พาราสาวะถี

ห้วงเวลาระหว่างวันที่ 17-20 กรกฎาคมนี้ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ดำเนินการจัดเวทีสาธารณะชี้แจงร่างสัญญาประชาคมใน 4 ภูมิภาค โดย พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะเลขาธิการคสช. สั่งให้ทหารไปอำนวยความสะดวกและดูแลเวทีสาธารณะดังกล่าวอย่างเข้มงวด


อรชุน

ห้วงเวลาระหว่างวันที่ 17-20 กรกฎาคมนี้ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ดำเนินการจัดเวทีสาธารณะชี้แจงร่างสัญญาประชาคมใน 4 ภูมิภาค โดย พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะเลขาธิการคสช. สั่งให้ทหารไปอำนวยความสะดวกและดูแลเวทีสาธารณะดังกล่าวอย่างเข้มงวด

ขณะที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ออกมาชื่นชมร่างสัญญาประชาคมดังกล่าว คิดว่าน่าจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ มองว่าร่างสัญญาประชาคมฉบับนี้สามารถใช้ได้เลย ถ้าประชาชนทุกคนปฏิบัติตามประเทศก็จะเกิดความสงบสุข และมีความปรองดองเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ถ้าทุกคนร่วมมือกัน

อย่างไรก็ตาม มีเสียงทักท้วงมาจาก พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำระบอบสนธิ-จำลอง ที่ระบุ แม้ตนเองยังไม่เห็นเนื้อหาของร่างสัญญาประชาคม และตอบไม่ได้ว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มองว่า การปรองดองไม่สำเร็จ เพราะทุกรัฐบาลไม่จริงใจแก้ไขปัญหา ทำเป็นกระแสเท่านั้น นั่นหมายความว่า อดีตแกนนำเสื้อเหลืองรายนี้ มองสิ่งที่คณะรัฐประหารคสช.กำลังดำเนินการและวาดฝันว่าจะสำเร็จ เป็นเพียงความหวือหวา วูบวาบเช่นนั้นหรือ

จะว่าไปอาจมีคนคิดเช่นนั้นได้ ต้องไม่ลืมว่าตามเงื่อนเวลาเดิมนั้นร่างสัญญาประชาคมฉบับนี้จะต้องแล้วเสร็จและประกาศให้ประชาชนได้รับรู้ตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว ก็กลับลากยาวล่าช้ามาเกือบเดือน ย่อมเป็นภาพสะท้อนของภาวะไม่นิ่งของสัญญาประชาคมหรือไม่ มากไปกว่านั้นก็มีการยอมรับกันไปแล้วว่า ที่จะให้ทุกฝ่ายมาร่วมลงนามนั้นคงทำได้ยาก เพราะในร่างไม่ได้บรรจุเนื้อหาที่มีข้อเรียกร้องไปทั้งหมด

ตรงนี้แหละที่จะเป็นปัญหา ถ้ามองกลับไปยังข้อเสนอของบางฝ่ายอย่างเช่นนปช. ที่ต้องการให้มีการยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารทุกฉบับที่ผ่านมา ไม่เฉพาะของคสช.เท่านั้น ไม่มีเสียงตอบรับจากคณะทำงานที่รวบรวมความคิดเห็นชุดนี้แต่อย่างใด เช่นเดียวกับเรื่องของการให้ระบุว่าต้องยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่หลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยการให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือส.ส.ร.มาเป็นตัวแทนในการยกร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศ

กระนั้นก็ตาม จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ก็ยังอุตส่าห์มองแบบนักสันติวิธีว่า สัญญาประชาคมต้องมีรากฐานจากการเห็นพ้องต้องกัน ต้องมีหลักสากล ตรงกลาง ที่จะพาทุกฝ่ายสู่ความปรองดองได้ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ต้องนำไปปฏิบัติ แม้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นกฎของสังคม โดยเฉพาะคาดการณ์ได้ว่าจะมีวิกฤติรออยู่ข้างหน้าจากเรื่องรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ทำปรองดองให้ถูกต้อง จะนำพาประเทศไปสู่ความล้มเหลว และจะล้มเหลวกว่าที่ผ่านมา

แต่ข้อสังเกตของประธานนปช.ก็น่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากคนไทยทุกคน ทุกฝ่าย ต่างให้ความร่วมมือในการปรองดองครั้งนี้อย่างเต็มที่ หากไม่สำเร็จคนที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ต้องรับผิดชอบ  ที่ผ่านมาทั้งปลัดกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ยังอยู่ในแนวทางปรองดองมาโดยตลอด ยังไม่มีการแตกแถว หวังว่าจะเป็นแบบนี้ไปตลอด เพราะถ้าหากมีข้อความหนึ่งใดในสัญญาประชาคม ไปกระทบต่อจิตใจ ต่อสิทธิมนุษยชน การปรองดองก็จะดำเนินต่อไปไม่ได้

ตลอดเวลากว่า 3 ปี คนไทยที่นิ่งสงบอยู่ก็มีหลายส่วน บางส่วนที่เคยร้อนกลับนิ่ง เพื่อให้มีการซึมซับบทเรียน ทำให้คนมีเวลาคิด ไม่มีอะไรชำระอคติ ความชิงชัง ความเกลียดชังได้เท่าความทุกข์ แต่ละฝ่ายต้องซึมซับบทเรียน การใช้อารมณ์ไม่มีประโยชน์ ผ่านความขัดแย้งที่เป็นมายาคติ อคติ โมหะคติมา 10ปี ไม่มีอะไรล้างได้ นอกจากความจริงที่เขาเห็นด้วยตัวเอง

นั่นเป็นความเห็นของฝ่ายที่ถูกมองว่าอยู่ตรงข้ามคณะรัฐประหารและน่าจะเป็นตัวสร้างปัญหาให้กับบิ๊กตู่และชาวคณะ แต่ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมากลับเลือกที่จะอยู่กันอย่างสงบเสงี่ยมจนบางทีมวลชนจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกอึดอัดว่าแกนนำยอมสยบอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการอย่างนั้นหรือ ซึ่งเป็นอันรู้กันว่า เหตุที่อยู่นิ่งไม่ใช่ไม่สู้ แต่อยากดูว่าอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้นมีปัญญาแก้ไขปัญหาได้มากน้อยขนาดไหน และเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญา บ้านเมืองจะดีขึ้นจริงตามราคาคุยหรือเปล่า

ความเห็นอีกรายที่น่ารับฟังคือ จาตุรนต์ ฉายแสง คนประชาธิปไตยตัวจริงที่บอกว่า เท่าที่ดูจากกระบวนการเปิดรับฟังความเห็นมาตั้งแต่ต้นยังมีจุดอ่อนและข้อบกพร่องมาก เพราะผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งและการปรองดอง ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือได้หารือกันอย่างเท่าเทียมและไม่มีองค์กรหรือกรรมการอิสระ ใดที่จะมาวิเคราะห์ข้อมูลและความเห็นต่างๆ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอต่อกรรมการ

จึงคิดว่าสัญญาประชาคมที่จะร่างขึ้นมานั้นไม่น่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ การไปลงนามในสัญญาประชาคม ของพรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง จึงไม่มีประโยชน์อะไร ที่ผ่านมาไม่มีการพูดถึงต้นเหตุความขัดแย้งในอดีต รวมทั้งพูดถึงสิ่งที่คณะกรรมการต่างๆเคยตั้งและศึกษาเอาไว้ก่อน

ที่สำคัญคือ ไม่มีการพูดถึงบทบาทของกองทัพและกลไกของรัฐที่ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมาสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งเพื่อให้ตัวเองเข้ามาเป็นอัศวินม้าขาว สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีการพูดคุยในกระบวนการสร้างความปรองดอง ฉะนั้น จึงไม่มีหลักประกันอะไรว่าปัญหาในอดีตจะไม่เกิดขึ้นอีก ตรงนี้คือความจริงที่ผู้มีอำนาจเลือกที่จะไม่พูดถึง เห็นได้ชัดจากกรณีข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปกองทัพที่เพิ่งผ่านพ้นไป

ดังนั้น ในมุมของเดอะอ๋อยจึงมองสัญญาประชาคมที่ร่างขึ้นมาคงไม่ครอบคลุมปัญหาสำคัญเหล่านี้ ในเมื่อไม่ครอบคลุมแล้วไปเรียกคนมาลงนาม เมื่อมีการลงนามแล้วจึงมาบอกกับสังคมทั่วไปว่ามีคนลงนามแล้ว และจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ถ้าเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าไม่พูดความจริงกับประชาชน นี่คือสัจธรรมเมื่อไม่พูดความจริงก็ยากที่จะชวนให้คนที่ต้องการความจริงเดินร่วมทางกันได้

Back to top button