เชื้อชั่วตายยาก นรกต้องรอ(ต่อไป)
พฤติกรรม “ซื้อสวน” ของบรรดารายย่อยในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการแสดงออกเชิงคุณภาพของประสบการณ์ที่ยาวนาน ถึงขั้นอ่านสัญญาณทางเทคนิคว่าเมื่อดัชนีลงลึกเข้าเขตขายมากเกิน ย่อมรีบาวด์ทางเทคนิคได้
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
พฤติกรรม “ซื้อสวน” ของบรรดารายย่อยในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการแสดงออกเชิงคุณภาพของประสบการณ์ที่ยาวนาน ถึงขั้นอ่านสัญญาณทางเทคนิคว่าเมื่อดัชนีลงลึกเข้าเขตขายมากเกิน ย่อมรีบาวด์ทางเทคนิคได้
ผลลัพธ์คือแรงซื้อสวนของรายย่อย ทำให้ดัชนีSET เมื่อวันศุกร์ แม้จะปิดลบ แต่ก็ลบน้อยกว่าตลาดหุ้นทั่วเอเชียทั้งหลาย แม้จะมีปัจจัยลบคือค่าเงินบาทอ่อนลง แถมก่อนปิดตลาดดัชนียังสามารถพุ่งจนเกือบบวก ด้วยฝีมือระดับ “หมูไม่กลัวน้ำร้อน”
พฤติกรรมของรายย่อยในตลาดหุ้นไทย ที่สวนทางกับ นักวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยยามนี้ สรุปว่า ยามนี้ตลาดมีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวกถือว่า เป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง เพราะว่ายามที่ตลาดหุ้นไทยหยุดยาว 3 วันต่อเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา
ตลาดหุ้นใหญ่ทั่วเอเชีย(ไม่รวมอาเซียน-จีน) พากันบวกด้วยปัจจัยที่ต่างกัน ตามด้วยสถานการณ์ที่พลิกผันให้เกิดบรรยากาศซื้อใหม่รองรับการรีบาวด์ของดัชนีSET ในเช้าวันนี้ได้ เพราะสัญญาณทางเทคนิคชัดเจน
จังหวะของการพลิกกลับของดัชนีSET จะเป็นแค่ “แมวตายเด้ง” หรือ ขาขึ้นรอบใหม่ ขึ้นกับปัจจัยหลักของสัปดาห์นี้ คือผลประกอบการไตรมาสสอง หรือครึ่งแรกของปีในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีนักวิเคราะห์ประเมินว่า จะมีกำไรสุทธิเติบโตจากระยะเดียวกันปีก่อน 2%
หากผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด(แม้ว่าปัญหา NPLs จะยังเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก) น่าจะทำให้ความหดหู่ของตลาดหุ้นไทยเลือนไปบ้าง แต่ถ้าตรงกันข้ามคงต้องทำใจอย่างเดียว เพราะดูเหมือนว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ยังหาความชัดเจนไม่ได้ทำนองเดียวกัน เหตุเพราะดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นระลอกใหม่ชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนเมื่อเทียบสกุลเงินหลักๆ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งเกินคาดในเดือนมิถุนายน ซึ่งช่วยหนุนกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกในปีนี้
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดถึง 222,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 174,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% จาก 4.3% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
แม้ว่า ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานซึ่งเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมิถุนายน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก่อน ขณะที่เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จาก 2.4% ตอกย้ำว่า อัตราการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมาก และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานที่มีการเปิดเผยล่าสุดนี้ เป็นสิ่งยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้รับแรงขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี โดยไม่มีปัจจัยกดดันในเรื่องค่าแรง ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีนี้
ขณะเดียวกัน เฟดฯได้เปิดเผยรายงานนโยบายการเงินรอบครึ่งปีเมื่อวานนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวในระดับปานกลาง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยจะอยู่ในลักษณะการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการปรับงบดุลให้กลับสู่ภาวะปกตินั้น จะเริ่มดำเนินการในปีนี้
ผลพวงของค่าดอลลาร์ กระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ชัดเจน สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงต่อเนื่อง เพราะนักลงทุนลดความต้องการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้น และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.ของสหรัฐออกมาแข็งแกร่งเกินคาด นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังสร้างแรงกดดันต่อสัญญาทองคำด้วยเช่นกัน เพราะสัญญาทองคำปรับตัวลงทั้งสิ้น 2.6% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 5 สัปดาห์
นักลงทุนให้เหตุผลในการเทขายสัญญาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และหันไปลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นขานรับตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่ง ขณะที่การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้สร้างแรงกดดันต่อสัญญาทองคำเช่นกัน โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น
ข่าวดีไม่ใช่มาจากแค่สหรัฐฯ ในเอเชียก็ยังมีข่าวดี สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยวันนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานวานนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวขึ้น 1.5% ในเดือนมิถุนายน เทียบเป็นรายปี ทรงตัวจากเดือนพฤษภาคมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% เช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงานของจีนก็ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งทรงตัวจากเดือนพฤษภาคมเช่นกัน
ข่าวดีอย่างนี้ทำให้ข้อมูลว่าตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในตลาดเก่า จะปรับตัวขาลง มีขีดจำกัดในระยะสั้นลงไปเยอะ และหากจะลง ก็คงจะไม่พัง แต่จะมีลักษณะไซด์เวย์ดาวน์ชัดเจน เปิดช่องให้กับการถอยบ้าง
ในทางตรงกันข้ามตลาดหุ้นที่จะได้ประโยชน์คือ ตลาดหุ้นเกิดใหม่รวมทั้งไทยด้วย อาจจะต้องรอเวลากันสำหรับขาขึ้น เพราะน่าจะมีลักษณะไซด์เวย์อัพเช่นกัน
บรรดาฮาร์ดคอร์ที่หวังว่าจะมีการปรับตัวรุนแรงของตลาด อาจจะรู้สึกไม่สาแก่ใจสำหรับอนาคตที่จะมาเยือน แต่นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องกล้ำกลืน