ผู้ร้ายตัวจริง พระเอกตัวปลอม

เดือนกรกฎาคมเกือบทั้งเดือน กองทุนในประเทศขายสุทธิสะสมไปแล้ว 9.1 พันล้านบาท แต่นับแต่มกราคมเป็นต้นมา กองทุนยังคงมียอดซื้อสะสมสุทธิที่ระดับ 4.1 หมื่นล้านบาท ส่วนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิสะสมในเดือนกรกฎาคมแค่ 3.2 พันล้านบาท และมียอดซื้อสะสมสุทธินับแต่ต้นปี แค่ 1.67 หมื่นล้านบาท


พลวัตปี 2017: วิษณุ โชลิตกุล 

เดือนกรกฎาคมเกือบทั้งเดือน กองทุนในประเทศขายสุทธิสะสมไปแล้ว 9.1 พันล้านบาท แต่นับแต่มกราคมเป็นต้นมา กองทุนยังคงมียอดซื้อสะสมสุทธิที่ระดับ 4.1 หมื่นล้านบาท ส่วนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิสะสมในเดือนกรกฎาคมแค่ 3.2 พันล้านบาท และมียอดซื้อสะสมสุทธินับแต่ต้นปี แค่ 1.67 หมื่นล้านบาท

ในขณะที่รายย่อย ซึ่งมักจะเป็นเหยื่อของกองทุนต่างชาติและพอร์ตโบรกเกอร์ (หรือกองทุน “ผีปอบ”) มีตัวเลขน่าสนใจ เพราะซื้อสะสมสุทธิตลอดเดือนกรกฎาคม 6.8 พันล้านบาท แต่นับแต่ต้นปีกลับมียอดขายสะสมสุทธิ (ซื้อสะสมสุทธิติดลบ) ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท

ถ้ามองจากมุมของเกมหุ้นในรูปอุปสงค์-อุปทาน จะเห็นไม่ยากเลยว่า กลุ่มที่ถ่วงรั้งดัชนีไม่ให้เป็นขาขึ้น อยู่ที่รายย่อยนี่เอง ในขณะที่พอร์ตโบรกเกอร์และต่างชาติทำตัว “ขี่ม้าเลียบค่าย” ไม่กล้าเข้ามาจริงจังในตลาดมากนัก

สำหรับกองทุนในประเทศ ซึ่งได้ชื่อว่าจับ “อารมณ์ของตลาด” ได้แม่นยำกว่ากลุ่มอื่นๆ ปีนี้ต้องถือว่าทำตัวได้ผลตอบแทนน่าผิดหวัง เหตุเพราะดัชนีตลาดรวมของไทยคือ SET ให้ผลตอบแทนนับแต่ต้นปีถึงปัจจุบันต่ำกว่าตลาดทั่วเอเชีย

ดัชนี SET ปิดตลาดสิ้นปี 2559 ที่ระดับ 1,520 จุด แต่ความพยายามทะลุแนวต้านสำคัญ 1,600 จุด ยังไม่เคยประสบความสำเร็จ ล่าสุดในสองเดือนมานี้ ยังคงแกว่งตัวแคบๆ อย่างผิดธรรมชาติ แถวระดับ 1,550-1,580 จุด

การแกว่งตัวในกรอบแคบ สร้างความอึดอัดให้กับนักลงทุนอย่างมาก เพราะดัชนีที่ขึ้นยาก แล้วก็ลงยาก สะท้อนความไม่ปกติของตลาดอย่างมาก

เหตุปัจจัยที่ทำให้ดัชนี SET ขึ้นยาก มาจากเหตุผลหลักคือ ค่าพี/อีของ SET ที่ระดับ17-18 เท่า ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาค เบื้องหลังสำคัญคือกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเติบโตต่ำกว่าราคาหุ้น และดูเหมือนจะมีคาดการณ์ว่า ค่าพี/อีในอนาคตของ SET อาจจะสูงขึ้นไปอีก ทำให้เสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยลดน้อยลง เป็นสาเหตุสำคัญที่ว่า ทำไมต่างชาติไม่ยอมย้ายเงินมาที่ตลาดหุ้น แต่เข้ามาที่ตราสารหนี้ระยะสั้นแทน

ส่วนเหตุปัจจัยที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้น SET ลงยาก ก็มาจากฟันด์โฟลว์ หรือทุนระยะสั้นเก็งกำไรไหลเข้าต่อเนื่อง เนื่องจากโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ดูแสนเข็ญพอสมควร เหตุผลมาจากดัชนีเศรษฐกิจเช่นการจ้างงาน ค่าจ้าง และเงินเฟ้อ ล้วนทำให้ขาขึ้นมีขีดจำกัดทั้งสิ้น

เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ย “อย่างค่อยเป็นค่อยไป” ไม่ได้ตามคาด ค่าดอลลาร์ที่เคยคาดหมายว่าจะแข็งเพื่อดึงเงินกลับจากตลาดเกิดใหม่ในเอเชียไปยังสหรัฐฯ เป็นไปได้ยากขึ้น

การอ่อนค่าของดอลลาร์จนล่าสุด เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ยากที่จะทำให้ดัชนี SETลงไปแรงๆ เพราะแนวรับของดัชนีใต้ 1,570 จุดแกร่งมาก

ตราบใดที่ค่าดอลลาร์ยังอ่อนค่า จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม (ความไม่แน่นอนของการเมืองสหรัฐฯที่ทำให้การปรับนโยบายเศรษฐกิจล่าช้ากว่าคาด ท่าทีของ ECB ต่อการปรับวงเงินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE และแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯที่ต่ำ) โอกาสที่ค่าดอลลาร์จะแข็งค่า และดอกเบี้ยโลกจะเป็นขาขึ้นย่อมไม่ง่ายเหมือนที่เคยคาดเดากัน

เมื่อค่าดอลลาร์อ่อน และเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ ฟันด์โฟลว์ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลงทุนต่อไปในเอเชีย แม้จะรู้ดีว่าผลตอบแทนการลงทุนมีความเสี่ยงสูงขึ้นในระยะต่อไป

เงินทองของฟันด์โฟลว์เหมือนสายน้ำ เพราะเมื่อเข้าไปในตลาดไหนแล้ว ย่อมต้องการผลตอบแทนกลับคืน เนื่องจากความกังวลต่อทฤษฎีโมเมนตัมที่เชื่อว่า ทุกๆ 10 ปี จะเกิดวิกฤตทำให้ตลาดพังครั้งใหม่ขึ้นมา เริ่มจางหายไป

วันนี้ แม้ว่ารายย่อยจะยังแสดงบทบาทผู้ร้ายตัวจริงในตลาดหุ้นไทย และกองทุนแสดงบทบาทพระเอกตัวปลอม แต่ต่างชาติที่เงียบสนิทมาตลอดครึ่งแรกของปี น่าจะได้เวลาแสดงบทบาทพระเอกตัวจริงบ้างในครึ่งหลังของปี ท่ามกลางกระแสมาแรงของฟันด์โฟลว์ไหลเข้า เพราะบาทแข็งต่อเนื่อง

เมื่อถึงเวลานั้นเกิดขึ้น รายย่อยก็คงไม่ได้หายไปไหน และพลิกกลับมารับบทนางเอกตัวจริงเสียที

เพียงแต่อาจจะต้องแสดงพฤติกรรม “ตบ-จูบ-ตบ-จูบ” กันพอเป็นพิธี

Back to top button