พาราสาวะถี

ไม่รู้เรียกว่าทำไปด้วยไม่ได้คิดหรืออคติบังตาหรือเปล่า พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช. ออกมาระบุ พร้อมให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวในส่วนประเด็นที่บัญญัติไว้ว่าผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเท่านั้น


อรชุน

ไม่รู้เรียกว่าทำไปด้วยไม่ได้คิดหรืออคติบังตาหรือเปล่า พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช. ออกมาระบุ พร้อมให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวในส่วนประเด็นที่บัญญัติไว้ว่าผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเท่านั้น

เนื่องจากพบว่ามีบางพรรคการเมืองหัวหน้าพรรคต้องการที่จะไปลงสมัครส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง ดังนั้น หากบัญญัติไว้เช่นนั้นจะทำให้เป็นปัญหา ความจริงมันต้องมองเห็นกันตั้งแต่แรกแล้ว แต่คงเป็นเพราะตาลีตาเหลือกจะอุดช่องหรือเห็นมุมที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ของพรรคเพื่อไทย โดยที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค เลยรีบบัญญัติกันไว้แบบไม่ลืมหูลืมตา

นี่คือความน่ากลัวของคนที่ถูกเลือกโดยคสช.เข้าไปทำงานในองคาพยพแม่น้ำ 5 สาย หากเดินเกมกันด้วยความรอบคอบไม่โฉ่งฉ่างก็จะแนบเนียน เกือบเรียบกริบเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ และกฎหมายอีกหลายฉบับ ที่มีการวางกับดักไว้ยั้วเยี้ยไปหมด ชนิดที่บางพรรคการเมืองซึ่งหวังจะได้รับอานิสงส์จากคณะรัฐประหารต้องออกมาโอดครวญ ตีโพยตีพาย

เห็นกระบวนการคิดแล้วมาแก้ตัวภายหลังว่าผิดพลาดของบางคนแล้ว ก็อดที่จะคิดไปถึงภาพของคนซึ่งจะเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระในอนาคตอันใกล้นี้ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอย่างกกต. ที่จะต้องสร้างความโปร่งใส ใช้ความเป็นกลางในกระบวนการจัดการเลือกตั้งและพิจารณาให้คุณให้โทษกับนักการเมืองและพรรคการเมือง

หากใช้บริการคนที่เต็มไปด้วยอคติและเลือกข้างชัดเจน เกรงว่าหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า จะกลายเป็นจุดตั้งต้นของความขัดแย้งรอบใหม่ แต่หากคนดีทั้งหลายคิดว่าหน้าด้านหน้าทนพอ และไม่จำเป็นต้องสนใจข้อครหาหรือเสียงทักท้วงใดๆ ยิ่งเป็นพวกฝ่ายระบอบทักษิณด้วยแล้ว ถ้าคิดเช่นนั้น ฟันธงได้เลยว่าหนทางที่จะเดินต่อไปมันคือวิกฤติที่รออยู่ไม่ใช่โอกาสหรือความสว่างไสวแต่อย่างใด

แม้กระทั่ง ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.ที่วันนี้ดูเหมือนว่าจะยอมยกธงขาว กับความพยายามในการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของ 5 เสือกกต. เนื่องจากช่องทางที่จะนำไปสู่การตีความ 6 ประเด็นโต้แย้งของกกต.ต่อศาลรัฐธรรมนูญดูท่าว่าจะตีบตันเสียแล้ว ก็บอกกันตรงๆว่า กกต.ไม่ติดใจเรื่องที่จะไม่ได้อยู่ต่อ แต่ทั้ง6 ประเด็นที่ได้เห็นแย้งไปนั้น จะนำไปสู่ปัญหาทางปฏิบัติในอนาคตที่ต้องรอดูกันต่อไป

ความจริงเรื่องข้อกังวลปัญหาที่จะเกิดตามมาไม่ได้มีเฉพาะกฎหมายลูกเท่านั้น แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีเสียงท้วงติงทั้งจากนักการเมือง กลุ่มการเมืองและนักวิชาการบางกลุ่มบางรายว่า มีหลายประเด็นที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย รวมทั้งการบริหารประเทศของรัฐบาลในอนาคต แต่ด้วยวาทกรรม ทำเพื่อชาติ ปฏิรูปเพื่อความเปลี่ยนแปลง พร้อมยุทธศาสตร์ 20 ปี เสียงที่คัดค้านจึงผ่านไปกับสายลม

เช่นเดียวกันกับการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทัพ หากไม่ใช่เสียงที่มาจาก จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. แกนนำคนเสื้อแดง คงไม่มีคนในกองทัพดาหน้าออกมาตอบโต้กันพัลวัน ไม่เว้นแม้กระทั่ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่พูดไม่แตกต่างไปจากบรรดากระบอกเสียงของกองทัพคือ กองทัพมีการปฏิรูปมาโดยตลอด

ตรงนี้ต้องถามบนโลกแห่งความเป็นจริงว่า คนส่วนใหญ่ได้รู้สึกว่ากองทัพมีการปฏิรูปแล้วเช่นนั้นหรือ เพราะหากมีการปฏิรูป การเมืองไทยก็คงไม่ตกอยู่ในสภาพ 8 ปีมีรัฐประหาร 2 หน สิ่งสำคัญมาถึงนาทีนี้ดูเหมือนว่าบทบาทของกองทัพจะใหญ่โตและก้าวล่วงเข้าไปชี้นำทิศทางการเมืองและบ้านเมืองเสียด้วยซ้ำไป จนกลายเป็นการสร้างรัฐราชการขนาดใหญ่

ขณะที่เหตุผลของพลเอกประวิตรที่อ้างว่า เหตุของการรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นเพราะเสียงเรียกร้องของประชาชน ก็เป็นเรื่องที่ฟังแล้วชวนให้ขำ ถามว่าประชาชนพวกไหนกันที่เรียกร้อง ยิ่งมองไปยังสายสัมพันธ์กับแกนนำม็อบกปปส.และพรรคที่เกี่ยวข้องกันอย่างประชาธิปัตย์ บิ๊กป้อมไม่รู้สึกกระดากใจตัวเองบ้างเลยหรือ ในฐานะที่เคยนั่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในยุคการไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

ดังนั้น อย่ามาอ้างว่าเข้ามาเพื่อแยกประชาชนหรือเข้ามาเพื่อไม่ให้การเมืองเกิดความขัดแย้ง เพราะเหตุแห่งความขัดแย้งหรือจะมองว่าเป็นวิกฤติของบ้านเมืองนั้น มันไม่ใช่วิกฤติที่แท้จริง ทุกอย่างล้วนมีเบื้องลึกเบื้องหลัง มากไปกว่านั้น หากกองทัพผ่านการปฏิรูปมาโดยตลอดจริง พลเอกประวิตรต้องกล้ายืนยันว่าต่อไปจะไม่มีการรัฐประหารอี

ความจริงเป็นอย่างที่ สุรชาติ  บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  ประเมินว่า  นับตั้งแต่รัฐประหารกันยายน 2549 ทหารจะยังไม่ลดบทบาททางการเมืองลง เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมีการพันธนาการทหารกับการเมืองไว้ด้วยกันอย่างแน่นหนา  บทบาทของทหารกับการเมืองในระยะหลัง ไม่มีการลับ ลวง พราง อีกต่อไป แต่เป็นการเปิดหน้าไพ่เล่นกันมาระยะหนึ่งแล้ว

คนในสังคมยังไม่เห็นความคิดอีกชุดหนึ่งของคนในกองทัพ ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้นำกองทัพนำกองทัพเข้าสู่การเมือง  พร้อมกับตั้งคำถามว่า การที่กองทัพมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น แต่ถ้าผลในทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่ผู้นำกองทัพคาด จนนำไปสู่เหตุการณ์เหมือน 14 ตุลา 2516 และ พฤษภาคม 2535 ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ด้วยเหตุนี้สุรชาติจึงเรียกร้องไปยังรัฐสภาและนักคิดเพื่อประชาธิปไตย ให้ช่วยกันจุดกระแสปฏิรูปกองทัพ ให้เกิดขึ้นคู่ขนานกับการปฏิรูปการเมือง เพราะขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปจุดกระแสการปฏิรูปการเมืองขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีใครกล้าแตะเรื่องการปฏิรูปกองทัพ เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงฟันธงว่า การปฏิรูปทางการเมืองจะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าไม่คิดเรื่องการปฏิรูปกองทัพควบคู่กันไปด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นสุรชาติยังเปิดประเด็นเรื่องการปฏิรูปภาคความมั่นคง Security Sector Reform  และธรรมาภิบาลภาคความมั่นคง Security Sector Governance  ซึ่งเป็นกระแสหลักในเวทีโลกขณะนี้ เพราะการปฏิรูปภาคความมั่นคงจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างใหญ่กว่าการปฏิรูปกองทัพ เพราะภาคความมั่นคงหมายรวมถึงทหาร ตำรวจ ตุลาการ ราชทัณฑ์และงานข่าวกรอง แต่คงยากเพราะผู้มีอำนาจและลิ่วล้อไม่ได้คิดอะไรไกลขนาดนั้น คิดแค่ยึดอำนาจ รักษาอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อไปก็เท่านั้น

Back to top button