พาราสาวะถี

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พยมยงค์ จัดปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ครบรอบ 85 ปี การอภิวัฒน์สยาม หัวข้อประชาธิปไตย กลไกตลาด รัฐ และทุน โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ เจ้าของโปรเจกต์ยึดไอทีวีแปลงร่างเป็นไทยพีบีเอสในยุคคมช.พูดถึงเรื่องประชาธิปไตยได้อย่างน่าสนใจ


อรชุน

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พยมยงค์ จัดปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ครบรอบ 85 ปี การอภิวัฒน์สยาม หัวข้อประชาธิปไตย กลไกตลาด รัฐ และทุน โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ เจ้าของโปรเจกต์ยึดไอทีวีแปลงร่างเป็นไทยพีบีเอสในยุคคมช.พูดถึงเรื่องประชาธิปไตยได้อย่างน่าสนใจ

มีการเปิดเผยสถิติประชาธิปไตยกินได้ที่พบว่า รัฐบาลพลเรือนสร้างสวัสดิการให้คนธรรมดามากกว่าช่วงเผด็จการ แต่ก็ต้องระวังความไม่เข้าใจข้อจำกัดของประชาธิปไตยที่จะส่งผลทำลายประชาธิปไตย แนะสองกลุ่มการเมืองทั้งเหลืองและแดง อยากกลับสู่ประชาธิปไตยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และเข้าใจความคับข้องใจของกันและกัน แทนที่จะหาวิธีแบ่งเขาแบ่งเราแบบที่เกิดขึ้นในหมู่ปัญญาชนทั้ง 2 ฝ่ายที่มักมีถ้อยคำเหน็บแนมกระทบกระแทกกันตลอดเวลา

มีข้อเสนอการปรับปรุงทิศทางและบทบาทรัฐไทยอย่างน้อย 4 ทิศทาง ได้แก่ ให้ท้องถิ่นตัดสินใจ ให้สังคมช่วยลงทุน ให้ธุรกิจมีส่วนร่วม และ ให้ภาครัฐปรับบทบาทตัวเอง แน่นอนว่าในฐานะประธานทีดีอาร์ไอ ซึ่งศึกษาข้อมูลหลากหลายมิติ ชี้ให้เห็นมิติความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทุนใหญ่ผูกขาด และที่น่ากลัวกว่าทุนโลกาภิวัตน์ก็คือ ทุนชาติที่แทรกแซงรัฐอย่างไม่เกรงใจ

สิ่งที่น่าสนใจคือ การวิเคราะห์รัฐและทุน เศรษฐกิจและประชาธิปไตย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง ถ้าอยากเห็นเศรษฐกิจเปิด อยากสืบสานปณิธานปรีดี อยากเห็นการเมืองเป็นประชาธิปไตย ถ้าจะแกะปมด้านการเมือง ก็ต้องแกะปมเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ถ้าจะแกะปมเศรษฐกิจก็ต้องแกะปมการเมืองไปพร้อมกัน โจทย์นี้จึงเป็นโจทย์ที่ยากที่ต้องการ

การรวมพลังกันของภาคสังคมทั้งหมด ไม่ใช่การแบ่งแยกพวกเรา ซึ่งมีกำลังความสามารถน้อยอยู่แล้ว ให้แตกแยกไปเรื่อยๆ เพื่อนำประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ที่ยกมาเพียงบางส่วนนี้ แต่เข้าใจว่าน่าจะครอบคลุมเนื้อหาที่สมเกียรติตั้งใจจะสื่อสารทั้งหมด แต่มีปมที่ว่าด้วยเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งมีนักวิชาการวิจารณ์ไว้อย่างน่ารับฟังไม่น้อย

ที่สมเกียรติที่บอกว่า  คนมีโอกาสจะโหวตแบบคนเสื้อแดงมากกว่าแบบคนเสื้อเหลือง คนเสื้อเหลืองมีแนวโน้มเป็นเสียงข้างน้อยยาวนาน เพราะฉะนั้นความคับข้องใจคือ เลือกตั้งกี่ครั้งเขาก็ไม่ชนะ ถ้าเสียงข้างมากไปใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกลายเป็นทรราชเสียงข้างมาก คนที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ในระบบก็จะหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ

ในมุมของ สุรพศ ทวีศักดิ์ มองว่า ปาฐกถาของสมเกียรติเป็นส่วนขยายของทฤษฎี 2 นคราประชาธิปไตย ที่ว่าคนต่างจังหวัด คนชนบทตั้งรัฐบาล คนชั้นกลางในเมืองล้มรัฐบาล ตอนนี้ก็ขยายมาเป็นเลือกตั้งกี่ครั้งฝ่ายเสื้อแดงก็ชนะเพราะเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก ฝ่ายเสื้อเหลืองมีแต่แพ้ เพราะเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อย คีย์เวิร์ดอยู่ที่ข้อความว่า ถ้าเสียงข้างมากไปใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกลายเป็นทรราชเสียงข้างมาก คนที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ในระบบก็จะหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ

ข้อความนี้ดูเหมือนจะสอดคล้องกับวาทกรรมทางการเมืองที่สร้างความเชื่อว่ามีทรราชเสียงข้างมาก และประชาชนส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนเลือกรัฐบาลที่ต่อมากลายเป็นทรราชเสียงข้างมาก ก็ยินดีกับการเป็นทรราชเสียงข้างมากด้วย หรือไม่สามารถมีวิจารณญาณที่ถูกต้องและไม่ตรวจสอบ หรือไม่ต่อต้านอำนาจทรราชนั้นเลย จึงจำเป็นที่อีกฝ่ายต้องหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ

สุรพศออกตัวว่า ไม่ได้ปกป้องทักษิณหรือพรรคเพื่อไทย และยังเห็นว่าพวกเขาทำสิ่งที่เป็นปัญหาหลายอย่าง ตามที่วิจารณ์กัน ตั้งแต่เรื่องฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรณีกรือเซะ ตากใบ มีข้อบกพร่องในโครงการรับจำนำข้าว เรื่อยมาถึงแทนที่จะนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองระดับชาวบ้าน กลับจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นต้น

แต่สิ่งที่อดตั้งคำถามไม่ได้คือ ถ้าทั้งหมดที่สมเกียรติหรือฝ่ายเสื้อเหลืองจะเรียกว่าทรราชเสียงข้างมาก แล้วจะเรียกรัฐบาลคสช.ว่าอะไร เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการใช้วิธีล้มโต๊ะ ที่ไม่มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบในสภา และประชาชนก็ไม่มีเสรีภาพตรวจสอบ แต่ทำโครงการใหญ่ๆ ใช้งบประมาณมหาศาลกว่ารัฐบาลที่เรียกกันว่าทรราชเสียงข้างมากและออกกฎหมายอื่นๆ ทำสิ่งอื่นๆมากกว่าอีกหลายเท่า

คำถามคือ มันมีการสร้างมายาคติทรราชเสียงข้างมากไหม? เหมือนกับการสร้างมายาคติเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่เป็นวาทกรรมสงวนไว้ใช้กับนักการเมืองเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้กับรัฐบาลที่มาจากวิธีการล้มโต๊ะที่พวกตนสนับสนุน (ขณะที่เคยกล่าวหาว่าอีกฝ่ายไม่ตรวจสอบรัฐบาลทรราชเสียงข้างมากที่พวกตนเลือกมา)

ย้อนไปประเด็นเลือกตั้งเมื่อไรฝ่ายเสื้อแดงก็ชนะ คำถามคือทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ข้อเท็จจริงก็คือการเลือกตั้งเป็นเวทีต่อรองทางการเมืองเวทีเดียวที่เป็นรูปธรรมที่สุดของคนต่างจังหวัด คนชนบท ขณะที่ชนชั้นกลางในเมืองมีเครื่องมือต่อรองอื่นๆที่เหนือกว่า เช่น สื่อมวลชน เวทีวิชาการ สถาบันวิชาการ(อย่างทีดีอาร์ไอเป็นต้น) กองทัพ ศาลรัฐธรรมนูญและอื่นๆ

ฉะนั้น การเกิดปรากฏการณ์เสื้อแดงที่ยึดการเลือกตั้ง เป็นเวทีต่อสู้ต่อรองทางการเมืองมันก็คือผลสะท้อนจากการที่คนต่างจังหวัด คนชนบทมีเวที เครื่องมือ อำนาจต่อรองน้อยกว่ามายาวนานนั่นเอง ความเห็นของสุรพศต่อประเด็นเสียงข้างมากข้างน้อยหรือฝ่ายเหลืองและแดงนั้นยังไม่จบ มีการขมวดปมหลายประเด็นที่น่าสนใจ เก็บเอาไว้ติดตามพรุ่งนี้ต่อ

วันนี้ขอแสดงความยินดีกับนายจ้างและต่างด้าวกันก่อนแล้วกัน หลังที่ประชุมคสช.มีมติขยายกรอบเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว 2560 ออกไปอีก 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมาถึง 1 มกราคมปีหน้า เพื่อให้แรงงานที่ทำผิดกฎหมายไปจดทะเบียน ดำเนินการด้านเอกสารให้ถูกต้อง ที่ต้องกำชับกันหนักคงไม่ใช่นายจ้างและลูกจ้างที่ทำผิดกฎหมาย แต่เป็นคนร่างกฎหมายจะทำอะไรให้มันรอบคอบหน่อย จะได้ไม่ต้องใช้ม.44 มาแก้อาการหน้าแหกบ่อยๆ เดี๋ยวหมดความขลัง

Back to top button