พาราสาวะถีอรชุน
เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยสำหรับการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของสปช. แค่พอถูๆ ไถๆ ให้ชาวบ้านร้านรวงได้เห็นว่า มีการแตกกว้างทางความเห็นเป็นพิธีกรรมก็เท่านั้นเอง ที่เห็นได้เนื้อได้หนังในฐานะผู้อาวุโสที่คร่ำหวอดอยู่กับการเมืองและคลุกอยู่กับประชาชนมาอย่างยาวนาน คงเป็นรายของ ปู่ชัย ชิดชอบ ที่ยกย่องคณะกรรมาธิการยกร่างเป็นมหาปราชญ์
เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยสำหรับการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของสปช. แค่พอถูๆ ไถๆ ให้ชาวบ้านร้านรวงได้เห็นว่า มีการแตกกว้างทางความเห็นเป็นพิธีกรรมก็เท่านั้นเอง ที่เห็นได้เนื้อได้หนังในฐานะผู้อาวุโสที่คร่ำหวอดอยู่กับการเมืองและคลุกอยู่กับประชาชนมาอย่างยาวนาน คงเป็นรายของ ปู่ชัย ชิดชอบ ที่ยกย่องคณะกรรมาธิการยกร่างเป็นมหาปราชญ์
เป็นการลูบหลังก่อนที่จะตบหัวด้วยประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกรณีการเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วนผสมอันจะทำให้พรรคการเมืองระส่ำระสาย จึงเสนอให้มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้งหมด 450 คนไม่ต้องมีบัญชีรายชื่อก็ได้ เช่นเดียวกันกับเก้าอี้ส.ว.ที่ควรจะมาจากการเลือกของประชาชน ไม่ต้องไปเลี้ยววกวนซ่อนปมซ่อนเงื่อนเป็นเลือกตั้งทางอ้อมแบบที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ พยายามสาธยาย
ในความเห็นของปู่ชัยระบุไว้เลยว่า ถ้าอยากจะให้ส.ว.มีคุณสมบัติสูงส่ง กำหนดให้จบดอกเตอร์ไปเลยก็ยังได้ แต่ต้องให้ประชาชนเป็นผู้เลือก เรียกได้ว่า คนที่มีวิชาความรู้มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ไม่จำเป็นต้องจำกัดไว้ในเฉพาะแวดวงของคนดีแล้วใช้วิธีลากตั้งกันเข้ามา เช่นเดียวกันกับกรณีที่ให้คนลงสมัครส.ส.สังกัดกลุ่มการเมืองได้
ประสาคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากและเห็นความขัดแย้งมาโดยตลอด ปู่ชัยฟันธงเปรี้ยง“ฉิบหายแน่” เรียกได้ว่าแม้จะแก่แต่ก็ยังเก๋า ใช้หลักการประชาธิปไตยแบบที่ชาวบ้านเข้าใจเข้าถึงได้ง่ายๆ มาอภิปรายให้คนดีทั้งหลายได้สำเหนียก แต่ไม่น่าจะกระตุกอะไรได้มาก เพราะฟัง เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช.สายการปกครองส่วนท้องถิ่นอภิปรายแล้วน่าอดสู
ข้อมูลที่ว่ามาคือ ในมาตรา 216 (3) กรณีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการท้องถิ่นโดยระบบคุณธรรมแต่ละจังหวัด ที่ประชุมอนุกรรมาธิการเสียงข้างมาก 14 เสียงไม่เอาด้วย มีคนหนุนแค่ 1 เสียง ประชาธิปไตยในแบบของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็คือให้ความสำคัญกับเสียงข้างน้อย เลยบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
นั่นแสดงว่า การมีมติไร้ความหมายสำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญหนนี้ ทุกอย่างต้องว่ากันไปตามธงหรือพิมพ์เขียวที่กำหนดไว้เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมองไม่เห็นคุณูปการอันจะได้จากการที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือศปป. เชิญตัวแทนพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองและเหล่านักวิชาการแลกเปลี่ยนความเห็นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
เพราะเสียงที่สองพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เห็นตรงกันโดยไม่ได้นัดหมาย เช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดกลางอย่างภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย หากไม่มีการแก้ไขยากเป็นอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศ
ด้วยท่วงทำนองอันเป็นที่รู้กันเช่นนี้หรือเปล่าไม่ทราบ จึงทำให้ วิษณุ เครืองาม ออกมาท้วงติงว่า กฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับที่ 20 มีจำนวนมาตรามากเกินไป จึงเสนอให้ปรับลดลงอีก 20-30 มาตรา โดยเนื้อหาสาระที่ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้นำไปเขียนไว้ในกฎหมายลูก พร้อมชี้ช่องสปช.ถ้าเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญไม่ดีพอก็ไม่ต้องให้ผ่านเพื่อให้ทุกอย่าง “ตายตกไปตามกัน”
แต่ดอกเตอร์ปื๊ดก็รีบออกมาสวนทันควัน เหตุที่มีมาตราเยอะเพราะมีเรื่องของการปรองดองและปฏิรูปเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าอยากจะให้ตัดออกก็ไม่เป็นปัญหา ประสาเนติบริกรนักพูดเรื่องคารมไม่ต้องห่วง ส่วนจะทำกันได้จริงหรือไม่ ยังต้องรอพิสูจน์ ที่แน่ๆ มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า การทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อาจจะไม่ได้ตามใจ “แป๊ะ” แต่เพียงผู้เดียว
โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัว พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซัดร่างรัฐธรรมนูญให้ส.ส.สังกัดกลุ่มการเมืองได้ ก็คือการให้มุ้งการเมืองแยกจากพรรค แล้วส่งคนลงเลือกตั้งได้ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ เมื่อเป็นเช่นนี้สภาจะกลายสภาพเป็นเบี้ยหัวแตก มีแต่พรรคเอสเอ็มอี และสารพัดมุ้งเล็กเต็มไปหมด ผสมพันธุกันแล้วก็ยกมือเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ จากนั้นก็ต่อรองแบ่งโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีกันสนุกสนาน
ไม่เพียงเท่านั้น อาจารย์พิชิตยังบอกว่าการร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะทำให้การเมืองย้อนยุคไปเหมือนสมัยรัฐบาลเปรมเมื่อปี 2523-2530 คนที่ร่างก็ยอมรับเองว่าต้องการให้มีรัฐบาลผสม ครม.ไม่มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการใดๆ แค่นี้ยังไม่พอ ทั้งครม.และสภายังถูก“มัดตราสังข์” หลายชั้นด้วยสารพัดองค์กรลากตั้ง ที่เอามีดจ่อคอหอย ทั้งตรวจสอบ สอบสวน ปลด ถอดถอน
เลือกตั้งไปแล้ว ก็เหมือนไม่มีรัฐบาล ไม่มีสภา เพราะถึงมีจริง แต่ทำงานอะไรไม่ได้ งานบริหารจะอยู่ที่บรรดาปลัดกระทรวงและอธิบดี รัฐบาลกับสภาเป็นไม้ประดับ เป็นระบบการเมืองที่พิการตั้งแต่ไม่ทันคลอด ผิดฝาผิดตัว ผิดสัดส่วน จนน่าจะเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับแฟรงเก้นสไตน์ ไม่ต้องอธิบายก็เห็นภาพชัดแล้วว่าเป็นอย่างไร
เช่นเดียวกันกับ จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ย้ำว่า ความเห็นของพรรคการเมืองในที่ประชุมศปป.คือ ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าบังคับใช้จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้นและไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น จึงต้องมีการแก้ไขเนื้อหาสำคัญเสียก่อน และดีที่สุดคือ ต้องทำประชามติ แม้ส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่า ถ้าลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะไม่ผ่านความเห็นชอบอยู่ดี
ฟังความเสียงของจาตุรนต์ก็คือ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วต้องยกร่างกันใหม่ จะทำให้เสียเวลา ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะถือว่ายังดีเสียกว่าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและจะสร้างปัญหาต่อไปนำมาบังคับใช้ นั่นเท่ากับยืนยันข่าวที่บางพรรคการเมืองจะเว้นวรรคถ้ารัฐธรรมนูญบังคับใช้หรือหลายพรรคยินดีที่จะให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปเป็นความจริง