พาราสาวะถีอรชุน

ได้เห็นได้ยินการหยอดคำหวาน ป้อยอกันไปมาระหว่าง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กับสมาชิกสปช.ในคืนสุดท้ายของการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกแล้ว ต้องบอกว่า“ละครน้ำเน่า” ทั้งหลายต้องชิดซ้ายอายม้วนกันเลยทีเดียว ส่วนคนที่ฝากความหวังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงคงต้องเตรียมตัวทำใจกันไว้ล่วงหน้า


ได้เห็นได้ยินการหยอดคำหวาน ป้อยอกันไปมาระหว่าง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กับสมาชิกสปช.ในคืนสุดท้ายของการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกแล้ว ต้องบอกว่า“ละครน้ำเน่า” ทั้งหลายต้องชิดซ้ายอายม้วนกันเลยทีเดียว ส่วนคนที่ฝากความหวังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงคงต้องเตรียมตัวทำใจกันไว้ล่วงหน้า

ภาระหนักคงตกไปอยู่บนบ่าของ “แป๊ะ” อีกตามเคย เหมือนที่บอกหนีไม่พ้นต้องใช้ยาวิเศษมาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหา เพราะด่านต่อไปถ้าครม.และคสช.เสนอแนะให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ถูกเสียงโห่ฮา แล้วไม่ได้รับการตอบสนองคงต้องใช้ไม้แข็งในการไล่หวดกันเลยทีเดียว ปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ใช่แค่เสียวว้อยที่จะสะดุดขาตัวเองหัวทิ่มแต่มีโอกาส“เสียของ” สูง

ทางเลือกปลายทางสำหรับปัญหาร่างรัฐธรรมนูญที่มีไม่ต้องรอส่งไปถึงการทำประชามติ เอาอีแค่คนในคสช.หลายรายต่างส่ายหัวเบือนหน้าหนี ก็น่าที่จะเป็นสัญญาณบ่งบอกเป็นอย่างดีว่า ควรที่จะสังคายนากันตรงจุดไหน สปช.บางทีอาจจะต้องคงไว้แล้วไปล้างไพ่กันที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่น่าจะต้องถึงขั้นล้างบางให้ตายตกไปตามกัน

กลายเป็นว่าแทนที่จะช่วยเข้ามาแบ่งเบาภาระ ทุกอย่างกลับย้อนกลับมาเป็นปัญหาให้ ”แป๊ะ” ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว คิดถูกแล้วที่ถือดาบอาญาสิทธิ์ ม.44 ไว้ในมือ มิเช่นนั้นจะสางปัญหาอะไรไม่ได้ ปล่อยให้คาราคาซังยิ่งไม่ควร พอทบทวนแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะจำคำของฝ่ายตรงข้ามที่วางเฉยกันแทบจะทุกส่วน ซึ่งเคยบอกไว้ ปล่อยให้ทำทุกอย่างไปตามใจให้ถึงที่สุด

บทพิสูจน์อีกประการคือ อำนาจเป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร คนหลายพวกก่อนที่จะมอบตำแหน่งแห่งหนได้ ชี้นกเป็นไม้ไม่เคยหือ พอมีตำแหน่งแห่งหนแล้ว ชี้นิ้วสั่งการกลับมีปฏิกิริยาต่อต้าน สัจธรรมอีกประการสำหรับห่วงโซ่แห่งอำนาจในประเทศไทยก็คือ ใช่ว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วจะถือว่าทุกอย่างเด็ดขาดอยู่ในมือ เพราะมันยังมีมือที่มองไม่เห็นคอยสอดเสี้ยมอยู่ตลอดเวลา

กรณีถ้าร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีเหตุให้ล่าช้าออกไป เลือกตั้งไม่ลงล็อกตามโรดแม็พ ส่งซิกผ่านศูนย์สร้างความปรองดองเพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป. จากคนการเมืองและกลุ่มการเมือง ยินดีที่จะให้ลากยาวขอเพียงให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เป็นไปตามสูตรนี้เท่ากับว่าคำทำนายของฤาษีเกวาลันนั้นเป็นจริง แต่ไม่รู้ว่าบิ๊กตู่และคณะคสช.จะดีใจหรือเก๊กซิม

จะเป็นการยิ้มได้เฉพาะใบหน้า ทว่าหัวใจคงร้อนเป็นไฟ เพราะหากประชาธิปไตยไทยแลนด์ล่าช้าไปจากโรดแม็พเดิม แรงกดดันที่จะเพิ่มเข้ามาหาใช่กลุ่มก้อนปฏิปักษ์รัฐประหารในบ้านเมืองไม่ แต่จะเป็นปฏิกิริยาความไม่พอใจจากนานาชาติ โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจริงๆ

ต้อนรับการเดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซียนของบิ๊กตู่ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย มีการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนก่อนหน้า โดยหัวข้อสัมมนาย่อยที่น่าสนใจคือ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยและผลกระทบต่ออาเซียน จัดโดย กลุ่มรณรงค์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย ศูนย์จัดการศึกษาทางกฎหมายสำหรับประชาชน กัมพูชา และศูนย์ข้อมูลแรงงานซีดาน อินโดนีเซีย

เป็นการหารือต่อสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองในประเทศไทยและผลกระทบที่ตามมาต่อประชาชนอาเซียน โดยหลังการสัมมนามีการออกแถลงการณ์ชื่อเพื่ออาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร กระแทกเข้าปลายคางประเทศไทยไปเต็มๆ ดีที่ว่าวงสัมมนาดังกล่าว ไม่มีตัวแทนภาคประชาสังคมจากเมียนมาร์ร่วมด้วย มิเช่นนั้น จะเป็นความเจ็บปวดอย่างที่สุด

ข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ดังกล่าวมี 3 ข้อได้แก่ อาเซียนต้องเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร อาเซียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดนักโทษการเมือง และอาเซียนต้องทบทวนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน เพื่อให้เสียงและทางเลือกของประชาชนสามารถขับไล่ทุกๆ รูปแบบของอำนาจเผด็จการ และสร้างความเข้มแข็งต่อการสมานฉันท์เพื่อประชาธิปไตยและสังคมที่มีความยุติธรรมทั่วทั้งภูมิภาค

นี่ต่างหากคือสถานการณ์ที่ไทยในฐานะประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างของประเทศที่พัฒนาด้านประชาธิปไตยก่อนหน้านั้นจะต้องตระหนัก เพราะเหตุใดในขณะที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ประเทศที่เป็นเผด็จการหรือปกครองโดยรัฐบาลทหารกำลังจะเป็นประชาธิปไตย แต่ไทยกลับเดินสวนทาง

พูดผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ชวนคนไทย (ที่มีฐานะ) สร้างกุศล สละไปหาหมอเอง ไม่ใช้สิทธิ์รักษา 30 บาท เพื่อยกให้คนยากจนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ถูกสวนมาทันทีทันควันจาก กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์

บอกได้อย่างเดียวว่าพลเอกประยุทธ์ ยังมีความตื้นเขินอย่างที่สุด ไม่เข้าใจหลักการการประกันสิทธิพื้นฐานสุขภาพให้กับประชาชน มองเห็นคนไม่เท่ากัน ต้องการลดทอนสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนให้เหลือเพียงการสังคมสงเคราะห์อนาถาเท่านั้น พร้อมกับเสนอให้ข้าราชการระดับสูงรวมทั้งครอบครัวทดสอบด้วยการเสียสละไม่ใช้ระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการดู

เพื่อให้ระบบสวัสดิการนี้เป็นไปเพื่อข้าราชการผู้น้อยเท่านั้น ก่อนที่จะนำมาใช้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะได้เรียนรู้แนวคิดของบิ๊กตู่ร่วมกัน นอกจากนั้น กรรณิการ์ยังชี้ช่องต่อไปด้วยว่า ไม่แปลกใจที่รัฐบาลคสช.จะมีแนวความคิดเช่นนี้ เพราะเมื่อคณะผู้บริหารโลกแคบ ก็เป็นโอกาสของบรรดาล็อบบี้ยีสต์และกลุ่มทุนต่างๆ ที่จะเข้าไปปั่นหัว ขณะที่รัฐบาลนี้ก็มีล็อบบี้ยีสต์อยู่ใกล้ตัวเหลือเกิน เพราะรองนายกฯ คนหนึ่งมีน้องสาวที่เคยทำงานอยู่ในสมาคมบริษัทยาข้ามชาติ

เรียกได้ว่าจากความหวังดีแสดงตัวเป็นฮีโร่แท้ๆ กลับถูกตอกกลับเสียหน้าหงาย ความจริงไม่ใช่แค่พวกล็อบบี้ยีสต์เท่านั้นที่ปั่นหัวเรื่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ยังมีพวกคนดีบางกลุ่มที่จ้องจะล้มโครงการนี้ให้ได้ ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นโครงการที่ก่อประโยชน์มหาศาลทั้งต่อประชาชนและประเทศชาติ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันได้

 

Back to top button