงค์ของผู้บริโภคไม่ได้ลดตามไปด้วย โอกาสที่เศรษฐกิจจะไม่ถดถอยตามไปด้วยยังคงสูง ยกเว้นกรณีที่เกิดมีแรงเหวี่ยงเป็นแนวโน้มสำคัญที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นคือ อัตราดอกเบี้ยทั่วไปในตลาดลดต่ำลงจนกระทั่งเกิดเป็นภาวะ “กับดักสภาพคล่อง” เพราะการลงทุนต่ำกว่าการออม และการบริโภคต่ำจนบีบให้ราคาสินค้าต้องลดราคาต่ำลงทั่วหน้า เพราะผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ
อีกมุมหนึ่ง เงินเฟ้อที่ถดถอย ย่อมโยงเข้ากับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ถดถอยลงไปด้วย
ตัวเลขที่เปลี่ยนไปของกระทรวงพาณิชย์ทั้งเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐาน สร้างบรรยากาศต่างจากปลายปีก่อนมาก เพราะในเดือนธันวาคมปีก่อน มีตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 106.93 เพิ่มขึ้น 1.15% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงในอัตราสูงที่สุดในรอบ 25 เดือน โดยที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2559 ขยายตัว 0.19% ยังอยู่ภายใต้กรอบคาดการณ์ที่ 0.0-1.0% ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.74%
ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ออกมาอธิบายเจื้อยแจ้วว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม พร้อมกับคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2560 นี้ กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่า จะขยายตัวมากกว่าปี 2559 เล็กน้อยในกรอบ 1.5-2.0% ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3.0-3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 45-55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ครั้งนั้น ไม่มีคำว่า “ราคาสินค้าแพงขึ้น” โผล่ออกมาจากปลายลิ้นของเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ แม้แต่คำเดียว ความหมายของเงินเฟ้อ คือ การที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าและบริการ ที่โยงเข้ากับ 3 ตัวแปร คือ 1.) อุปสงค์และอุปทานของเงินและสินเชื่อ 2.) อุปทานของสินค้าและบริการ 3.) อุปสงค์ของสินค้าและบริการ
การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการ ต้องมีสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือ ทั้งหมดจาก 3 ข้อข้างต้น และในทางกลับกัน ราคาสินค้าและบริการที่ลดลง ก็เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่กลับกันเช่นกัน คือ มีปริมาณเงินในตลาดลดลง หรือ มีอุปทานของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น หรือ มีการลดลงของอุปสงค์อย่างรวดเร็วเกินปกติ
การเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงของราคาน้ำมันดิบ เป็นปัจจัยสำคัญหลักของเงินเฟ้อทั่วไป แต่ความผันผวนที่มากเกิน ทำให้การคำนวณเงินเฟ้อในปัจจุบัน เปลี่ยนไปให้น้ำหนักพิจารณาตัวแปรหลักในการคำนวณเงินเฟ้อที่แท้จริงมากกว่า ได้แก่ ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในตลาด ที่เป็นกุญแจหลักชี้ขาดว่า เงินจะเฟ้อมากหรือน้อย
มุมมองดังกล่าวชี้ว่า เมื่อใดที่การไหลเวียนของปริมาณเงินในตลาดมีแนวโน้มช้าลง ราคาสินค้าจะมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงอย่างมีนัย และในทางกลับกัน หากการไหลเวียนเงินในตลาด มีแนวโน้มเร็วขึ้น ราคาสินค้าก็จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว นั่นคือ มูลค่าของเงิน แปรผกผันกับเงินเฟ้อ ในขณะที่มูลค่าของสินค้า แปรผันตรงกับเงินเฟ้อ
หากเราเชื่อว่า ธนาคารกลางอย่าง ธปท. มีบทบาทสำคัญในนโยบายการเงิน ที่โยงเข้ากับการบริหาร 2 เรื่องคือ อัตราดอกเบี้ย และการควบคุมปริมาณเงินหมุนเวียนในท้องตลาดเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับกลไกเศรษฐกิจ ด้วยคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ร่วมสมัย ว่าด้วย “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” (Inflation Targeting) ซึ่งเปรียบเป็นยาสารพัดนึก ทั้งในฐานะเกราะกำบัง และอาวุธอันแหลมคม เพื่อความชอบธรรมในการตัดสินใจแล้วละก้อ
คำถามคือ การที่ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลงในเดือนมิถุนายน และคาดว่าจะลดลงในครึ่งหลังของปีนี้ จะเกิดจากน้ำมือของ ธปท. หรือว่า เกิดจากราคาน้ำมันเป็นสำคัญ
ถ้าเป็นอย่างแรก แสดงว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลงปีนี้ เกิดจากฝีมือมนุษย์ ไม่ใช่กลไกตลาดตามธรรมชาติ