ไม่(น่า)ถึง 1,600 จุด
สัปดาห์ก่อนหน้านี้
ลูบคมตลาดทุน : ธนชัย ณ นคร
สัปดาห์ก่อนหน้านี้
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ บอสใหญ่ บล.เอเซีย พลัส กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
เขามองว่า ดัชนีหุ้นไทย ยากที่จะขึ้นไปถึง 1,600 จุด
นั่นเพราะแรงขับเคลื่อนไม่มีเลย
หุ้นในกลุ่มหลัก มาร์เก็ตแคปสูงๆ เช่น พลังงาน ราคาไม่น่าจะขยับไหว
สิ่งที่ดร.ก้องเกียรติ กล่าวไว้ก็น่าจะจริง
สังเกตได้จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังลุ่มๆ ดอนๆ
ขึ้น 2 วัน ลงซะ 5 วัน
ล่าสุด ข่าวว่า รัสเซีย ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่นอกกลุ่มโอเปก อาจจะไม่เอาด้วยแล้ว กับแผนลดกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา
ตอนต้นปีราคาน้ำมันดิบยังอยู่แถวๆ 55 เหรียญต่อบาร์เรล
ส่วนตอนนี้อยู่ที่ 44–46 เหรียญต่อบาร์เรล
หุ้นพลังงานหลายตัวน่าจะขาดทุนสต๊อกน้ำมันดิบอยู่ไม่มากก็น้อย
สถานการณ์แบบนี้ราคาหุ้นขยับยาก
หุ้นกลุ่มขนาดใหญ่อีกกลุ่มคือ ธนาคารพาณิชย์
ไตรมาส 2/60 แม้โบรกฯจะมองว่า กำไรของกลุ่มนี้อยู่แถวๆ 4.8-5.0 หมื่นล้านบาท
หรือค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/59
แต่หากเทียบกับไตรมาส 1/60 แล้ว กำไรจะปรับลดลงเกือบทุกแห่งเลยนะ
ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ใหญ่ 4 แห่ง และแบงก์ขนาดเล็ก
ในส่วนของแบงก์ใหญ่ 4 แห่ง SCB KBANK BBL และ KTB ยังคงต้องเผชิญกับภาวะหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น
แม้จะเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว
แต่ที่หนี หรือเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การตั้งสำรองหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง
อย่าง KTB เอง ก็ถูกมองว่า น่าจะมีการตั้งสำรองหนี้ของ EARTH ตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเลยล่ะ
แม้ว่าวานนี้ก้อนดังกล่าวจะยังไม่เป็นหนี้เสีย หรือ NPL ก็ตาม
แต่จากสถานการณ์ของ EARTH ก็พอมองออกว่า เป็นหนี้เสียแน่ๆ
ราคาหุ้นของแบงก์ใหญ่ จึงไม่ได้ขยับเขยื้อนอะไรมาก นับจากสิ้นไตรมาส 1 มีเพียง KBANK ที่ดูแล้วปรับขึ้นจาก 187 บาท มาที่ 196 บาท แต่ก็ยากที่จะผ่าน 200 บาท
นักลงทุนเองก็เฝ้าดูหนี้เสียอยู่ว่า จะดีขึ้นไหม
ส่วนแบงก์กลุ่มพอร์ตเช่าซื้อขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ TISCO KKP และ TCAP
ทั้ง 3 แห่ง มีกำไรที่น่าสนใจ
เพราะต่างยังปรับเพิ่มขึ้น และเงินกองทุนก็อยู่ระดับสูงกันด้วย หนี้เสียปรับลง
ทว่า หุ้น 3 ตัวนี้ ก็ยังไม่ได้มีขนาดมาร์เก็ตแคปใหญ่พอที่จะดันดัชนีได้
มีนักวิเคราะห์มองว่า หุ้น AOT ที่มีขนาดมาร์เก็ตแคปกว่า 6.92 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับ 2 รองจาก PTT ราคาก็ขยับขึ้นมาเยอะแล้ว
และชนเป้าหมายของบางโบรกฯ แล้วด้วยนะ
ล่าสุด ราคาปิดตลาด 48.50 บาท ลดลง 1.25 บาท
ส่วนกระแสฟันด์โฟลว์ในครึ่งปีหลัง อาจจะเข้าน้อย หรือไม่เข้าเลย
เพราะแนวโน้มเฟดยังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ
รวมถึงธนาคารกลางแถวยุโรป หลายประเทศ ก็อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
ประกอบกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย เมื่อเทียบกับประเทศเอเชียอื่นๆ (บางแห่งให้ผลตอบแทน 6-7%) ยังถือว่าค่อนข้างต่ำ (เฉลี่ย 3.2%)
ฟันด์โฟลว์เลยไม่ค่อยน่าสนใจมากนัก
เว้นแต่ว่าลุ้นให้หุ้นขนาดกลางและเล็ก มีผลประกอบการดีขึ้นในครึ่งปีหลัง
หลังช่วงไตรมาส 1 กำไรส่วนใหญ่ปรับลง
ส่วนหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และสื่อสาร
ต่างยังมีข้อจำกัดในการเติบโต
โอกาสดัชนีไปถึง 1,600 จุด ก็คงยาก