พาราสาวะถีอรชุน

เข้ากับสถานการณ์ในจังหวะที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เขากำลังจะยกระดับให้ประชาชนเป็นพลเมืองพอดี จึงมีหนังสือของหัวหน้าผู้พิพากษาศาลจังหวัดหนึ่งส่งไปยังผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมแนบหนังสือสมบัติผู้ดี เพื่อให้ผู้ที่เป็นลูกน้องได้เข้าใจว่า ต่อไปจะเรียกขานตัวเองต้องทำให้ถูกต้อง อย่าสะเออะเรียกแค่หัวหน้า เพราะว่าข้าคือ “ท่านหัวหน้า”


เข้ากับสถานการณ์ในจังหวะที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เขากำลังจะยกระดับให้ประชาชนเป็นพลเมืองพอดี จึงมีหนังสือของหัวหน้าผู้พิพากษาศาลจังหวัดหนึ่งส่งไปยังผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมแนบหนังสือสมบัติผู้ดี เพื่อให้ผู้ที่เป็นลูกน้องได้เข้าใจว่า ต่อไปจะเรียกขานตัวเองต้องทำให้ถูกต้อง อย่าสะเออะเรียกแค่หัวหน้า เพราะว่าข้าคือ “ท่านหัวหน้า”

เล่นเอาหน้าชาไปตามๆ กัน เพราะคนที่ไม่ได้เรียกท่านว่าท่านก็เป็นถึงผู้ว่าราชการจังหวัด สงสัยไม่ได้อ่านหนังสือสมบัติผู้ดี งานนี้ร้อนถึงสำนักงานศาลยุติธรรมต้องสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ คนที่จะทำงานให้เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชน ถ้าหากแบ่งชนชั้นกันขนาดนี้คงยากที่จะเข้าถึงหัวจิตหัวใจของชาวบ้านธรรมดา

คงปล่อยให้บรรดาท่านทั้งหลายได้ตรวจสอบกันเอง และหวังว่าจะมีคำตอบที่กระจ่างชัดให้สังคม แต่ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ก็ส่งเสียงดังมาจากต่างประเทศช่วยขยายความของคำว่า ”ท่าน” ให้ชัดเจนว่า จริงๆ แล้วมาจากคำว่า ท่านผู้แดกภาษีของประชาชนไง เป็นอันว่าเข้าใจตรงกันนะ

จากปมตรงนี้สามารถนำไปชี้ขยายผลของแนวคิดของใครบางคนบางพวกได้เป็นอย่างดี เรื่องเสียงของคนไม่เท่ากัน นั่นจึงเป็นเหตุของที่มาในการสร้างประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนใครในโลกคือ เสียงส่วนใหญ่ไม่มีความหมาย การเลือกตั้งโดยให้ประชาชนหย่อนบัตรไม่มีประโยชน์ การลากตั้งเท่านั้นคือคำตอบสุดท้าย ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรไปจากการใช้อำนาจจากปลายกระบอกปืนนั่นเอง

คงรู้ซึ้งกันทั้งพรรคแล้วว่าจากที่สร้างวาทกรรมเผด็จการรัฐสภาขึ้นมาเพื่อทำลายล้างระบอบทักษิณ พอเห็นหน้าตาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนประชาธิปัตย์จึงออกอาการยี้กันเป็นแถว ล่าสุด เป็นคิวของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคที่ตอกย้ำในประเด็นนายกฯ คนนอก เหมือนพยัคฆ์ติดปีก มิหนำซ้ำ ยังสามารถดำดินหนีได้อีกต่างหาก

บางครั้งก็ต้องย้อนกลับไปสำรวจตัวเองและคนในพรรคอยู่เหมือนกัน ก็ก่อนหน้านั้นใครที่โบกมือเรียกถามหานายกฯ มาตรา 7 กันเหยงๆ สนองความอยากของตัวเองแม้กระทั่งยอมไปตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร เมื่อจุดยืนไร้หลัก เป็นนักการเมืองที่เดินตามอำนาจนอกระบบไม่ยอมยึดถือกระบวนการประชาธิปไตย จึงสมควรอยู่แล้วที่จะถูกเล่นงานไปพร้อมๆ กับพรรคซึ่งไม่เป็นที่โปรดปรานของระบอบอำมาตยาธิปไตย

โจทย์ใหญ่หนนี้อย่างที่รู้กัน หวังจะปฏิรูปประเทศทำการเมืองให้ใสสะอาด ยกก้นประชาชนให้พลเมืองเป็นใหญ่ หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่บอนไซพรรคใหญ่ให้กลายเป็นพรรคขนาดกลางหรือยุยงให้มุ้ง ก๊วนต่างๆ แตกตัวไปแสวงหาความท้าทายใหม่ (ที่อาจไม่จีรังยั่งยืน) แต่อย่างน้อยสถานการณ์หลังเลือกตั้งพรรคเล็กพรรคน้อยก็จะอยู่ในฐานะยกตนข่มท่าน เหมือนอย่างที่ภูมิใจไทยทำกับประชาธิปัตย์เมื่อคราวรัฐบาลเทพประทาน

แต่งานนี้อาจจะยุ่งยากมากกว่า เพราะรัฐบาลจะผสมพันธุ์กันหลายพรรคการเมือง หากคะแนนเสียงต่างกันแค่ไม่กี่คน จะเป็นปมให้คนที่ถูกเชิญมาเป็นนายกฯ กุมขมับ จะจัดกระทรวงเกรดเอให้พรรคไหน เมื่อคราวภูมิใจไทยนั้นง่ายกว่า เพราะมีคะแนนเสียงที่ต่อรองได้จึงคว้าพุงปลาไปเขมือบแบบอิ่มหนำสำราญ ทว่าภาพที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ไม่แน่ว่าอาจจะถึงขั้นจับสลากแบ่งกระทรวงกันเลยทีเดียว

ทยอยแถลงผลงานกันไปเสร็จสรรพเรียบร้อยสำหรับเสนาบดีในรัฐบาลคสช. มีการตั้งข้อสังเกตในส่วนของกระทรวงแรงงานที่มี พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นเจ้ากระทรวง โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน แสดงความกังขาในหลายประเด็นที่ไม่ได้แถลงชี้แจงอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะปมการค้ามนุษย์

สิ่งที่เจ้ากระทรวงจับกังแถลงคือ มีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งกรรมการระดับชาติโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตั้งอนุกรรมการ 5 คณะ มีการออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมง และออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม ขณะที่กรณีปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้บูรณาการการทำงานอย่างรอบด้าน

ไม่ว่าจะเป็นการทำเครื่องมือจับปลาให้ถูกกฎหมาย จดทะเบียนเรือ ติดระบบติดตามเรือ แต่ยังคงติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติประมงซึ่งอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  กฎกระทรวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ดูเหมือนว่าน่าจะเพียงพอ

แต่บุษยรัตน์ชี้ว่ายังมีปมที่ไม่ได้แถลง โดยยกเอาการแถลงข่าวของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ที่ได้ระบุชัดเจนว่า รัฐบาลไทยมักจะกล่าวอ้างอยู่เสมอว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน มีเหตุการณ์กวาดจับบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติที่ตลาดไท โดยตำรวจไม่สนใจว่าเด็กจะมีเอกสารการเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ มีเด็กพม่าและกัมพูชาถูกจับทั้งสิ้น 59 คน และถูกผลักดันกลับประเทศต้นทางทันทีโดยไม่มีการจำแนกแยะแยะ

แม้นโยบายของรัฐบาลต้องการให้เกิดความคุ้มครอง แต่การที่เจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมกลับทำให้เด็กตกอยู่ในฐานะผู้กระทำผิดแทนการได้รับความคุ้มครอง การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และเป็นการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยแย่ลงกว่าเดิม และจะหนีไม่พ้นถูกจัดอันดับการค้ามนุษย์ให้ต่ำลงอีก

การที่รัฐบาลมุ่งเป้าแต่จะแก้ปัญหาไปที่การค้ามนุษย์อย่างเดียว ซึ่งความเป็นจริงยังมีแรงงานอีกหลายส่วนที่ตกหล่นไม่ว่าจะเป็นแรงงานเด็กและแรงงานที่ถูกใช้งานเยี่ยงทาส ดังนั้น ต้องมีการรื้อกระบวนการแก้ไขปัญหาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง ในจังหวะที่ถูกโอบล้อมทั้งจากสหรัฐและอียู สุดท้ายก็หนีไม่พ้นมาตรา 44 ที่จะแก้ไขปัญหาโดยพลัน ทำได้เท่านี้จริงๆ

 

Back to top button