ค่าเงินที่ผิดปกติ
ข้อสรุปของตลาดเงินและตลาดทุนในอดีต ที่ว่า ค่าดอลลาร์แพงเท่าใด เศรษฐกิจสหรัฐฯจะแข็งแกร่งเพียงนั้น โดยมีกรณีศึกษาของประวัติเศรษฐกิจยุคปลายของบิล คลินตันที่ระบุเอาไว้เป็นหลักหมุดชัดเจน กำลังจะใช้การไม่ได้
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ข้อสรุปของตลาดเงินและตลาดทุนในอดีต ที่ว่า ค่าดอลลาร์แพงเท่าใด เศรษฐกิจสหรัฐฯจะแข็งแกร่งเพียงนั้น โดยมีกรณีศึกษาของประวัติเศรษฐกิจยุคปลายของบิล คลินตันที่ระบุเอาไว้เป็นหลักหมุดชัดเจน กำลังจะใช้การไม่ได้
ทำนองเดียวกัน ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ยุคของประธานาธิบดีพรรครีพับลิกัน ซึ่งนิยมใช้แนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์แบบซัพพลายไซด์ (อุปทานสร้างอุปสงค์) จะมีแนวโน้มดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็ทำท่าจะไม่เป็นความจริงเพราะแม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์และพวกมีแนวคิดที่จะนำเรแกนโนมิกส์กลายพันธุ์กลับมาใช้ใหม่ แต่ก็ไม่มีท่าทีว่าจะเดินหน้าได้จริงจังแต่อย่างใด
ความเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะเติบโตในขณะที่ค่าดอลลาร์อ่อนตัว อาจจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของยุคสมัยที่ทำให้กระบวนทัศน์เก่าๆพ้นยุคไป
ในรอบ 2 ปีนี้ สายเหยี่ยวของเฟดที่ยึดมั่นในนโยบายการเงินเหนียวแน่น มักจะออกมาขับเคลื่อนนโยบายของเฟดในหลายรูปแบบด้วยการนำเสนอว่า ในยามที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีความพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ 1) อัตราการจ้างงานสูงถึงระดับจ้างงานเต็มที่ 2) เงินเฟ้อใกล้ถึงกรอบเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมีผลสองด้านพร้อมกัน คือ ต้นทุนการเงินของธุรกิจในสหรัฐฯสูงขึ้น และค่าดอลลาร์แข็งขึ้น ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่เคยเป็นผลดีกับดัชนีตลาดหุ้นส่วนใหญ่ รวมทั้งไทยมาแต่ไหนแต่ไรแล้วเมื่อใดก็ตามที่มีข่าวเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อนั้นตลาดหุ้นส่วนใหญ่(ยกเว้นญี่ปุ่น) จะร่วงแรง จากการที่ต่างชาติจะถอนตัวจากตลาดหุ้นเกิดใหม่กลับไปถือดอลลาร์
สายเหยี่ยวของเฟดไม่เคยมีมุมมองที่บวกต่อการใช้ดอกเบี้ยที่ต่ำ เพราะทำให้ค่าดอลลาร์ย่ำแย่ลง และเมื่อใดที่ค่าดอลลาร์อ่อนเกินจริง จะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแม้จะช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐฯดีขึ้น แต่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้า มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงิน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่คนจะหันไปถือสกุลเงินอื่นแทนที่ดอลลาร์สหรัฐ
ปัญหาคือ หลายเดือนมานี้ มีปัจจัยที่ทำให้ความพยายามของสายเหยี่ยวในเฟด ที่สร้างแรงกดดันสนองตอบกลุ่มคนที่รู้สึกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำติดพื้นระดับ 0% ของเฟดนานเกิน ฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด อาจนำไปสู่สภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจ (ทำนองเดียวกับที่เฟดยุคนายกรีนสแปน เคยกดดอกเบี้ยต่ำนานเกิน จนเป็นรากเหง้าของวิกฤตซับไพรม์) กลับไม่บรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเงินเฟ้อและการจ้างงานในสหรัฐฯเริ่มทรุดตัวลง จากจุดสูงสุด และหลายคนคาดว่า การประชุมเฟดในกลางสัปดาห์นี้ ก็คงจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
ผลพวงที่ตามมาของการอ่อนค่าของดอลลาร์ ทำให้กระแสฟันด์โฟลว์จำต้องวนเวียนในตลาดเกิดใหม่ต่อไป โดยเฉพาะตลาดไทยที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก และมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมากมายมหาศาลอันดับ 12 ของโลก รวมทั้งนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงป้องกันเงินเฟ้อในประเทศ ทำให้ผลตอบแทนของเงินบาทสูงกว่าดอลลาร์ เหมาะกับการทำดอลลาร์แครี่เทรด
บาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ล่าสุดในวานนี้ที่ต่ำกว่าระดับ 33.40 บาท ไม่ใช่เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยดีเด่นอะไรเลย แต่เพราะมีฟันด์โฟลว์ลี้ภัยเข้ามามากผิดปกติเท่านั้น เพียงแต่การไหลเข้าครั้งนี้ มีความเปราะบางซ่อนอยู่ เพราะเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น โดยเฉพาะพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหลัก ไม่เข้ามายังตลาดหุ้นจริงจัง
สัปดาห์นี้ เป็นสัปดาห์ที่มีความหมายพอสมควรเพราะการประชุม FOMCใน 2 วาระสำคัญเป็นสิ่งที่ตลาดจำต้องตรวจสอบ 1) ท่าทีต่ออัตราดอกเบี้ยของเฟด 2) การปรับลดงบดุลของเฟด ที่อาจจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งสองปัจจัยดังกล่าว จะทำให้โอกาสที่ดอลลาร์จะอ่อนตัวลงไปได้อีกสูงมาก
ไม่เพียงเท่านั้น แรงกดดันจากราคาน้ำมันก็เป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อค่าดอลลาร์ไม่น้อย เพราะการประชุมระหว่างโอเปก และรัสเซีย จะทำให้ผลของการประชุมคืนที่ผ่านมา (24 กรกฎาคม) มีความหมายต่อราคาน้ำมันโลกอีกครั้ง จากการที่ผลผลิตน้ำมันดิบของโอเปก ในเดือนกรกฎาคมมากถึงระดับ 33 ล้านบาร์เรล สูงขึ้น 1.4 แสนบาร์เรล กดดันต่อราคารุนแรง
บนความแน่นอนของทิศทางตลาดการลงทุนในตลาดโลก น่าแปลกที่ว่าวานนี้ ต่างชาติและกองทุนรวมได้กลับมาขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยระลอกใหม่ แม้ว่าสัญญาณทางเทคนิคจะยังบอกว่าเป็นขาขึ้นที่เปราะบาง แต่ตัวเลขประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไทย ก็ยังไม่ได้ถึงกับเลวร้าย เพราะยังมีหุ้นที่มีปัจจัยบวกสนับสนุน และหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลกลางปี เหมาะสำหรับการเลือกลงทุนสลับเป็นรายตัว
ค่าบาทที่แข็งผิดธรรมชาติ สวนทางกับค่าดอลลาร์ที่อ่อนผิดธรรมชาติ อาจจะมีผลทำให้เกิดภาวะกระทิงที่ผิดธรรมชาติในตลาดหุ้นไทยได้หรือไม่ เป็นโจทย์สำคัญของนักลงทุนยามนี้
โจทย์นี้ตอบได้ไม่ง่าย แต่ไม่ถึงกับยากจนคาดเดาไม่ถูกต้องเลย
เช้านี้ก็คงรู้เรื่องน้ำมัน ในขณะที่เช้าพฤหัสบดี ถึงจะรู้เรื่องของเฟด