PACE ดอน กิโฮเต้ บนหอแดง

ตำราบริหารจัดการทั้งหลายในโลกนับแต่ปฐมบทของปีเตอร์ ดรักเกอร์เป็นต้นมา บอกว่า ผู้นำที่โดดเด่นในโลกนี้ มีแค่ 2 ประเภท คือ นักฝัน และ นักแก้ปัญหา


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ตำราบริหารจัดการทั้งหลายในโลกนับแต่ปฐมบทของปีเตอร์ ดรักเกอร์เป็นต้นมา บอกว่า ผู้นำที่โดดเด่นในโลกนี้ มีแค่ 2 ประเภท คือ นักฝัน และ นักแก้ปัญหา

นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE น่าจะเป็นคนประเภทแรก

เว็บไซต์ของบริษัท PACE ยืนยันตัวตนของเขาออกมาชัดเจนว่า “…เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน…มุ่งสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ของผู้ซื้อ โดยเน้นการออกแบบและให้ความสำคัญกับทำเลที่โดดเด่น …ด้วยสถาปัตยกรรมระดับโลก…ด้วยความหลงใหลด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน…”

ความเป็นนักฝันของซีอีโอ สรพจน์ ทำให้เขานำ PACE เข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2556 ในขณะที่บริษัทยังขาดทุนและมียอดหนี้สูง โดยอาศัยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป ด้วยการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 600 ล้านหุ้น หรือ 29.2% ของทุนจดทะเบียน ในราคาจอง 3.50 บาท โดยมี บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาการเงิน และ แกนนำขายหุ้น โกยเงินเข้ากระเป๋าไป 2,100 ล้านบาท พร้อมกับขายความเชื่อมั่นว่า ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนดี เพราะพื้นฐานเป็นผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์

การขายความฝันครั้งแรกต่อสาธารณะผ่านไปด้วยดี แม้มีข่าวลือแพร่สะพัด จนทำให้ ก.ล.ต.ในขณะนั้นต้องออกตรวจสอบพฤติกรรม “ขายพ่วง” โดยหมู่มาร์เก็ตติ้งที่ตั้งเงื่อนไข “ลับ ลวง พราง” ว่า อยากได้หุ้น บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) ต้องควักเงินซื้อ PACE เสียก่อน …ก่อนจะแจ้ง (ตามสูตร) ว่า ไม่พบพฤติกรรมดังกล่าว

ก่อนการเข้าเทรดในตลาด 1 วัน PACE ก็แจ้งข่าวที่ทำให้นักล่าหุ้นจอง “ตกสวรรค์” ทันตา เพราะประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2556 “ขาดทุน” 83 ล้านบาท (ต่อหุ้น 0.057 บาท) ขณะที่งบการเงินในช่วง 6 เดือนของปี 2556 “ขาดทุน” 135.67 ล้านบาท (ต่อหุ้น 0.093 บาท)

ข้อมูลดังกล่าวทำลายความน่าเชื่อถือในข้อมูลนักวิเคราะห์ “ขาเชียร์” ที่ระบุระหว่างขายหุ้นจองว่า PACE มีศักยภาพ โดยปี 2556 จะมีกำไร 6.0 ล้านบาท แต่ปี 2557 จะมีกำไร 497.0 ล้านบาท พร้อมกับให้ราคาเป้าหมาย 4.28-4.75 บาท

ผลลัพธ์คือ ราคาหุ้นหลุดจองตั้งแต่วันแรก เปิดตลาดมาก็ร่วงจาก 3.10 บาทไปปิดตลาดวันแรกที่ราคา 2.34 บาท แล้วร่วงลงต่อเนื่องไปที่ระดับ 1.35 บาทใน 1 เดือนต่อมา ก่อนที่ช่วงต่อๆ ไปจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากรายงาน “ขายฝัน” ของนักวิเคราะห์ที่อ้างผู้บริหารของ PACE จะสามารถกลับมาทำกำไรจากโครงการที่ทำอยู่ …ซึ่ง ไม่เคยเป็นจริ

ต่อจากนั้น ตำนานผู้บริหารรายงานการเข้าซื้อหุ้นกลับก็เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ พร้อมกับการให้สัมภาษณ์เชิงบวกของนายสรพจน์ว่า “..หุ้นจะขึ้นตอนไหน ผมไม่รู้คงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด อยากให้นักลงทุนมองเราในระยะกลางและยาวมากกว่า …ปีหน้าเรามีกำไรแน่นอน

ราคาหุ้นของ PACE มีข้อยกเว้นเมื่อทะยานแรงในช่วงเดือนสิงหาคม 2559 ก่อนและระหว่างการเปิดตัวโครงการมหานครเอิกเกริก ราคาทะยานขึ้นไปปิดทำนิวไฮ ในวันที่ 29 สิงหาคม ที่ 4.10 บาท

หลังจากนั้น…ราคาดังกล่าว ก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีก เพราะผลการดำเนินงานจริง แม้จะมีรายได้บันทึกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่การทำกำไรกลับตรงข้ามกับความฝันของนายสรพจน์ลิบลับ (ดูงบการเงินประกอบ)

ล่าสุด สิ้นไตรมาสแรก ส่วนผู้ถือหุ้นของ PACE เหลือแค่เพียง 1,001.68 ล้านบาท ด้วยตัวเลขขาดทุนสะสม 5,801.16 ล้านบาท ยอดหนี้สินรวม 28,125.55 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นหนี้ระยะสั้นจากเงินเบิกเกินบัญชี 1,134.32 ล้านบาท และหนี้ระยะสั้นจากสถาบันการเงิน 4,905.90 ล้านบาท คิดแล้วดี/อี อยู่ที่ 28 เท่า

ถ้าไม่สูงเป็นอันดับหนึ่งของตลาดหุ้นไทย ก็คงอยู่ที่ระดับหัวแถวนะแหละ

แล้วก่อนสิ้นไตรมาสสอง ก็มีข่าวที่ทำให้เกิดคำถามตามมา เมื่อจู่ๆ ก็มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า PACE ได้รับการอุดหนุนจากสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ (หนีไม่พ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่) ประมาณ 825 ล้านบาท เพื่อใช้ชำระหนี้ตั๋วบี/อี ที่จะครบกำหนด

ตามติดมาด้วยข่าว ยักษ์ใหญ่ก่อสร้างของจีน (ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กองทัพปลดแอกประชาชนจีน) กลุ่มซิติค คอนสตรัคชั่น เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร “อุ้มบุญ”โดยผ่าน บริษัท ซิติค คอนสตรัคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้การสนับสนุนผ่าน “บันได 3 ขั้น” ประกอบด้วย

  • ขั้นแรก บริษัทในเครือซิติคฯ ที่เป็นสภาบันการเงินขนาดใหญ่ จะเข้ามาช่วย PACE ในด้านของการรีไฟแนนซ์หนี้มูลค่าเริ่มต้นประมาณ0 พันล้านบาท เพื่อลดภาระหนี้ PACE ที่มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงกับสถาบันการเงินในไทยมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
  • ขั้นสอง กลุ่มซิติคฯ จะเข้ามาช่วยเป็นฐานทุนให้กับ PACE ในโครงการขนาดใหญ่ต่อไป โดยหากมีการก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่ ทางกลุ่มซิติคฯ ก็จะมีการออกทุนไปก่อน รวมถึงการถ่ายทอดโนว์ฮาวต่างๆ ให้ เพื่อให้ PACE ใช้เงินตนเอง หรือเงินกู้น้อยลง
  • ขั้นสาม ทางกลุ่มซิติคฯ มีแผนในระยะต่อไปว่า อาจจะเข้ามาลงทุนโดยตรงใน PACE ซึ่งมี 2 แนวทางคือ ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หรือซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์โดยมีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยระหว่างที่ยังไม่แปลงเป็นหุ้นสามัญ

การหนุนช่วยของเจ้าหนี้ธนาคาร และการช่วยเหลือของพันธมิตรใหม่ ทำให้ PACE และนายสรพจน์ ยังสามารถเริงระบำ สานต่อความฝันต่อไปได้อีก ดังคำพูดว่า “…มีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งอย่างซิติค คอนสตรัคชั่นจะช่วยทำให้ PACE สร้างสรรค์โครงการที่วางแผนไว้ได้เร็วขึ้น ทั้งยังสามารถส่งเสริมเพซในฐานะผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในมาตรฐานระดับโลกได้มากขึ้น ….”

ฝันในหอแดงของนายสรพจน์ ที่ยามนี้ยังสามารถเล่นบทของ ดอน กิโฮเต้ แห่งลา มันช่า …จึงทอดยาวไปได้อีกไกลพอสมควร…ถ้าหากเชื่อกันว่า PACE ไม่เคยมีปัญหาสภาพคล่อง เพียงแค่ต้องการต้นทุนทางการเงินถูกลงเท่านั้น

อิ อิ อิ

Back to top button