เส้นทางนักลงทุน : กระแสหุ้น IPO ครึ่งปี 60 (หุ้นเล็กดีกว่าหุ้นใหญ่)
กระแสไอพีโอฟีเวอร์ ในครึ่งแรกของปี 60 ยังคงดังกึกก้องนับตั้งแต่มีการนำหุ้นออกมาขายต่อประชาชนทั่วไปโดยตรงครั้งแรก โดยการเสนอขายหุ้น IPO (initial public offering) หรือการนำหุ้นออกขายในตลาดแรกซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่ออกใหม่โดยผู้ที่ต้องการเงินลงทุน และต้องการจะระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนโดยตรงด้วยการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ ซึ่งเสี่ยงตอบรับจากนักลงทุนก็ยังมีอย่างล้นหลามอยู่เหมือนเดิม ดังช่วงปีที่ผ่านมา
โดยบริษัทได้เสนอขายหุ้นในตลาดแรกไปแล้ว บริษัทก็นำหลักทรัพย์เหล่านั้นเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรองเพื่อให้เกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ โดยตลาดรองซื้อขายหุ้น ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นหุ้นที่มีขนาดเล็ก
ส่วนบริษัทที่นำหุ้นไปจดทะเบียนนั้นก็จะเรียกว่า “บริษัทจดทะเบียน” เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้น IPO นั้น ก็เพื่อร่วมเป็นเจ้าของบริษัทโดยสามารถซื้อหุ้นในราคาที่เสนอขายครั้งแรก
บริษัทจดทะเบียนที่ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งใน SET, กองทุน และตลาด mai ล้วนให้ผลตอบแทนที่น่าประทับใจแก่นักลงทุนเกือบทั้งสิ้นจากจำนวนทั้งหมดรวม 11 ตัว แบ่งเป็นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 5 บริษัท ส่วนกองทุนจำนวน 1 กอง และบริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 5 บริษัท
สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 5 บริษัท หุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในวันที่เข้าเทรดวันแรกคือ บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASAP จากราคา IPO ที่หุ้นละ 3.03 บาท ปิดตลาดในการซื้อขายวันแรกที่ 4.34 บาท ให้ผลตอบแทน 43.23%
ถัดมา บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) หรือ RPH จากราคา IPO ที่หุ้นละ 4.80 บาท ปิดตลาดในการซื้อขายวันแรกที่ 5.50 บาท ให้ผลตอบแทน 14.58% ถัดมา บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC จากราคา IPO ที่หุ้นละ 11.20 บาท ปิดตลาดในการซื้อขายวันแรกที่ 12 บาท ให้ผลตอบแทน 7.14%
ขณะที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP, บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เกิดสถานการณ์กลับพลิกผัน โดยมีอาการทรงตัวและแกว่งตัวตรงกันข้ามคืออาการของราคาหุ้นหลุดจองอย่างชัดเจน
โดยจุดผกผันสำคัญของการเปลี่ยนแปลงมุมมองของนักลงทุนที่ชอบไล่ล่าหุ้นจองอยู่ที่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ที่ให้ผลตอบแทนต่ำสุดจากการเข้าซื้อขายวันแรก จากราคา IPO ที่หุ้นละ 7 บาท ปิดตลาดจากการซื้อขายวันแรกที่ 6.70 บาท ลดลงจากราคา IPO ถึง 4.29%
ส่วนบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ประคองตัวจนในที่สุดเอาตัวไม่รอดเช่นกัน มีการเทขายออกมา จากราคา IPO ที่หุ้นละ 26.25 บาท ปิดตลาดจากการซื้อขายวันแรกที่ 26 บาท ลดลงจากราคา IPO เพียง 0.95%
ขณะที่บริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai มีจำนวนทั้งสิ้น 5 บริษัท หุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในวันที่เข้าเทรดวันแรกคือ บริษัท สยามอีสต์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SE จากราคา IPO ที่หุ้นละ 2.45 บาท ปิดตลาดวันแรกที่ราคา 4.18 บาท ให้ผลตอบแทน ถึง 70.61% ถัดมา บริษัท เดนทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ D จากราคา IPO ที่หุ้นละ 6 บาท ปิดตลาดวันแรกที่ราคา 8.70 บาท ให้ผลตอบแทน ถึง 45%
ต่อมา บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ETE จากราคา IPO ที่หุ้นละ 4.20 บาท ปิดตลาดวันแรกที่ราคา 5.75 บาท ให้ผลตอบแทนถึง 36.90% ส่วน บริษัท เมกาเคม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MGT จากราคา IPO ที่หุ้นละ 1.89 บาท ปิดตลาดวันแรกที่ราคา 2.42 บาท ให้ผลตอบแทน ถึง 28.04% และบริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) หรือ MM จากราคา IPO ที่หุ้นละ 5.25 บาท ปิดตลาดวันแรกที่ราคา 5.50 บาท ให้ผลตอบแทน 4.76%
ปรากฏว่าบริษัทจดทะเบียนที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในตลาด mai ให้ผลตอบแทนที่น่าประทับใจกว่าในตลาด SET เนื่องจากหุ้นในตลาด mai ให้ผลตอบแทนทุกตัวกับการซื้อขายวันแรก
ประเด็นที่ทำให้หุ้นเล็กในตลาด mai ปิดตลาดวันแรกให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นในตลาด SET อย่างเช่น 1) หุ้นขนาดเล็กจะตั้งราคาที่ต่ำทำให้เกิดแรงจูงใจในการเข้าเก็งกำไรกันอย่างล้นหลามมากกว่าในตลาด SET 2) ปริมาณหุ้นน้อยสามารถดันราคาหุ้นให้หวือหวามากกว่าจำนวนหุ้นจดทะเบียน
…