อนาคตหุ้นปันผลพลวัต2015

ปีนี้กระแสการจ่ายหุ้นปันผลมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ถือว่า เป็นทั้งข่าวดีในระยะสั้น และข่าวร้ายในระยะยาว


ปีนี้กระแสการจ่ายหุ้นปันผลมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ถือว่า เป็นทั้งข่าวดีในระยะสั้น และข่าวร้ายในระยะยาว

ไม่เพียงแค่บริษัทขนาดเล็กเท่านั้นที่นิยมกระทำ ด้วยเหตุผลว่ามันช่วยประคองราคาหุ้น เพราะบางบริษัทเล่นเกมวิศวกรรมการเงินมากถึงขั้นปันผลเป็นหุ้น แล้วยังแจกวอร์แรนต์แถมอีกในสัดส่วนที่กำหนด แต่บริษัทขนาดใหญ่ ที่อ้างว่าต้องการเก็บเงินสดไว้กับบริษัท ก็ยังโหนกระแสตามมาอีกด้วย

โดยปกติ และตามจารีตทางบัญชี การจ่ายเงินปันผลคือภาพสะท้อนความแข็งแกร่งของความสามารถทำกำไร แต่มาระยะหลัง นักการเงิน และผู้บริหารบริษัท กลับมองเห็นว่าการจ่ายหุ้นผันผล (แถมพ่วงด้วยเงินสดเพื่อเอาไปเสียภาษีอีกเล็กน้อย) เป็นทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องสะท้อนความแข็งแกร่งทางการทำกำไรอะไร

ผลลัพธ์คือ การจ่ายหุ้นปันผลกลายเป็นเครื่องมือทางการเงินที่จะรักษาเงินสดเอาไว้ในบริษัท แล้วเป็นการเพิ่มทุนโดยตรงโดยที่ไม่ทำให้ผู้ถือหุ้นราย่อยรู้สึกขุ่นเคือง แถมยังทำให้รายใหญ่สามารถรักษาสัดส่วนการถือครองหุ้นโดยไม่ต้องจ่ายเงินสดเพิ่มเติมจากกระเป๋าของตนเอง

วิธีคิดจ่ายหุ้นปันผลมากกว่าจ่ายเงินสด เกิดจากแนวคิดง่ายๆ ที่ว่า  หากบริษัทสามารถรักษาไม่ต้องจ่ายเงินสด เอาเงินสดไปขยายกิจการต่อ โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม หรือไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้ได้รายได้เพิ่ม บางครั้งจะไม่ดีต่อผู้ถือหุ้นที่อยากได้เงินสดมากกว่าได้หุ้น

ข้ออ้างที่นำมาใช้จ่ายปันผลด้วยหุ้น จึงมักจะอ้างว่า การจ่ายปันผลมากๆ เป็นเงินสด มีโอกาสที่ในระยะยาวจะบั่นทอนความสามารถในการเติบโตของกิจการได้ โดยจะเห็นว่าที่เติบโตแรงๆ มักจะมีนโยบายปันผลไม่ถึง 50% ของกำไร เพราะต้องเอาไปขยายกิจการ แต่นั่นก็เป็นแค่ข้ออ้างเท่านั้น ข้อเท็จจริงอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ดังที่เรารู้กันดีบริษัททุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะมีการเปิดเผยนโยบายเงินปันผลอยู่แล้ว  โดยบริษัทจะบอกว่าบริษัทจะจ่ายเป็นเท่าไรของกำไรสุทธิ เช่น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนจะได้ในเว็บของตลาด หรือของบริษัท ที่จะมีข้อกำหนดให้แจ้งเรื่องนโยบายเงินปันผลเอาไว้

หุ้นปันผลจึงเป็นการพยายามรักษาพันธะสัญญาของกรรมการบริษัท ที่มีต่อผู้ถือหุ้น หากกำไรแล้วไม่ทำตามที่สัญญาก็จะมีปัญหาตามมาในเรื่องศรัทธานักลงทุน ในยามที่บริษัทเองก็ต้องการเงินสดเพื่อดำเนินการต่อไป ไม่อยากเอาเงินสดมาปันผลอย่างเดียวมากเกินขนาด

ทางออกของกิจการที่มีกำไรไม่มาก และมีปัญหาสภาพคล่อง แต่ไม่อยากกู้เงินเพิ่มเติมของบริษัทต่างๆ ด้วยการเลี่ยงมาจ่ายเงินปันผลออกมา แต่ไม่ได้จ่ายในรูปแบบของเงินสด แต่จ่ายเป็นหุ้นแทน ซึ่งมันก็คือการเพิ่มจำนวนหุ้นที่จะส่งผลให้ในอนาคต ราคาหุ้นจะไดลูทลงมา เป็นเรื่องปกติ แต่ในเรื่องของมูลค่าของผู้ถือหุ้นแล้วไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเป็นเรื่องวิน-วิน สำหรับทุกฝ่าย คือบริษัทรักษาเงินสด ผู้ถือหุ้นได้หุ้นในมือเพิ่ม

กุญแจสำคัญของการจ่ายปันผลเป็นหุ้นก็คือ ความสนใจของนักลงทุนต่ออัตรากำไรสุทธิจะถูกเบี่ยงเบนไป ทั้งที่จุดดังกล่าวเป็นกุญแจสำคัญที่จะเข้าใจฐานะที่แท้จริงของกิจการได้ในระดับสำคัญเลยทีเดียว

สิ่งที่นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อย มักจะหลงลืมกันไปก็คือว่า หลังจากจ่ายปันผลเป็นหุ้นไปแล้ว จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราส่วนทำกำไรของบริษัท เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเท่าใด

หากลดลงมากก็แสดงว่าเงินที่เอาไปใช้โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสามารถของกิจการเอาไว้ ไม่ได้ใช้ไปเกิดดอกออกผลมากนัก ประเด็นดังกล่าว ทำให้นักลงทุนต้องระลึกถึงอยู่เสมอว่า กิจการที่จ่ายหุ้นปันผลควรเป็นกิจการที่โตสม่ำเสมอ และมีแผนการขยายกิจการที่ชัดเจนเป็นประจักษ์ไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับทุกกิจการ ดังที่มีการทำจนเป็นเรื่องกลายเป็นกระแสในปัจจุบันจนเกร่อ

ข้อสังเกตของเซียนหุ้นอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ คือ บริษัทที่จ่ายหุ้นปันผลแล้วจะโตได้ในระยะยาว จะต้องเป็นกิจการที่เติบโตเฉลี่ยปีละเป็นตัวเลข 2 หลักขึ้นไป ไม่ใช่กิจการที่ขาดเงินสด แล้วเลือกเอาการจ่ายเป็นหุ้นแทน ซึ่งมีแต่จะทำให้มูลค่าผู้ถือหุ้นในระยะยาวย่ำแย่ไปด้วย

ยิ่งบางกิจการ ไม่ใช่จ่ายหุ้นปันผลเท่านั้น หากยังคิดไปไกลถึงขั้นเล่นเกมการเงินยาวด้วยการแตกพาร์พร้อมไปอีก เพื่อเพิ่มมูลค่าผู้ถือหุ้น หรือพูดง่ายๆ ดันราคาหุ้นให้สูงขึ้น โดยอ้างว่าการเพิ่มจำนวนหุ้นแบบนี้ และจ่ายปันผลเป็นหุ้น จะทำให้มาร์เก็ตแคปของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ยามที่กระแสจ่ายปันผลเป็นหุ้นกำลังคึกคัก การทบทวนเรื่องนี้ก็มีความสำคัญสำหรับนักลงทุน เพราะอนาคตของการจ่ายปันผลด้วยหุ้นนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ยากจะหยุดยั้งได้

เว้นเสียแต่ว่านักลงทุนไม่เอาด้วย หรือไม่ยอมเล่นเกมตามที่กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทกำหนด ภายใต้การชี้นำของที่ปรึกษาการเงิน เพราะทนไม่ไหวที่เพิ่มทุนๆๆๆ ไปเรื่อยๆ แล้วราคาหุ้นแน่นิ่งหรือถดถอยลงไป

ในกระแสสูงเช่นนี้ นักลงทุนคงต้องใคร่ครวญด้วยการทำการบ้านให้ดีว่า จะยอมเล่นเกมนี้ตามบริษัทหรือ โดยมีผลประโยชน์และมูลค่าผู้ถือหุ้น

               

                

Back to top button