พาราสาวะถี

สัปดาห์นี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ต้องติดตามอยู่ 2 ฉบับ และเป็นสองฉบับที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมปได้หรือไม่ นั่นก็คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยกกต.ที่ผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมมาแล้ว รอเข้าสู่การเคาะครั้งสุดท้ายของที่ประชุมใหญ่สนช. อีกฉบับคือร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง


อรชุน

สัปดาห์นี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ต้องติดตามอยู่ 2 ฉบับ และเป็นสองฉบับที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมปได้หรือไม่ นั่นก็คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยกกต.ที่ผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมมาแล้ว รอเข้าสู่การเคาะครั้งสุดท้ายของที่ประชุมใหญ่สนช. อีกฉบับคือร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง
แน่นอนว่า ในส่วนของร่างกฎหมายว่าด้วยกกต.นั้น ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมโดยเสียงข้างมาก มีมติคว่ำความเห็นแย้งของกกต.ที่เห็นว่ามี 6 ประเด็นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ในการพิจารณาของที่ประชุมสนช.ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ จึงไม่น่าจะมีปัญหาที่ประชุมคงเคาะกันผ่านฉลุย

แม้ว่า ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.จะสงวนความเห็นโต้แย้งทั้ง 6 ประเด็นในที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วม เพื่อนำมาชี้แจงต่อที่ประชุมสนช. แต่คงไม่มีผลที่จะไปเปลี่ยนความคิดและทำให้มติของสนช.เป็นอย่างอื่นได้ ตรงนี้ต้องไม่ลืมว่า การที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ออกโรงมาการันตีเองว่า ทุกเรื่องที่เห็นต่างของกกต.ไม่ได้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แล้วสนช.จะเห็นเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร

เมื่อเป็นเช่นนั้น ช่องทางการสู้ของกกต.จึงเหลือเพียงแค่ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเท่านั้น แต่กว่าจะเดินทางไปถึงจุดนั้นก็ต้องใช้เวลาหรือต้องรอจนกว่าให้ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ เพราะจากที่เคยคึกคักก่อนหน้าด้วยการประกาศกร้าวของศุภชัยว่า กกต.จะอยู่ต่อด้วยอำนาจพิเศษและมีอาวุธลับในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สุดท้ายประธานกกต.ก็รีบออกตัวว่าแค่พูดเล่นเพราะเห็นนักข่าวเครียดเท่านั้น

จากที่ดูฮึกเหิมกลายเป็นหงอยในทันทีทันใด ไม่รู้ว่าเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างหรือเปล่า ดูแนวโน้มแล้วเรื่องของกฎหมายว่าด้วยกกต.น่าจะจบเร็วกว่าที่คาด ประเภทฮึดฮัดกระฟัดกระเฟียดบางทีอาจเป็นเพียงแค่อาการหงุดหงิดของคนที่ไม่สมหวังหรือถูกตบหน้าฉาดใหญ่ อุตส่าห์ทำทุกอย่างจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจมาถึงทุกวันนี้ กลับได้รับผลตอบแทนที่คาดไม่ถึง

ส่วนร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ตอนนี้ก็รอเพียงแค่กระบวนการเคาะเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเท่านั้น ตรงนี้ชัดเจนว่า กรธ.ไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้ไขของสนช.ในส่วนของระบบไพรมารีโหวต ประการหนึ่ง เพราะมีชัยเห็นว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ ประการต่อมาคือ กกต.ดันไปบอกว่ากระบวนการเลือกตัวผู้สมัครส.ส.ขั้นต้นของพรรคการเมืองคือการเลือกตั้งจึงขอเขาไปเอี่ยว

ได้ฟังเช่นนั้นเล่นเอาเสียวสันหลังกันทุกพรรค แต่ยังดีที่มีประธานกรธ.ช่วยเป็นเสียงที่คัดค้านให้ แม้ว่าเป้าหมายจะต่างกันก็ตาม อย่างที่มีบางคนของกกต.บอก กรธ.ต้องการให้ชี้ให้ชัดว่าระบบไพรมารีโหวตมีปัญหา ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ต้องปรับแก้ แต่เมื่อไม่เป็นไปตามนั้น เนติบริกรชั้นครู จึงต้องติ๊ดชึ่งไปทางอื่น

การหันไปหาแนวร่วมอย่างพรรคการเมืองจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนอย่างที่เคยบอกว่ามีชัยแสดงความเห็นห่วงเป็นใยว่าพรรคการเมืองจะมีปัญหาในการเตรียมความพร้อมนั้น ถือเป็นปฏิกิริยาที่อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะตั้งแต่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญจนผ่านการทำประชามติ สิ่งหนึ่งที่ประธานกรธ.ตอกย้ำมาโดยตลอดคือ นักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว

แต่ไม่ว่าท่าทีจะเป็นอย่างไร บทสรุปในชั้นคณะกรรมาธิการร่วมถือเป็นสิ่งที่น่าติดตาม เพราะมีการมองกันไปถึงขั้นว่า แม้กฎหมายว่าด้วยกกต.จะผ่านสนช.ฉลุย แต่กับกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองอาจไม่แน่ ถ้าเกิดมีการคว่ำขึ้นมาในที่ประชุมสนช. ย่อมจะเกิดภาวะสะดุด โรดแมปเลือกตั้งที่นั่งยันนอนยันกันว่าเกิดขึ้นภายในปี 2561 ชัวร์ จะถูกลากยาวออกไปในทันที

อย่างไรก็ตาม มีข้อทักท้วงเรื่องไพรมารีโหวตจาก นพดล ปัทมะ ที่จับจ้องมองวิธีคิดและการจัดการเรื่องดังกล่าวขององคาพยพที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า ไม่ใช่ระบบไพรมารีโหวตตามแนวทางประเทศประชาธิปไตยอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาทำ เพราะสหรัฐฯให้ประชาชนมีส่วนในการคัดเลือกผู้สมัครอย่างแท้จริง ทั้งคนในพรรคและคนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค เป็นเหมือนการทดสอบเสียงก่อนเลือกตั้งจริง

การที่ประเทศไทยนำเอาระบบไพรมารีโหวตแบบครึ่งๆกลางๆมาใช้ ให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการเลือกตัวผู้สมัคร ถึงวันนั้นอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในตัวผู้สมัครของพรรคด้วยกันเอง เพราะต้องแย่งเสียงสมาชิก จึงไม่แน่ใจว่าระบบนี้จะเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่ ถ้าพูดให้ตรงกระบวนการทั้งหมดที่ทำกันอยู่ หลายเรื่องยังเป็นเครื่องหมายคำถาม การลอกชาวบ้านมาไม่หมดมันจะเป็นระบบเลือกตั้งแบบไทยๆหรือเข้ารกเข้าพงกันแน่

หลังพรรคการเมืองต่างๆมีความเคลื่อนไหว ที่ถูกจับจ้องมองเป็นพิเศษหนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทย นายใหญ่จะเลือกใครมาเป็นผู้นำ อย่างที่บอกไปเมื่อนานมาแล้ว สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ได้รับความไว้วางใจให้มาทำหน้าที่กุมบังเหียน แต่ไม่ใช่การปล่อยมือให้บริหารทั้งหมด เพราะรับรู้กันเป็นการทั่วไปหัวหน้าทีมกทม.เพาะบ่มศัตรูภายในพรรคไว้ไม่ใช่น้อย

ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏรายชื่อของ มณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล น้องสาว ทักษิณ และพี่สาว ยิ่งลักษณ์ จะเข้ามาสร้างความสมดุลและเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆของกลุ่มมุ้งภายในพรรคนายใหญ่ แม้ว่าเจ๊ปูจะออกมาปฏิเสธแทนพี่ว่าถ้าได้ยินข่าวนี้คงจะหัวเราะชอบใจ แต่ในทางการข่าวค่อนข้างจะยืนยันว่า สูตรการเมืองภายในเพื่อไทย ณ เวลานี้ถูกวางไว้เช่นนี้

สำหรับอีกสาเหตุที่ทำให้มีการเลือกคุณหญิงหน่อยมาเป็นผู้นำ เป็นเพราะสามารถต่อสายไม่เป็นศัตรูกับคนมีสีโดยเฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจ หรืออีกนัยหนึ่งคือได้รับไฟเขียวมาแล้วนั่นเอง ขณะนี้จึงรอเพียงเวลาที่คสช.จะเปิดให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมเท่านั้น ทุกอย่างจึงจะพิสูจน์ได้ว่าข่าวที่เกิดขึ้นจะเป็นจริงหรือไม่ ส่วนที่จำนวนไม่น้อยมองว่านายใหญ่เลือกใครมา ชะตากรรมหลังเลือกตั้งก็ต้องไปเป็นฝ่ายค้านอยู่ดี นั่นถือเป็นการด่วนสรุปเกินไป เพราะสมการทางการเมืองไม่มีสูตรสำเร็จอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

Back to top button