ยุติธรรมไม่ซึ่งหน้า

สนช.มีมติเอกฉันท์ 176 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งให้รับฟ้องได้แม้ไม่มีตัวจำเลยมายื่นฟ้อง พิจารณาและตัดสินคดีได้ แม้ไม่มีตัวจำเลยมาปรากฏต่อศาล


ทายท้าวิชามาร  : ใบตองแห้ง  

สนช.มีมติเอกฉันท์ 176 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งให้รับฟ้องได้แม้ไม่มีตัวจำเลยมายื่นฟ้อง พิจารณาและตัดสินคดีได้ แม้ไม่มีตัวจำเลยมาปรากฏต่อศาล

มีสนช.ซักถามว่าการ “พิจารณาลับหลัง” ขัดหลักความยุติธรรม ขัดกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองของสหประชาชาติหรือไม่ กรรมาธิการและ กรธ.ก็ยืนกรานว่าไม่ขัด อ้างว่าต้องใช้วิธีนี้กับผู้กระทำความผิดที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง ไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไป

หลังกฎหมายผ่าน ก็มีเสียงแซ่ซ้องยกใหญ่ สุริยะใส กตะศิลา ตีปี๊บดีใจว่าต่อไปนี้นักการเมืองจะหนีศาลก็ต้องหนีทั้งชีวิต คำนูณ สิทธิสมาน ฟุ้งว่าเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ บทเฉพาะกาลจะทำให้คดีของอดีตนายกรัฐมนตรีเดินหน้าอีก 4 คดี

สุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะรองประธาน กรธ.ก็บอกว่ากฎหมายนี้ใช้กับคนโกง ไม่ได้ใช้กับคนดี แต่ไม่ใช่ต้องการเช็คบิลทักษิณ ชินวัตร เพราะบังคับใช้กับนักการเมืองทุกคน

พูดแบบคนดีกันทั้งนั้น แต่ทำเป็นลืมว่า ตอนที่กรธ.ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ผู้ที่คัดค้านอย่างแข็งขันไม่ใช่พวกทักษิณหรอก แต่เป็นศาลยุติธรรม! ศาลซึ่งจะต้องทำหน้าที่พิจารณาคดีนักการเมืองตามกฎหมายนี่แหละ ศาลยืนกรานไม่ยอมรับหลักการ “พิจารณาลับหลัง” เพราะไม่สง่างาม และกระทบหลักความยุติธรรมสากล

ศาลส่งนายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มาแสดงความไม่เห็นด้วยกับ กรธ. ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ฝั่ง กรธ.อ้างว่าจะให้ความเป็นธรรมนักการเมือง ไม่ให้ต่างชาติมองว่ากระบวนการยุติธรรมไทยเป็น “บ้านป่าเมืองเถื่อน” กระนั้นในการประชุมคณะกรรมาธิการครั้งสุดท้าย ก่อนสนช.ผ่านร่าง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ก็ยังสงวนความเห็นให้ตัดมาตรา 27, 28 ว่าด้วยการพิจารณาลับหลังทิ้งไป

ขนาดศาลยังไม่เห็นด้วย แต่ กรธ.สนช.เสียงข้างมากลากกันไปยัดกฎหมายใส่มือศาล แล้วมาลอยหน้าลอยตาบอกว่าไม่ขัดหลักยุติธรรม ไม่ขัดหลักสากล มันเป็นไปได้อย่างไร

หลักความยุติธรรมถือว่ากระบวนพิจารณาคดีต้องทำต่อหน้าจำเลย ต้องให้สิทธิจำเลยได้เห็นและโต้แย้งการพิจารณาคดีได้เต็มที่ เรียกว่า “Right to stand face the accused”

ถ้าพิจารณาคดีลับหลังได้ ไม่ขัดจริง ทำไมไม่ใช้กับคดีอาญาทั้งหมดล่ะ โจรปล้นฆ่า ข่มขืนยักยอก หลอกลวง ฯลฯ ที่หลบหนีไป ถ้าเห็นว่าเป็นคนชั่วคนเลวทั้งนั้น ทำไมไม่พิจารณาคดีลับหลังทั้งหมด

อ้าวดูอย่าง “เณรคำ” ทำไมต้องรอขอตัวจากอเมริกา ทำไมไม่พิจารณาลับหลังไปเลย ก็แก้กฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ให้พิจารณาลับหลังทุกคดีสิครับ ถ้าไม่ขัดหลัก ทำไมไม่ทำ ทำไมเลือกทำเฉพาะนักการเมือง

กฎหมายที่ศาลไทยยังไม่ยอมรับ จะให้ชาวโลกยอมรับได้อย่างไร ป่วยการพูดถึง “ปิดบัญชีทักษิณ” ถามสิ ทำไมไม่ขอตัวทักษิณกลับ ถ้าคิดว่าชาวโลกยอมรับกระบวนการยุติธรรมไทย ทำไมปล่อยให้ทักษิณไปได้ทั่ว ยุโรป อเมริกา

คดีเดิมก็มีปัญหา ไม่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ยังจะให้พิจารณาลับหลังอีก 4 คดี ถามจริง มีความหมายอะไร ยังไงทักษิณก็กลับประเทศไม่ได้อยู่แล้ว ยังไงก็ขอตัวไม่ได้อยู่แล้ว มีแต่ทำให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทยต่ำตมลงไปอีกในสายตาชาวโลก

ภายในประเทศ ก็ไม่มีความหมายเช่นกัน คนที่เกลียดทักษิณก็ยิ่งปลุกความเกลียดชัง คนที่รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมก็ยิ่งคับแค้นและเห็นอกเห็นใจตระกูลชินวัตร

Back to top button