ต้มกบ จากปริมาณสู่คุณภาพ

คุณโต้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รำพึงรำพันด้วยความละเหี่ยใจ ในฐานะอดีตขุนคลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของวิกฤตต้มยำกุ้งผ่านทางเฟซบุ๊ค ในหัวข้อว่า “เรายังพอมีเวลา...”


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

คุณโต้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รำพึงรำพันด้วยความละเหี่ยใจ ในฐานะอดีตขุนคลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของวิกฤตต้มยำกุ้งผ่านทางเฟซบุ๊ค ในหัวข้อว่า “เรายังพอมีเวลา…”

สาระสำคัญที่คุณโต้งระบุไว้ คือ การพยายามตอบคำถามว่า ไทยเราจะมีวิกฤตเศรษฐกิจแบบนั้นอีกไหม? ซึ่งมีคำตอบว่าเป็นไปได้ แต่ไม่เหมือนเดิมเพราะมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับ วิกฤตเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ โดยเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพว่า ปี 2540 ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นคน ก็คงเป็นคนผอมบักโกรก ที่เป็นโรคขาดอาหาร แต่ทะเยอทะยานอยากจะวิ่งแข่งไปอยู่แถวหน้าแบบไม่ประมาณตน วิ่งข้ามถนนไม่สำเร็จ ประสบอุบัติเหตุจนถึงขั้นวิกฤต ต้องนอนรักษาตัวในห้องไอซียู เป็นแรมปี

ตรงกันข้าม ในปี 2560 ประเทศไทย เปรียบได้กับคนอ้วน อุ้ยอ้าย ที่ปราศจากความปราดเปรียวในการขยับขับเคลื่อนร่างกาย ไปวิ่งแข่งขันกับใคร เงินตราต่างประเทศทะลักธนาคารกลาง ปริมาณเงินบาทล้นระบบจนธนาคารพาณิชย์ในประเทศไม่รู้จะไปปล่อยกู้ให้ใคร สะสมไขมันอันควรจะนำไปเป็นพลังงานของร่างกายเอาไว้เต็มพุง เงินล้นระบบ แต่ระบบคมนาคม และสาธารณูปโภคขาดประสิทธิภาพ คนส่วนใหญ่ของประเทศลำบากยากจนไม่มีกำลังซื้อที่จะสนับสนุนกิจการของคนไทยด้วยกันเอง ทัศนคติแบบเดิมๆ ยังครอบคลุมทั้งภาครัฐที่ถนัดนักกับเรื่อง ควบคุม และลงโทษ แต่อ่อนด้อยกับภารกิจในแนวคิด เเบบกำกับและพัฒนา

นอกจากร่างกายที่อวบอ้วนแล้ว ประเทศไทยยามนี้ ยังยืนอยู่บนลำแข้งที่ดูเหมือนสั้นข้าง ยาวข้าง หรือแกร่งข้าง ลีบข้างอย่างไม่สามัคคี และอ่อนล้าเพราะ… เอกชนไทยรายใหญ่ที่ถนัดกับการใช้ความใหญ่เอาชนะรายเล็กในบ้าน ไม่ถนัดที่จะออกนอกคลองไปสู้ปลาอื่นในแม่น้ำหรือทะเลที่ท้าทาย

ผลลัพธ์คือ ประเทศไทยยามนี้ ทำได้เพียงยืนนิ่งอยู่กับที่ เพื่อไม่ให้ล้มลงด้วยความอ่อนล้า กิจการต่างๆ ในภาคเอกชนจะเผชิญปัญหาการไม่สามารถเพิ่มรายได้ในขณะที่ต้นทุนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ในขณะที่เพื่อนร่วมภูมิภาคอาเซียน และเพื่อนร่วมประชาคมโลกต่างก้าวเดินต่อไป ด้วยความปราดเปรียวที่ตอบสนองโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วกำลังดำเนินไป

รำพึงรำพันดังกล่าว สอดรับกับความคิดคำนึงของใครหลายคนรวมทั้ง นายอภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่เพิ่งออกระบุว่า มีโอกาสจะเกิดปรากฏการณ์ “ต้มกบ” ขึ้นได้ในระยะต่อไป ซึ่งมีคนเห็นด้วยมากมาย ยกเว้นขาเชียร์ คสช.และคนเกลียดทักษิณกับพวก

ทฤษฎีต้มกบ หรือ Boiling Frog Syndrome เป็นทฤษฎีเก่าแก่ที่มาจากคำว่า หลิงชวี่ (Lingchi (凌迟; 凌遲) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีทรมานนักโทษยุคโบราณ ด้วยการเฉือนอวัยวะทีละชิ้นจนกว่าจะตาย (หากไม่รับสารภาพความผิด) แต่มาปรับทดลองทางวิทยาศาสตร์ในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะมีการนำเสนอเป็นทฤษฎี จากการทดลองของนักวิจัยไอริช ชื่ออ่านยาก Tichyand Sherman ไม่กี่ปีนี้เอง (1993) ที่นำกบมาต้มในอ่างน้ำ 2 อ่าง เพื่อศึกษาปฏิกิริยาตอบสนองของกบ อ่างน้ำใบแรกเป็นอ่างน้ำร้อนจัด ใบที่สองเป็นอ่างน้ำที่อุ่นสบายๆ และทำให้ค่อยๆ อุ่นขึ้นจนเดือด ศึกษาว่า กบตัวไหนจะตายก่อน หรือตัวไหนจะรอดชีวิต

ผลการทดลองปรากฏว่า กบตัวแรกใส่ในอ่างน้ำที่ร้อนจัด รีบกระโดดออกมาหลังจากสัมผัสน้ำเดือดทันที รอดชีวิต เพราะมีสัญชาตญาณของการเอาตัวรอดสูง แต่กบที่ใส่ในอ่างน้ำอุ่นที่ค่อยๆ ร้อนขึ้นกลับตาย เพราะกบจะไม่ยอมกระโดดออกมา ยังคงอยู่ในอ่างน้ำจนกระทั่งน้ำเดือด จากความเฉื่อยชาต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดขึ้น
ทฤษฎีนี้ ถูกนำไปขยายความใหญ่โต โดยนักต่อสู้เรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ป่าวร้องว่า ภาวะโลกร้อนจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ต้มกบในอนาคต

ในทางเศรษฐศาสตร์ พอล ครุกแมน นำเอาทฤษฎีต้มกบ ไปขยายความต่อเช่นกันอธิบายปรากฏการณ์ก่อนวิกฤตซับไพรม์ใน ค.ศ. 2008  โดยไม่แยแสกับคำโต้แย้งของนักวิจัยวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า ทฤษฎีต้มกบ เป็นมายาคติมากกว่าข้อเท็จจริง เพราะไม่ว่าจะทดลองแบบน้ำร้อนจัดหรือค่อยๆทำให้ร้อน กบก็จะตายทั้งคู่ หากว่าขอบอ่างสูงเกินจะกระโดดขึ้นมาได้

ทฤษฎีต้มกบ ถูกนำไปเทียบเคียงเข้ากับ ทฤษฎีการย้อนแย้งของกองทราย (Sorites Paradox Theorem – เม็ดทรายที่มีเม็ดทราย 1 ล้านเม็ด ไม่แตกต่างจากกองทรายที่มี 999,999 เม็ดทราย) ของนักคิดกรีกโบราณ ระบุว่า เม็ดทรายเม็ดเดียวไม่สามารถเรียกว่ากองทราย แต่เม็ดทรายสะสมจำนวนหนึ่งที่มากพอ ถึงจะเรียกว่ากองทรายได้ และในทางตรงกันข้าม การเอาเม็ดทรายไม่กี่เม็ดออกไปจากกองทราย ก็ไม่สามารถทำให้กองทรายเปลี่ยนสถานะเช่นกัน จนกว่าจะมีจำนวนมากเพียงพอ

ทฤษฎีการย้อนแย้งของกองทรายดังกล่าว ช่างคล้ายกับ ทฤษฎีดินพอกหางหมู หรือ ทฤษฎีมวลวิกฤต (Critical mass) หรือ ทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษ ของ คาร์ล มาร์กซ์ เพราะว่าด้วยการสะสมเชิงปริมาณ ก่อนที่จะระเบิดเป็นคุณภาพใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม

คำถามมีอยู่ว่า เศรษฐกิจไทยยามนี้และอนาคตข้างหน้า ภายใต้ฝ่าเท้าของอำนาจของรัฐทหารและราชการที่สมคบคิดกับกลุ่มทุนใหญ่กระชับอำนาจเบ็ดเสร็จและหวังอยู่ยาว จะใช้เวลานานแค่ไหนในการ “เร่งไฟให้น้ำเดือด” หรือ “ก่อเม็ดทรายเป็นกอง” หรือ “พอกดินที่หางหมู” หรือ “ถึงจุดวิกฤต” หรือ “สะสมเชิงปริมาณสู่คุณภาพ

หากคำตอบไม่เป็นอย่างที่คุณโต้งสรุปว่า “..เรายังพอมีเวลา” จะเป็นคำตอบใดในสายลม สำหรับแนวทางเศรษฐกิจที่คนกุมอำนาจ เน้นให้ความสำคัญของการเติบโตน้อยกว่าการสร้างค่าเช่าทางเศรษฐกิจ…ยังเป็นปริศนา

Back to top button