ระวังพังกับรัฐราชการ
คนพม่าท่าขี้เหล็กโพสต์เฟซบุ๊คถ่ายภาพประชด มาทำงานเมืองไทยต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม พาสปอร์ต บัตรต่างด้าว ใบอนุญาตทำงาน ฯลฯ ติดแปะไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ทำงานไปจนนอนหลับ ไม่งั้นโดนจับ
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
คนพม่าท่าขี้เหล็กโพสต์เฟซบุ๊คถ่ายภาพประชด มาทำงานเมืองไทยต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม พาสปอร์ต บัตรต่างด้าว ใบอนุญาตทำงาน ฯลฯ ติดแปะไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ทำงานไปจนนอนหลับ ไม่งั้นโดนจับ
คนไทยส่วนใหญ่ไม่ยักโกรธ กลับตลกขบขัน ทั้งที่ปกติจะชาตินิยมเกลียด “พม่าเผากรุง” เมื่อผู้ว่าฯ เมียวดีโวยว่าแรงงานพม่าถูกรีดไถ คนไทยส่วนใหญ่เชื่อด้วยซ้ำ แบบเดียวกับเสื้อแดงยังเชื่อเมื่อกปปส.แฉการซื้อขายเก้าอี้ตำรวจ
ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จก็ตาม ภาพลักษณ์ของข้าราชการ ที่มีอำนาจจัดซื้อจัดจ้าง ออกใบอนุญาต หรือจับกุมปราบปราม ไม่ดีเลยในสายตาชาวบ้าน ไม่ว่าคนชั้นล่างชั้นกลาง หรือภาคธุรกิจเอกชน ไม่ว่าในด้านความโปร่งใส หรือความไร้ประสิทธิภาพ ล่าช้า ติดอยู่ในกฎระเบียบล้าหลัง
แหม กระทั่งท่านนายกฯ ยังบ่นโมโหกระทรวงทรัพย์ เรื่องตัดไม้พะยูง ไม้ทิ่มบ้านไม่มีใครกล้าตัด ถ้าท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านจะตัดเลย แล้วถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นท่านก็บ่นสื่อ ว่าเอาไปขยายข่าวกฎหมายรังแกคนจน แบบเดียวกับแท็กซี่ แกร็บ อูเบอร์ กระทรวงที่รับผิดชอบตอบไม่รู้เรื่อง จนเกิดเรื่องแท็กซี่กับทหาร เสียหายมาถึงท่าน
ฟังแล้วก็อยากให้ท่านลองไปเป็นผู้ใหญ่บ้านดูจัง เป็นนายประยุทธ์ คนธรรมดาสามัญ ลงเลือกตั้งชนะ ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน จะได้รู้ว่าระบบราชการเป็นไง
นอกจากรู้ว่าทำไมผู้ใหญ่บ้านไม่กล้าตัดสินใจ ต้องรอรายงานตามลำดับชั้น ยังอาจได้รู้ว่าโครงการต่างๆ ที่ท่านพยายามผลักดัน เช่น ตำบลละ 5 ล้าน ได้ผลจริงไหม ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและความโปร่งใส
ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ คือเมื่อพยายามนำประเทศถอยหลัง ออกจากประชาธิปไตย ก็ต้องสร้างระบอบรัฐราชการเป็นใหญ่ ทั้งที่ระบบราชการไทยล้าหลัง ทุจริต ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ต่างกับนักการเมือง แต่นักการเมืองยังตรวจสอบได้ หลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐบาลทำ อาจตั้งใจดี แต่ไม่เข้าใจ หรือติดอยู่ในทัศนะรัฐราชการเช่นกัน ก็กลับส่งผลตรงข้าม
ไม่ว่าเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ซึ่งไปเพิ่มอำนาจราชการ เช่น พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ก็เป็นตัวอย่างของกฎหมายที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง เป็นกฎหมายยุคสงครามเย็นไม่ใช่ยุค AEC พอจะทำให้ถูกทุกอย่าง นอกจากเสียหายกับธุรกิจก็เป็นช่องทางทุจริตรีดไถ (ถ้าย้อนไปดู ม.44 รถกระบะ ก็มาจากแนวคิดคล้ายกัน)
เรื่องสำคัญยังได้แก่การใช้งบประมาณ ทั้งที่ประเทศต้องสร้างหนี้ ทำงบขาดดุล เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ กลับกลายเป็นว่า เมื่อเห็นงบลงทุนเยอะ หน่วยงานราชการก็เสนอใช้งบประมาณอย่างเปะปะ แล้วรัฐบาลก็อนุมัติโดยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
โครงการใหญ่ว่าตรวจสอบยากแล้ว ที่น่าวิตกกว่าคือโครงการ “เบี้ยหัวแตก” ซึ่งยากต่อการประเมินประสิทธิภาพ และติดตามความโปร่งใส โดยเฉพาะในยุคประชาชนไม่มีปากเสียง ถ้าลองไล่ดูข่าวสำนักข่าวอิศราก็พอจะเห็นบางส่วน เช่น ช็อปประชารัฐ อผศ.รับจ้างขุดลอกคลอง งบกำจัดผักตบชวา สนามฟุตซอลฯลฯ
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พูดเสมอว่ารัฐบาลนี้ทุ่มเทเพื่อเศรษฐกิจฐานราก แต่เอาเข้าจริงลงถึงชาวบ้านเท่าไหร่ นี่ต่างจาก “ประชานิยม” ยุคไทยรักไทยซึ่งกองทุนหมู่บ้าน SML ส่งถึงชาวบ้านโดยตรงไม่ผ่านระบบราชการ
รัฐบาลนี้เชื่อมั่นไว้วางใจระบบราชการ ก็ระวังไว้ว่าจะเกิดผลลบทั้งสองด้าน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจ จะไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง ขณะที่ประชาชนก็ไม่พอใจการใช้อำนาจของรัฐราชการมากขึ้นทุกที