บ้าจี้ บ้ากฎหมาย

ตำรวจกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งโต๊ะแถลงขู่ประชาชนทั่วประเทศว่า ใครโพสต์ภาพดื่มเหล้าดื่มเบียร์ลงโซเชียลมีความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 5 แสนบาท ถ้าถูกจับครั้งแรกปรับ 5 หมื่นบาท ครั้งที่สอง 2 แสนบาท ไม่ว่าดาราคนดังหรือชาวบ้านธรรมดา แถมใครเหม็นขี้หน้ากันให้ cap ภาพไปแจ้งความยังจะได้สินบนนำจับ 1 ใน 4 ของค่าปรับ


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ตำรวจกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งโต๊ะแถลงขู่ประชาชนทั่วประเทศว่า ใครโพสต์ภาพดื่มเหล้าดื่มเบียร์ลงโซเชียลมีความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 5 แสนบาท ถ้าถูกจับครั้งแรกปรับ 5 หมื่นบาท ครั้งที่สอง 2 แสนบาท ไม่ว่าดาราคนดังหรือชาวบ้านธรรมดา แถมใครเหม็นขี้หน้ากันให้ cap ภาพไปแจ้งความยังจะได้สินบนนำจับ 1 ใน 4 ของค่าปรับ

นี่โทษหนักกว่าเมาแล้วขับ ซึ่งอาจชนคนตายหรือพิการอีกนะครับ เมาแล้วขับปรับ 2 หมื่น แต่กินเหล้าอยู่บ้าน ไม่ได้ระรานใคร ไม่ได้รับตังค์โฆษณา แค่โพสต์ภาพอวดเพื่อนฝูง โดนปรับ 5 หมื่น ปรับ 2 แสน

อะไรคือการโฆษณา นาย ก. นาย ข. ชาวบ้านธรรมดาดื่มเหล้าเบียร์ยี่ห้อไหน มีอิทธิพลจูงใจคนอื่นไหม คุณตีความได้อย่างไรว่าแค่ “มองเห็น” ก็เป็นการโฆษณา ต่อให้ดาราคนดังโพสต์ภาพนั่งดื่มกับเพื่อน โดยไม่ได้บอกว่ายี่ห้อนี้ดีเด็ด จะถือเป็นโฆษณาได้อย่างไร

นี่ไม่ต่างกับกฎหมายบุหรี่ฉบับใหม่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตีความว่า “ห้ามแสดงบุหรี่ ณ จุดขาย” ไม่ให้เห็นซองบุหรี่แม้แต่วินาทีเดียว ร้านค้าที่ทำตู้ปิด ตอนเปิดหยิบให้คนซื้อ 2-3 วินาทีก็มีความผิด ร้านสะดวกซื้อต้องเอาบุหรี่ซ่อนใต้เคาน์เตอร์ยังกะขายยาบ้า ต่อมาก็ตัดกระดาษบัง

การตีความกฎหมายแบบบ้าจี้ สุดโต่งอย่างนี้ เกิดขึ้นได้เพราะสังคมถูกชักนำว่า เหล้าบุหรี่เป็นบาป เป็นความเลว เป็นผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ต้องให้ความยุติธรรม ยิ่งใช้อำนาจรังควานคนดื่มเหล้าสูบบุหรี่ คนค้าขายรายย่อย ให้เลิกๆ กันไปเสีย ยิ่งถือเป็นการทำความดี โปรดสัตว์ ช่วยชีวิตคนอีกต่างหาก

คุ้นๆ ไหมว่านี่เป็นวิธีคิดที่เอามาใช้แก้ปัญหาการเมือง หรือแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยการใช้อำนาจบังคับ

วิธีแก้ปัญหาการเมือง เมื่อเชื่อว่านักการเมืองเลว ชั่ว โกง ก็ใช้วิธีอันธพาล ยึดบ้านยึดเมือง ใช้อำนาจโค่นล้ม ใช้การออกคำสั่งเป็นกฎหมาย ใช้ตุลาการภิวัตน์ตีความ ตัดสินกฎหมาย โดยไม่ต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ความมีเหตุผล ปลุกกันว่านี่คนดีกำจัดคนเลว ใช้วิธีการอะไรก็ได้

เราจึงเห็นการออกกฎหมาย “ลับหลัง” เห็นกฎหมายพรรคการเมืองฉบับเดียวในโลก ซึ่งแทนที่ “ไพรมารีโหวต” จะเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนกลับกลายเป็นเครื่องมือจับผิด ตัดสิทธิ ติดคุก ยุบพรรค

แต่อย่าคิดว่า “ไม่ได้ทำผิดไม่ต้องกลัวอะไร” เราไม่ใช่นักการเมืองไม่เห็นเป็นไร ทัศนะบ้าจี้ ที่เชื่อว่าต้องใช้อำนาจบังคับ กำลังระบาดทั่วรัฐราชการ

ดูง่ายๆ สรรพากรขู่ร้านค้า 6 แสนราย ถ้าไม่ติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ตามนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล จะถูกตรวจสอบเข้มข้น ฟังแล้วก็สงสัยว่าถ้า 6 แสนรายไม่ให้ความร่วมมือ จะถูกกลั่นแกล้งไหม? นี่คล้ายกับกระทรวงการคลังเคยขู่ว่าใครไม่ใช้อีเพย์เมนท์ จะเสีย VAT 10% ซึ่งก็เป็นวิธีคิด “ลงโทษประชาชน”

ย้อนไปดู พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวก็ไม่ต่างกัน พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมาด้วยทัศนะชาตินิยม ปกป้องความมั่นคง มากกว่าแก้ปัญหาค้ามนุษย์ เห็นนายจ้างลูกจ้างเป็นผู้ร้าย โดยไม่ทำความเข้าใจปัญหาอุปสรรคความจำเป็น จึงกำหนดโทษปรับรุนแรง 4 แสน 8 แสนบาท

นี่มันวิธีคิดเดียวกันทั้งนั้น ประชาชนเป็นคนผิด ไม่เคารพกฎหมาย ฝ่าฝืนกฎระเบียบ นั่งหลังรถกระบะ กินเหล้าเมายา ไม่เสียภาษี ฯลฯ ต้องใช้อำนาจบังคับ ให้เชื่อฟังต้องทำทุกอย่างตามคำสั่งที่อ้างกฎหมาย ไม่ว่าจะใช้อำนาจเกินกว่าเหตุเพียงไร

Back to top button