พาราสาวะถี

เรียบร้อยตามคาดไป 1 ฉบับกับกฎหมายลูกว่าด้วยกกต. หลังจากที่ประชุมสนช.มีมติเอกฉันท์ 194 เสียงเห็นชอบหลังกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมเสร็จสิ้น จากมติเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นว่าข้อโต้แย้ง 6 ประเด็นของกกต.ไม่มีสิ่งใดขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นความเห็นพ้องต้องกันของทั้งสนช.และกรธ.


อรชุน

เรียบร้อยตามคาดไป 1 ฉบับกับกฎหมายลูกว่าด้วยกกต. หลังจากที่ประชุมสนช.มีมติเอกฉันท์ 194 เสียงเห็นชอบหลังกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมเสร็จสิ้น จากมติเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นว่าข้อโต้แย้ง 6 ประเด็นของกกต.ไม่มีสิ่งใดขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นความเห็นพ้องต้องกันของทั้งสนช.และกรธ.

สถานีต่อไปหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้หมายความว่า 5 เสือกกต.จะต้องพ้นตำแหน่งไปจากการถูกเซตซีโร่ แต่ยังคงสถานะรักษาการไปจนกว่าจะมีกกต.ชุดใหม่มารับตำแหน่ง ส่วนที่มีการขยับกันว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เมื่อประตูในการยื่นถูกปิดตายโดยประธานร่างรัฐธรรมนูญอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ จึงมองไม่เห็นหนทางว่ากกต.จะต่อสู้ด้วยกลยุทธ์ใด

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องทำใจยอมรับสภาพ กลายเป็น 5 เสือบาดเจ็บ ซึ่งจะว่าไปแล้วความจริง หากมองย้อนกลับไปยังการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่รับตำแหน่งมา เชื่อได้เลยว่าผู้รักประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อย ไม่ได้มองว่ากกต.คณะนี้เป็นเสือแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามอาจจะเป็นเพียงแค่แมวหงอที่ไม่ยอมจัดการเลือกตั้งทั้งที่ตัวเองมีอำนาจเต็มเสียด้วยซ้ำ

ถือเป็นความเด็ดขาดของแป๊ะ เพราะเมื่อออกแบบทุกอย่างไว้แล้วสำหรับการเดินเกมอำนาจหลังพ้นจากอำนาจรัฐประหาร บางเรื่องจำเป็นต้องหักคนกันเองหรือคนที่ถูกมองว่าเป็นพวกกันก่อนการรัฐประหาร เพราะเส้นทางหลังจากนี้ ต้องอาศัยคนที่เป็นประเภทเนื้อแท้ให้เข้ามากุมบังเหียนองค์กรที่จะให้คุณให้โทษ สำหรับผู้มีอำนาจที่จะต้องแปลงร่างไปเป็นนักการเมืองเต็มตัว

น่าเห็นใจในส่วนของคนที่ถูกเซตซีโร่ อุตส่าห์เป็นมวยที่ชกไม่สมศักดิ์ศรีตบตากรรมการมาจนทำให้คู่ชกได้ดิบได้ดี แต่สุดท้ายตัวเองกลับถูกห้ามชกไปตลอดชีวิต เป็นใครก็ต้องเจ็บปวดเป็นธรรมดา แต่นี่คือสัจธรรมแห่งอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอำนาจที่ไม่ได้มาด้วยระบอบประชาธิปไตย เหมือนอย่างที่ความจริงกกต.จะต้องเข้าไปดูแลและรักษาไว้ มันจึงอำมหิตและโหดร้ายกว่าอำนาจทางการเมืองปกติหลายเท่านัก

จากนี้ไปก็เหลือกฎหมายลูกอีก 1 ฉบับที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณานั่นก็คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง แต่เท่าที่ฟังท่วงทำนองของฝ่ายสนช.ในฐานะผู้แก้ไขร่างกฎหมายจนถูกมองว่าเป็นปัญหา ดูเหมือนว่าจะยอมรับข้อทักท้วงทุกประการของฝ่ายกรธ. เมื่อเป็นเช่นนั้นก็คงไม่มีอุปสรรคอะไรที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้เกิดอาการสะดุด

ไม่ว่าจะเป็นปมระบบไพรมารีโหวต หากทำความเข้าใจร่วมกันได้ว่า กกต.ไม่มีสิทธิ์เข้ามาวุ่นวายในกระบวนการของพรรคการเมืองที่จะจัดการ ทุกอย่างก็จบ เช่นเดียวกันกับการผ่อนปรนว่า การมีสมาชิกแค่ 100 คนใน 1 เขตของแต่ละจังหวัดสามารถเลือกและรับรองผู้สมัครเขตอื่นๆทั้งจังหวัดได้ ตรงนี้ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางอีกต่อไป

พิจารณาจากแนวโน้มตามนี้ก็ไม่มีเหตุที่จะทำให้เชื่อได้ว่า จะเกิดข้อขัดแย้งกันในชั้นของคณะกรรมาธิการร่วม จนนำไปสู่การคว่ำร่างกฎหมายของที่ประชุมสนช. เว้นเสียแต่ว่า จะมีใบสั่งอย่างอื่น ที่ยังไม่ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมปนั่นก็อีกเรื่อง แต่จับสัญญาณจากทุกทิศทางแล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้มีอำนาจจะต้องลากยาวอำนาจรัฐประหารออกไป ถ้าจะมีก็แค่เรื่องเดียวคือ รัฐบาลหลังเลือกตั้งจะไม่มีมาตรา 44 เป็นไม้วิเศษแล้วก็เท่านั้น

หากพิจารณาจากกลไกต่างๆที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระทั้งหลายแหล่ รวมไปถึงส.ว.ลากตั้ง 250 ราย มันก็ไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องมากังวลกะอีแค่มาตรา 44 เหตุที่พูดเช่นนั้นคงเหมือนที่คนส่วนใหญ่มองและเห็นว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คือ รัฐบาลหน้าก็ยังหน้าตาเหมือนรัฐบาลปัจจุบันนั่นเอง

เป็นไปอย่างที่บางคนบางกลุ่มมองไว้ไม่มีผิด กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มต่างๆที่มีแกนนำออกมาเย้วๆให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ ท้ายที่สุด เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การดิสเครดิต พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐนาวา หากแต่เป้าใหญ่อยู่ที่ ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยหรือกยท. คนที่บอกว่าไปร่วมประชุมไตรภาคีกับมาเลเซียและอินโดนีเซียมาแล้ว สองประเทศบอกว่าปัญหาราคายางในไทยเกิดจากการเมือง

เรื่องของเรื่องอย่างที่รู้กันแกนนำผู้เรียกร้องหากมองให้ลึกลงไปก็จะเห็นสายสัมพันธ์อันเชื่อมโยงกับแกนหลักที่สนับสนุนรัฐบาล หรือพูดให้ถูกคือคนและกลุ่มคนที่สร้างสถานการณ์จนนำมาซึ่งการรัฐประหารนั่นเอง เมื่อเป็นคนกันเองและค่อนข้างที่จะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาโดยตลอด แล้วเหตุใดจึงจะต้องมาห้ำหั่นกันชนิดเอาเป็นเอาตาย

ด้วยเหตุนี้จึงมองกันว่า เกมการเคลื่อนไหวของบรรดาแกนนำชาวสวนยางทั้งหลายจึงเป็นเพียงแค่ทำให้แนวร่วมได้เห็นว่า ทำการเรียกร้องและรัฐบาลก็รับข้อเสนอ พร้อมขอเวลาในการบริหารจัดการ ซึ่งก็เป็นสูตรสำเร็จที่ใช้กันมาโดยตลอดกว่า 3 ปี แต่สำหรับเป้าหมายผู้ว่ากยท.ตรงนี้ไม่มีเกียร์ถอยหรือเป็นมวยล้มต้มคนดูแน่นอน

จังหวะเคลื่อนของสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยหรือส.ค.ย.และภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและปาล์มแห่งประเทศไทยหรือคยปท. ล่าสุดที่ระดมล่ารายชื่อ 5 หมื่นรายเพื่อเสนอให้มีการปลดธีธัชเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจน ข้อกล่าวหาทั้งผิด ทั้งโง่ ทั้งสกปรก เอื้อประโยชน์แต่กลุ่มทุน ไม่เคยสนใจทำคุณประโยชน์ให้ชาวสวนยาง มานั่งกินเงินเดือนจากภาษียางแล้วมาทำประโยชน์ให้นายทุน ถือเป็นเรื่องที่รุนแรง

เปิดหน้าชกกันอย่างนี้แล้ว จึงเป็นจุดวัดใจบิ๊กตู่จะเห็นตามฝ่ายชาวสวนยางหรือปกป้องผู้ว่ากยท.ให้ปฏิบัติหน้าที่กันต่อไป ถือเป็นสิ่งที่ต้องจับตา อย่างที่รู้กันคนๆนี้ไม่ธรรมดา มิเช่นนั้น คงไม่ฝ่าด่านมะขามเตี้ยท่ามกลางข้อครหาสารพัดก้าวเข้ามาทำหน้าที่ได้ แต่ในยามที่รัฐบาลต้องการเสียงเชียร์และกำลังใจจากประชาชนโดยเฉพาะคนที่เป็นมิตรกันมาตั้งแต่ต้น จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้นำจะตัดสินใจอย่างไร

Back to top button